องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง

 

องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อการพัฒนาสังคมและชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวอย่างศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบนพื้นที่สูง

 

วานนี้ (9 ก.ค. 63) เวลา 9.00 น. ที่ สำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวงประจำเดือนกรกฎาคม ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 โครงการหลวงได้ดำเนินงานวิจัยทั้งหมด 49 โครงการ ขณะนี้โครงการหลวงได้เริ่มคัดเลือกพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ โดยอยู่ระหว่างการขยายต้นไหล ก่อนนำไปปลูกทดสอบคุณภาพในเชิงการค้า นอกจากนี้ยังได้เตรียมพัฒนาศักยภาพโรงสีกาแฟ รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชนิดย่อยสลายจากกากกาแฟกะลา เพื่อเป็นแก้วกาแฟ ร้อน-เย็น ถาดบรรจุผลไม้ ถาดสลัด คาดว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ภายในปี 2564 นอกจากการวิจัยและส่งเสริมด้านพืชแล้ว โครงการหลวงยังดำเนินงานด้านปศุสัตว์ โดยในปัจจุบันโครงการหลวงได้จัดทำศูนย์สาธิตการเลี้ยงไข่ไก่อินทรีย์ขึ้นที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์โครงการหลวง RPF. FARM และมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ และจะเป็นฟาร์มต้นแบบแก่เกษตรกร ให้เรียนรู้และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะได้นำไปขยายผลสู่เกษตรกร ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ทุ่งเริง และแม่สะป๊อก

 

งานวิจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คือ การวิจัยและพัฒนาเฮมพ์ หรือกัญชง เพื่อเป็นพืชทางเลือก สร้างรายได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้พัฒนาเฮมพ์จำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งสามารถลดค่าสารเสพติด CBD ได้ต่ำกว่าค่าที่กฎหมายกำหนด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ เวชสำอางค์ รวมทั้งปลูกเพื่อผลิตเส้นใยเพื่อเป็นหัตถกรรมในครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับกองทัพบก ในการนำเส้นใยเฮมพ์ไปทดลองตัดเป็นเครื่องแบบทหาร

 

นอกจากนี้โครงการหลวงยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย สตรี และเด็ก  มีโครงการพัฒนาเยาวชนและเกษตรกรผู้นำรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำการถ่ายทอดองค์ความรู้  และเพื่อลดการเคลื่อนย้าย ในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูหัตถกรรมชนเผ่า ซึ่งได้เริ่มจัดทำโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ลายปักเมี่ยน ซึ่งเป็นราชินีแห่งผ้าปักชนเผ่าเมี่ยน โดยรวบรวมลวดลายผ้าปักจากกลุ่มผู้สูงวัย และสตรีของชนเผ่าเมี่ยน บ้านปังค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา จำนวน 13 ลาย ที่จะนำไปจัดแสดงในงานโครงการหลวง 51 ระหว่างวันที่ 6-16 สิงหาคม นี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งภายในงานจะมีผลิตผลผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการส่วนพระองค์จำหน่ายอีกมากมาย

 

จากนั้นในช่วงบ่าย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เดินทางไปยัง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2521 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่นและแก้ไขปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ปัจจุบันโครงการหลวงแม่แฮ มีประชากรรวม 14 หมู่บ้าน 781 ครัวเรือน โดยได้เยี่ยมชมแบบจำลองการใช้พื้นที่ ซึ่งโครงการหลวงแม่แฮถือเป็นตัวอย่างศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบนพื้นที่สูงที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งเป็นรูปแบบการใช้พื้นที่ที่เหมาะสม  โดยยังคงรักษาสภาพป่าดั้งเดิมเอาไว้ และทำการเพาะปลูกในที่ที่เหมาะสม เน้นการพึ่งพากันระหว่างคนกับป่า อาทิ การปลูกพลับภายใต้ร่มเงาป่า และยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผัก ไม้ผล และกาแฟ แบบประณีตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตหลัก ได้แก่ ต้นหอมญี่ปุ่น ผักกาดหอมห่อ กะหล่ำปลี สตรอว์เบอร์รี พลับ และกาแฟ

 

โครงการหลวงแม่แฮยังถูกจัดให้เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการบนพื้นที่สูง โดยมีคนพิการ 7 ราย ที่ได้รับความช่วยเหลือให้มีแปลงปลูกผักในโรงเรือนเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว เฉลี่ยปีละ 108,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม องคมนตรีได้มอบกล้าไม้ให้แก่ตัวแทนชาวบ้านนักเรียน และองค์กรในพื้นที่ เพื่อนำไปปลูกเพิ่มพื้นที่ป่า ตามโครงการ  “สวมหมวกให้ดอย ทยอยสร้างป่าวันไร่” โดยปีนี้โครงการหลวงมีเป้าหมายปลูกเพิ่มป่าในพื้นที่ 39 ดอย ไม่น้อยกว่า 365 ไร่ จากนั้น องคมนตรีได้เยี่ยมชมบ้านตัวอย่างชาวปกาเกอะญอ การทอผ้าของกลุ่มแม่บ้าน แปลงสาธิตไม้ผลภายในศูนย์แห่งนี้อีกด้วย

 

 

ขอขอบคุณ  https://region3.prd.go.th/topic/news/12168

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *