เปิดสรรพคุณสมุนไพรไทยรักษาไวรัส COVID-19 สู่การพัฒนาสมุนไพรเพื่อการส่งออก

 

อย่างที่ทราบกันว่าทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตสุขภาพซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากไวรัส COVID-19 ในขณะเดียวกันสมุนไพรไทยยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดโลก ทั้งยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอาง



ล่าสุด ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ค้นพบว่ายาสมุนไพรไทยในการรักษาอาการโรคที่เกิดจากไวรัส COVID-19 โดยใช้หลักการรักษาด้วยหลักของแพทย์แผนไทยที่มีมาตรฐานตามคัมภีร์ตักศิลา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ครอบคลุมเนื้อหาการตรวจรักษาโรค การวินิจฉัยทั้งหมดเกี่ยวกับอาการไข้11 กลุ่มอาการ จำนวน 77 ชนิด และครอบคลุมอาการไข้ที่เกิดจากไวรัส ไม่ว่าเป็นไวรัสที่เคยเกิดขึ้น ทั้งซาร์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 H1N1 จนถึง COVID-19

 

 

นวัตกรรมการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรไทย


ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ กล่าวถึงสรรพคุณสมุนไพรไทยว่า “การรักษาไวรัส COVID-19 ด้วยหลักของแพทย์แผนไทยตามคัมภีร์ตักศิลา เราจะเน้นยา 3 กลุ่มหลักเพื่อใช้ในการรักษา กลุ่มแรกคือยากระทุ้งพิษไข้คือ การขับพิษออกมาข้างนอกอวัยวะเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าไปทำลายปอดหัวใจไตม้ามตับโดยใช้ยา เช่น ยาห้าราก (เบญจโลกวิเชียร) กลุ่มที่สองคือ ยาแปรไข้ ซึ่งเป็นยาที่สำคัญเพื่อใช้ลดอาการไข้ เช่น ยาจันทร์ลีลา และกลุ่มที่สาม คือ การบำรุงร่างกายและป้องกันไม่ใช้เชื้อเข้าปอด เป็นการปกป้องปอดและอวัยวะภายในโดยใช้ยาสมุนไพร เช่น จันทหฤทัย หรือถ้ามีอาการไอแห้งตลอดเวลาก็สามารถใช้ยาอีกตำรับหนึ่งคือหนุมานประสานกายก็ได้”



นอกจากนี้ยังมียาสมุนไพรไทยอื่นๆ อีกหลายตำรับที่สามารถนำมาใช้แก้อาการข้างเคียงของการมีไข้หรือเป็นหวัด ยกตัวอย่างเช่นรักษาอาการเจ็บคอด้วยยาฟ้าทะลายโจร แต่มีข้อระมัดระวังเนื่องจากฟ้าทะลายโจรเป็นยารสเย็น หากรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะเกิดอาการเปลี้ยของกล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงห้ามรับประทานเกิน 1 สัปดาห์ และสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานเด็ดขาดจะทำให้ทารกในครรภ์พิการได้สิ่งสำคัญที่อยากแนะนำคือรับประทานยาสมุนไพรบำรุงปอด และอาจเลือกใช้สมุนไพรสำหรับเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือเรียกว่าเป็นอิมมูนบูสเตอร์ ในช่วงนี้ เช่น ชาเจียวกู่หลาน (ชาปัญจขันธ์)พวกเห็ดต่างๆ หรือสมุนไพรของต่างชาติที่มีการนำมาปลูกในประเทศไทย อย่างเช่น เอคินาเซีย เป็นต้น

 

 

จะพัฒนาสมุนไพรเพื่อการส่งออกได้อย่างไร


สมุนไพรกำลังมาแรงในตลาดโลก การพัฒนาสมุนไพรเพื่อการส่งออกในยุคนี้เรียกว่าตอบสนองต่อตลาดได้อย่างดี หรือเป็นโกลบอลเทรนด์ และสอดคล้องกับความต้องการตามแนวโน้มของโลกเรื่องสุขภาพ ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญก็คือโลกกำลังมีปัญหาสุขภาพอะไรซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากที่เรียกว่าวิกฤตสุขภาพศตวรรษที่ 21 จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี พ.ศ. 2561 ประชากรโลกเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ หรือ NCDs ที่เป็นโรครักษายากมากและเป็นเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจหลอดเลือด ฯลฯ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2593 จะมีประชากรครึ่งโลก (หรือประมาณ 4,650 ล้านคน) ป่วยด้วยโรค NCDs อย่างน้อยคนละหนึ่งโรคดังนั้น ด้วยเหตุนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ยั่งยืนคือ การป้องกันไม้ให้ป่วย รักษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีสม่ำเสมอ และถ้าเป็นไปได้คือพัฒนาวิธีการรักโรคที่ดีกว่าในปัจจุบัน ถ้าเรามองในภาพรวมของตลาดโลกตอนนี้พบว่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง รวมมูลค่าทั้งหมดของตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 5.57 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ.2560 ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่มหาศาลมาก และตลาดโลกมีความต้องการยาสมุนไพรมากที่สุด(61 เปอร์เซ็นต์) อาหารเสริมรองลงมา(30 เปอร์เซ็นต์)และเครื่องสำอาง(9 เปอร์เซ็นต์)ตามลำดับจึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเรามีทรัพยากรมีภูมิปัญญาสมุนไพรที่มีคุณค่ามากมายมหาศาลที่สามารถใช้ป้องกันและรักษาโรคได้เป็นไปตามที่ตลาดโลกต้องการ แต่เราทำไมไม่พัฒนาเพื่อตอบโจทย์สุขภาพของมนุษยชาติที่กำลังเจอวิกฤตสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น การพัฒนาสมุนไพรเพื่อส่งออกจึงเป็นตัวสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย หรือไทยแลนด์ 4.0 ที่เราจะเพิ่มมูลค่าสร้างเศรษฐกิจด้วยสมุนไพรไทย ด้วยภูมิปัญญาของการแพทย์แผนไทย หรือบรรพบุรุษไทย ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีสมุนไพร เพื่อประสบความสำเร็จในการพัฒนาเพื่อการส่งออกให้ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับสามารถช่วยแก้ปัญหาวิกฤตสุขภาพของคนทั้งโลก นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องตอบโจทย์ว่าเราจะพัฒนาสมุนไพรเพื่อการส่งออกได้อย่างไร

 

 

ตอบโจทย์การพัฒนาสมุนไพรอย่างยั่งยืน


ดังนั้น วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ออกแบบหลักสูตรนวัตกรรมสมุนไพรสร้างเศรษฐกิจแบบครบวงจรทั้งในระดับปริญญาตรีและโท สำหรับปริญญาตรี คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมแผนตะวันออก และหลักสูตรปริญญาโท คือวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนตะวันออก เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาสมุนไพรเพื่อส่งออกได้อย่างยั่งยืนโดยอิงกับรากฐานที่แข็งแรงของภูมิปัญญาและทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของซีกโลกตะวันออกโดยเน้นในเรื่องของการพัฒนาสมุนไพรของการแพทย์แผนตะวันออก ด้วยเทคโนโลยีสมุนไพรขั้นสูง เพื่อผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรระดับส่งออก ได้มาตรฐานสากลที่มีการประเมินด้านประสิทธิผล ความปลอดภัยและคุณภาพ

 

 

ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ ยังกล่าวอีกว่า “หลักสูตรปริญญาตรีจะเน้นพื้นฐานการสร้างนวัตกรรมสมุนไพรสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และสำหรับหลักสูตรปริญญาโทเราจะเน้นการวิจัยพัฒนาขั้นสูงโดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านแรกคือ เน้นในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งอาจจะมีทั้งยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง เพื่อตอบโจทย์ของตลาดโลกตามมาตรฐานสากลโดยอิงกับฐานสำคัญคือวัตถุดิบหรือภูมิปัญญาสมุนไพรไทย อีกแขนงหนึ่งคือ ด้านคลินิก ซึ่งเน้นการวิจัยทางด้านคลินิก เพื่อพิสูจน์ในเรื่องของประสิทธิผล ความปลอดภัย เมื่อเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากแขนงแรกแล้วก็มาต่อยอดด้วยการวิจัยทางคลินิก ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้ง 3 อย่างที่ตลาดโลกต้องการ”สำหรับพื้นฐานผู้สนใจเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีคือ สายวิทยาศาสตร์ และระดับปริญญาโทคือสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกสาขา แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์แผนตะวันออกและสาขาอื่นๆตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://mgronline.com/qol/detail/9630000027337

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *