จังหวัดมหาสารคาม รณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day 2020

 

จังหวัดมหาสารคาม รณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day 2020

 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสามัคคี เครือข่ายโรงพยาบาลมหาสารคาม นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day 2020 “ไปให้สุด อย่าหยุดเพียงแค่ไม่ได้ยิน” เพื่อให้บริการประชาชนที่มีปัญหาด้านการได้ยินในเขตชุมชนเมืองมหาสารคาม และลดความแออัดในการให้บริการที่ห้องตรวจหู คอ จมูก ในโรงพยาบาลมหาสารคาม ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การตรวจคัดกรองทาง หู คอ จมูก, ตรวจการได้ยิน, การให้ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้บริการประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย การจัดนิทรรศการ และการถาม ตอบปัญหาต่าง ๆ โดยมีประชาชนและผู้สูงอายุ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนกว่า 120 คน

 

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เปิดเผยว่า วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันการได้ยินโลก ซึ่งปัญหาการสูญการได้ยินเป็นปัญหาสำคัญ ด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย นานาประเทศร่วมกันรณรงค์ เรื่องการฟังอย่างปลอดภัย (Make listening safe) ในประเทศที่กำลังพัฒนามีจำนวนผู้ป่วยที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยมีผู้ป่วยและผู้พิการทางการได้ยินสูงเป็นอันดับสองของผู้พิการทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะผู้สูงวัย ทำให้อัตราผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสูงมากขึ้น ส่งผลกระทบในทุก ๆ ด้าน เช่น การได้ยิน การสื่อสาร การแยกตัวออกจากสังคม ซึมเศร้า โรคหลงลืม และสมองเสื่อม มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ในเด็กทารกที่มีปัญหาการได้ยิน จะกระทบพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร การเรียนรู้ การเข้าสู่สังคม และขาดโอกาสต่างๆ ในชีวิต ในวัยรุ่นและวัยทำงานที่อยู่ในสถานที่มีเสียงดังมาก การฟังเพลง การเล่นเกมส์ โดยใช้หูฟังนานส่งผลให้เกิดการสูญเสียการได้ยินจากเสียงที่ดัง ในส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถได้ยินชัด อาจนำมาซึ่งปัญหาการสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง เพื่อนฝูง และบุคคลในครอบครัว ผู้สูงอายุบางราย อาจปลีกตัว หลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง เพราะการพบปะผู้คนภายนอก จะทำให้ปัญหาการสื่อสารทวีความรุนแรงขึ้นมากได้

 

สำหรับประเทศไทยมีประชาชนเป็นโรคประสาทหูเสื่อมถึงร้อยละ 15 (ประมาณ 9 ล้านคน) นับเป็นปัญหาใหญ่ในการแก้ไขฟื้นฟูความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ดูแลสุขภาพ ป้องกันการสูญเสียการได้ยิน และการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ชะลอการเกิดโรคประสาทหูเสื่อม และเร่งฟื้นฟูการได้ยิน ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพเป็นปกติสุขต่อไป ดังนั้น กลุ่มงานโสต ศอ นาสิก จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการได้ยิน จึงได้จัดทำโครงการขึ้น โดยผู้รับบริการในกิจกรรมครั้งนี้ จะได้รับการตรวจรักษาจากโสต ศอ นาสิก แพทย์ จำนวน 100 คน ในจำนวนนี้หากประสาทหูเสื่อมเข้าเกณฑ์ผู้พิการ จะได้ใบรับรองความพิการและได้เครื่องช่วยฟัง นับว่าเป็นภารกิจที่สำคัญและต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200303151113664

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *