“เปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน” เปลี่ยนผู้ปกครองสวมบทครูสอนลูกพิการ

นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี แล้วที่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับให้บริการกับเด็กพิการทุกประเภท เป็นศูนย์ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งต่อพัฒนาศักยภาพเบื้องต้นให้แก่คนพิการ เป็นศูนย์ข้อมูลสารสนเทศประสานการจัดการเรียนร่วม ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร เป็นศูนย์วิชาการเพื่อการวิจัยและพัฒนา จัดให้บริการสำหรับผู้พิการทุกประเภทในพื้นที่เขตการศึกษา 5 ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรีแต่ที่จะพูดถึงวันนี้ ไม่ใช่แค่การเป็นสถานศึกษากลุ่มพิเศษที่มีภารกิจในการช่วยเหลือ ดูแล คนพิการ หรือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษในพื้นที่ความรับผิดชอบเท่านั้น เพราะเรากำลังจะคุยถึงกิจกรรม

“ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” โดย นายสุวิทย์ อินต๊ะวิกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า ทางศูนย์ได้จัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า การจะพัฒนาคนคนหนึ่งให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเฉกเช่นบุคคลทั่วไป นั้น จะต้องมีการวางแผนว่าจะพัฒนาเขาอย่างไร จึงได้มีการคิดและวิเคราะห์ว่า ถ้าเด็กจะอยู่ในสังคมได้ เช้าเมื่อตื่นมาเขาต้องทำอะไรบ้าง กลางวันต้องทำอะไร ก่อนเข้านอนต้องทำอะไร แล้วนำกิจกรรมที่วิเคราะห์ออกมาได้ มาทำเป็นหลักสูตร แผนการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก โดยการสร้างพัฒนาการให้กับเด็กกลุ่มนี้ เราจะเน้นไปที่ทักษะชีวิต เน้นกระบวนการสอนให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือทักษะอาชีพ

เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ก็พบปัญหาว่า ผู้ปกครองบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ครอบครัวมีฐานะยากจน และเด็กมีความพิการในระดับที่รุนแรง เขาไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ได้ เราจึงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และหลายหน่วยงานคิดกิจกรรมขึ้นมา คือ “การปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” โดย ทางศูนย์จะส่งครูและพี่เลี้ยงลงไปในชุมชนไปคุยกับผู้ปกครองแต่ละครอบครัว ชักชวนให้ช่วยกันพัฒนาลูก โดยเรามีทั้งนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก และพี่เลี้ยงลงไปร่วมกับผู้ปกครองจัดทำแผนการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก โดยจะมีการวางแผนว่า ในแต่ละวันผู้ปกครองจะต้องฝึกลูกอะไรบ้าง ในแต่ละสัปดาห์ต้องฝึกอะไร โดยทางศูนย์จะส่งคุณครูลงไปช่วยกระตุ้นและประเมินศักยภาพ ว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นหรือไม่ หากมีพัฒนาดีขึ้นก็จะมาวางแผนขั้นต่อไปว่า จะฝึกอะไรต่อ เท่ากับว่า มีการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่เป็นครูสอนลูกตัวเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี ยังได้จัดตั้งหน่วยบริการ หรือ สาขาในระดับอำเภอ เพื่อลงไปให้บริการถึงพื้นที่ เพราะพบว่า ยังมีคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ได้ จึงเกิดความคิดว่า นอกจากกิจกรรมปรับบ้านเป็นห้องเรียนแล้ว จะมีกิจกรรมใดบ้างที่สามารถนำคนพิการในชุมชนมารวมกลุ่มกันได้ แล้วเอาครูของศูนย์ไปประจำ ทำให้เกิดเป็นหน่วยบริการ หรือ เป็นสาขาของศูนย์ในระดับอำเภอ โดยปัจจุบันมีแล้ว 6 หน่วยบริการ ทำหน้าที่ให้บริการฟื้นฟูเด็กพิการในชุมชน ซึ่งในแต่ละวันจะมีพ่อแม่ผู้ปกครอง นำบุตรหลานมารับบริการ โดยจะมีทั้งครู พี่เลี้ยงประจำหน่วยให้บริการ สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่ศูนย์ได้มาก และยังสามารถเดินทางมาได้ทุกวันด้วย แต่ถ้าต้องให้เดินทางไปที่ศูนย์เชื่อได้ว่าสัปดาห์หนึ่งอาจมาได้แค่วันเดียวเท่านั้น

นับเป็นอีกสถานศึกษาที่เป็นที่พึ่งสำหรับเด็กพิการ หรือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณ… https://www.dailynews.co.th/education/650929

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *