ทัวริซึมฟอร์ออล ดราม่า..ร้างเวที

“ทัวริซึมฟอร์ออล”…น่าจะกลาย เป็นดราม่าร้างเวทีจนได้…ด้วยว่าตามที่หลายคนคิดเรื่องไทยเปิดประเทศรับต่างชาติ แค่เดือนกว่าๆแจก “โอมิครอน” ปาเข้าไปสองถึงสามพัน เหมือนฝรั่งเศสอ่วมอรทัยสายพันธุ์ใหม่หมอผี “แคเมอรูน”

ย้อนวันวานไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมปีที่แล้ว…รัฐบาลต้องประกาศยกเลิก “ไทยแลนด์พาส” และ “เทสต์ แอนด์ โก” บอกด้วยว่า “โอมิครอน” ติดง้าย ง่าย กว่า “เดลตา” ซึ่งเรา “เอาอยู่”…ทว่าคนไทย “ไม่เอา” เพราะกลัวจะไม่มีกิน?…เป็นมุมคิดฟากฝั่งที่ห่วงเศรษฐกิจปากท้อง

ภาวะเช่นนี้คนไทยวอนขอ…คุมต่างชาติเข้มปานใด สาธุ! ยกมือท่วมหัวอย่าล็อกดาวน์ ให้โอกาสคนทำกินได้ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย…ขณะอีกฝ่ายขนหัวลุกซู่กลัวเหตุการณ์จะบานปลาย…เพราะตายรายวันร่วงไปแล้วกว่า 2.2 หมื่นคน!

รัฐบาลจึงตั้งท่าเอาจริง…“ล็อกต่างชาติ” ที่เกิน 2 แสนคนห้ามเข้าเด็ดขาด ฝั่งคนไทยให้ทำกินกู้เศรษฐกิจที่กระท่อนกระแท่น หวังจีดีพีปีนี้ 1-3% ประคองไม่ให้ร่วงไปอยู่แดนลบ…ยืนยันไม่ “ล็อกดาวน์” แต่จะใช้ “มาตรการคุมเข้ม” ต่อสู้กับ “โอมิครอน”…คนก็เลยงงๆกัน?

และ “แหงแซะ”…ก่อนหน้ารัฐประกาศใช้เงินกู้ที่เหลืออีก 1.3 หมื่นล้านบาท ต่อยอดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” เพิ่ม

ห้องพัก 2 ล้านห้อง…กับโครงการ “ทัวร์ทั่วไทย” ของเอกชน ให้คนไทยเที่ยวยามหน้าสิ่วหน้าขวาน…ถือเป็นของขวัญปีขาลเสือถึง 30 เมษายน 2565

ไหนๆเราก็พายเรือในอ่าง…เขียนโปรแกรม “ท่องเที่ยว” เป็นเช่น “สไปเดอร์แมน” ทุกครั้งที่เกิดปัญหา แต่อย่าลืม…หากย้อนไปปี 2561 ย่างปี 2562 ได้เปิดเวทีดราม่าวิกใหญ่ “การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” หรือ “ทัวริซึมฟอร์ออล

ให้ผู้พิการและ สว. “ผู้สูงวัย” ได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเช่นคนปกติ

ซึ่งเดิมสร้างเส้นทางให้ผู้พิการ 3.13 ล้านคน สว.ในสังคมผู้สูงวัย 12 ล้านคน เที่ยวกันเองตามยถากรรม 9 เส้นทาง ต่อมาเพิ่มอีก 5 เส้นทางให้ไปกันเองตามคู่มือดราม่า…ต่อมารณรงค์ให้เจ้าของแหล่งท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างปัจจัยรองรับ อาทิ ทางลาดขนาดมาตรฐานสูง 1 เมตร ยาว 12 เมตร เพื่อวีลแชร์ขึ้นลงได้อย่างปลอดภัย

สร้างปุ่มกดลิฟต์ให้คนกลุ่มนี้จัดการตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร และมีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อเขา ซึ่งได้รับการขานรับจากหน่วยงานและสถานบริการมากมาย…โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวระดับแม่เหล็ก เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา

เมืองเหล่านี้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ฮับ” ท่องเที่ยวระเบียงเศรษฐกิจสำคัญแห่งภาคตะวันออก

หนึ่งในนั้น…“สวนนงนุชพัทยา” ท็อปเทนสวนสวยของโลก ถือโอกาสช่วงโควิดกำลังระบาดหนักต้องปิดสวนชั่วคราว สร้าง “นงนุช เทรดดิชั่น รีสอร์ท” ขึ้นบริเวณสวนล่าง เป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีห้องพักแบบดีลักซ์ 42 ห้อง สำหรับคนพิการและผู้สูงวัยวีลแชร์โดยเฉพาะซึ่งเคยเป็นข่าวไปบ้างแล้ว

ที่นี่…ออกแบบโดยนักอารยสถาปัตย์ ด้านหน้าเป็นทางลาดรูปตัวยูสำหรับวีลแชร์ใช้ขึ้นลง เชื่อมสู่ตัวอาคารซึ่งมีลิฟต์กว้างกว่าปกติรองรับ…ตรงหน้าห้องพักรูกุญแจต่ำพอที่ผู้นั่งวีลแชร์จะไขเองได้ ภายในตู้ เตียง โต๊ะ เครื่องใช้ทุกอย่าง รวมถึงห้องน้ำลงตัวเพื่อคนพิการและคนสูงอายุจะใช้ได้เพียงลำพัง พร้อมติดตั้งสัญญาณฉุกเฉินเมื่อต้องการความช่วยเหลือ

นอกจากนี้…ภายในอาคารยังมีทางลาดหนีไฟรูปตัวยูเชื่อมถึงกันทุกชั้น…ส่วนภายนอกเป็นสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน ให้คนพิการใช้ทางลาดผ่านลงเล่นน้ำโดยเปลี่ยนเป็นวีลแชร์ลอยน้ำ และผู้สูงอายุได้ผ่อนคลายโดยมีราวจับขอบสระทุกด้าน

แน่นอนว่าหากพูดถึงการทำตลาด กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชฯ ยอมรับว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้ ค่อยเป็นค่อยไปเพราะไม่ได้แข่งขันกับใคร สร้างขึ้นตามความต้องการให้เป็นหน้าตาของพัทยาในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยว อีอีซี

นี่เป็นความก้าวหน้า…ในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกภาคเอกชนสำหรับคนสองกลุ่มนี้ที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว…
แต่ความก้าวไกลทางด้านบุคลากรอาชีพ ที่ผ่านการอบรมและประสบการณ์เพื่อคนพิเศษกลับสาละวันเตี้ยลงเพราะประสบปัญหาเรื้อรัง…จากพิษ “โควิด-19

ไม่มีทั้งทัวริสต์อินบาวด์และโดเมสติกทัวร์มาใช้บริการ ตามดราม่าวิกใหญ่

“ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล”…ที่หยุดการขับเคลื่อน?

ไกด์อาชีพเฉพาะทางรายหนึ่งโอดครวญด้วยความขมขื่นว่า… “เมื่อโควิดยังไม่เล่นงาน กลุ่มลูกค้าคนพิการและสูงอายุจากต่างประเทศเป็นตลาดที่ฟู่ฟ่ามาก เพราะคนเหล่านี้มีเครือข่ายเชื่อมโยงสู่กันเหนียวแน่นทั้งยุโรป สแกนดิเนเวีย อเมริกา และญี่ปุ่น”

พวกเขาใช้สื่อออนไลน์บอกกล่าวข้อมูลที่ไหนน่าเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและสูงอายุ แล้วปักหมุด…ยกเมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางพวกเขา…“จะนิยมมาเป็นกลุ่ม…อาจมีเพื่อนหรือพี่เลี้ยงผู้ติดตาม ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจมีเงินมีทองแล้วโชคร้ายประสบอุบัติเหตุ…แต่ชอบเที่ยวบ้านเราและสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนเป็นไกด์เฉพาะทาง ที่มีทักษะความชำนาญไซโคโลจี้เซอร์วิส”

ทว่า…ทันทีที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีค่าเท่ากับ “ศูนย์” ทั้งคนปกติ คนพิการ คนสูงอายุหายไป ทำเอาไกด์ถึงคราวเป็น “ศูนย์” เฉกเช่นเดียวกัน เรื่องรายได้เดินต่อไปไม่ได้ ไกด์คนไหนพอมีเงินเก็บก้นถุงก็หยิบก้อนนั้นเป็นทุน ทำมาค้าขายเลี้ยงชีพต่อยอดไปได้วันๆหนึ่ง

ส่วนคนที่ใช้เงินเกินตัวกินเที่ยวไม่รู้จักออม…แน่นอนก็ต้องกลับภูมิลำเนาไปฟักตัว ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร เช่น บางรายหันไปพึ่งวัดอาศัยข้าวก้นบาตรพระกินก็มี…บางคนว่าไปถึงขั้นบวชครองผ้าเหลืองทดแทนยามตกอับ

สรุปได้ว่า…ทั้งคนพิการและสูงอายุต่างประเทศ ถึงวันนี้…ก็ยังอาศัย “ทัวร์ทิพย์” อยู่กับที่ งดการเดินทางจากถิ่นพำนักถาวรออกทัวริงเป็นการชั่วคราว โดยหารู้ไม่ว่า…เมื่อใดจะสามารถท่องเที่ยวได้ตามต้องการและตลาดไทยในประเทศ…จะมีอยู่บ้างที่คนพิการและสูงอายุวีลแชร์หันไปท่องเที่ยวกันเอง

เที่ยวกันภายในครอบครัวแทนการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะเพราะขยาดต่อการติดเชื้อ…คราวนี้…ก็ถึงคิวบริษัทนำเที่ยวกว่า 20 รายที่ผ่านการอบรม และไกด์เฉพาะทางอีกกว่า 100 ชีวิต ที่มีไลเซนส์ทำงานต้องถึงคราวหยุดกิจการ…เพราะไม่มีผู้บริโภค?

“ทัวริซึมฟอร์ออล” หรือ “ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ที่ขึ้นต้นไว้สดสวยด้วยแคมเปญโฆษณาหน้าจอโทรทัศน์ และเส้นทางท่องเที่ยวที่ผลิตเป็นคัมภีร์เดินทางโดยรัฐ กลับเป็นอันต้องปิดฉากจบลงไปแบบอัตโนมัติในวันนี้.

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8106

ขอบคุณจาก https://www.thairath.co.th/news/local/2289742

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *