รุ่งโรจน์ ไทยนิยม และโลกอีกใบของนักกีฬาคนพิการ

เขาเคยไปถึงจุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬา เมื่อคว้าเหรียญทอง “พาราลิมปิกเกมส์” รวมถึงความสำเร็จอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน อาทิ เหรียญทองแดงในพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ผ่านมา, 4 เหรียญทองเอเชียนพาราเกมส์ และล่าสุดเขาได้เพิ่งแชมป์เอเชียสมัยที่ 4 ติดต่อกัน 

ประกอบกับการได้ออกมาถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชื่อของ รุ่งโรจน์ เป็นที่จดจำ ในฐานะนักกีฬาคนพิการ ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างเกียรติประวัติให้ประเทศไทย

เราอาจจดจำเขาได้จากเหรียญทองและความสำเร็จที่เขาทำได้ ในทางตรงข้าม เราอาจไม่รู้จักเขาเลยด้วยซ้ำ หากวันนี้เขาเป็นนักกีฬาคนพิการคนหนึ่งที่ไม่มีความสำเร็จติดมือ 

และนี่คือการสนทนาที่ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม อยากถ่ายทอดเรื่องราว ข้อความบางอย่างออกไป เพื่อทุกคน ได้ให้รับรู้และเข้าใจในชีวิตของนักกีฬาคนพิการ ว่ามีด้านน่าสนใจไม่ใช่แค่วันที่ประสบความสำเร็จ

เกมเปลี่ยนชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ  20 กว่าปีก่อนในงานกีฬาสีของโรงเรียนเพชราวุธวิทยา เด็กชายรุ่งโรจน์ ไทยนิยม ตัวแทนนักเทเบิลเทนนิส ทีมสีแสด ลงทำการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ พบกับ คู่ต่อสู้ที่มีร่างกายปกติทุกอย่างดี 

มันคงเป็นเกมธรรมดาเกมหนึ่งที่ไม่มีอะไรน่าจดจำ หากผู้ชนะวันนั้นไม่ใช่ เด็กชายรุ่งโรจน์ นักปิงปองที่มีความพิการมาตั้งแต่กำเนิด เขามีมือที่งุ้มงอ, ขาและแขนสองข้างลีบเรียว 

“ผมเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด 6 เดือน ทำให้มีความพิการแขน ขา ที่ลีบเหมือนคนเป็นโปลิโอ ผมต้องเข้ารับผ่าตัดที่ข้อเท้า เพื่อให้พอเดินได้”   

“ผมใช้ชีวิตวัยเด็ก อยู่ในโรงพยาบาล เพื่อทำกายภาพ เมื่อออกจากโรงพยาบาล ผมก็ต้องใส่อุปกรณ์ช่วยเดินที่ขา เพราะขาของผมไม่มีแรง เช่นเดียวกับแขน ที่ผมไม่สามารถใช้แรงจากมือได้ อย่างการเปิดขวดน้ำ หรือหยิบจับอะไร ผมไม่สามารถทำได้”

“โชคดี ผมมีครอบครัวที่เข้าใจ และไม่เคยซ้ำเติม ทุกคนไม่ได้มองว่าความพิการของผมเป็นปัญหา รวมถึงไม่เคยเอาผมไปเปรียบเทียบกับพี่ชายที่เป็นคนปกติ”

“จนเมื่อเข้าสู่วัยเรียน พ่อกับแม่ ก็ส่งผมมาอยู่โรงเรียนคนปกติ นี่คือสังคมใหม่ที่ผมต้องเจอ แค่พ้นประตูเข้ามาโรงเรียน ผมก็โดนล้อเป็นประจำว่า ‘ไอ้เป๋’ ‘ไอ้ง่อย’ ผมคิดในใจว่า สักวันหนึ่ง พวกคุณจะไม่เรียกผมแบบนี้”

เมื่อชีวิตต้องเปลี่ยนจากการรักษาตัวอย่างเงียบๆ ในโรงพยาบาล มาอยู่ในโรงเรียนคนปกติ ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตา รุ่งโรจน์ พยายามปรับตัวและทำทุกอย่างเหมือนกับเด็กนักเรียนทั่วไป นั่นเป็นเหตุผลที่เขาปฏิเสธจะนั่งรถวีลแชร์ เพราะเขาต้องการเดินให้ได้อย่างคนปกติ

เขาเริ่มมองหากีฬาที่เขาสามารถเล่นได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพร่างกายตัวเอง โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นนักกีฬาแต่อย่างใด จนรุ่งโรจน์ ได้มาเจอโต๊ะเทเบิลเทนนิส ที่อยู่ด้านหลังโรงเรียน เขาจึงลองเล่นกีฬานี้ดู

“ตอน ป.4 ผมเริ่มหัดเล่นปิงปอง เพราะปิงปองเป็นกีฬาที่ต้องใช้แขน ขา และสมอง ที่สำคัญไม่ขัดกับความพิการเรามากจนเกินไป โอเค ในช่วงแรกมันอาจจะลำบากหน่อยในจับลูก ฝึกตี เพราะมือและแขนเราไม่มีแรง แต่เราก็สนุก เพราะมีก๊วนเพื่อนหลายคนเล่นปิงปอง ทุกวันก็จะมานั่งกินข้าว ทำการบ้าน ตีปิงปองกัน เหมือนเป็นการออกกำลังกายไปในตัว”

“พอได้ออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายเราก็มีการพัฒนา ผมไม่ต้องใส่อุปกรณ์ช่วยเดิน กล้ามเนื้อขาช่วงบนก็ใหญ่ขึ้น จากเดิมลีบมีแต่กระดูก และผมก็ยังชอบว่ายน้ำด้วย ทำให้ผมมีแรงมากขึ้น พอตอนขึ้น ป.6 เพื่อนก็ชวนให้ลองลงแข่งกีฬาสี เล่นกับคนปกติ ปรากฏว่าผมได้แชมป์กีฬาสี” 

ชัยชนะในครั้งนั้น สร้างความมั่นใจและทำให้ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถไม่ต่างกับคนปกติในด้านกีฬา เขาตัดสินไปคัดตัวเข้าเรียนมัธยมฯ ปีที่ 1 ในโครงการนักกีฬาช้างเผือกของโรงเรียนหอวัง ก่อนได้เป็นนักกีฬาปิงปองตัวแทนโรงเรียน ร่วมกับเด็กปกติ

ในทุกเช้าๆ ตั้งแต่เวลา 06.00-07.30 น. เขาจะต้องตื่นมาซ้อมกับทีมโรงเรียน จากนั้นหลังเวลาเลิกเรียนเขาจะต้องรีบไปฝึกซ้อมกับ สโมสรตำรวจ ที่คุณพ่อเขา (ชยานนท์ ไทยนิยม) เป็นประธานชมรม ฝีมือของรุ่งโรจน์ พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เขามีโอกาสเข้าสู่รั้ว ทีมชาติไทย ตั้งแต่อายุยังน้อย

“ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกีฬาสำหรับคนพิการ เพราะผมฝึกและแข่งปิงปองกับคนปกติมาโดยตลอด อย่างตอนเข้าโครงการช้างเผือก ผมก็ไปคัดกับคนปกตินะ ตอนเรียนอยู่ที่หอวัง ผมก็ได้เป็นตัวแทนโรงเรียน  เคยได้รางวัลชนะเลิศ ประเภททีม ระดับ มัธยมต้นฯ การแข่งขันของกรมพละฯ ซึ่งเป็นรายการใหญ่ระดับประเทศ”

“มีอยู่วันหนึ่งระหว่างการฝึกซ้อม โค้ชมาโนชย์ อรชร ถามผมว่า ‘ทำไมไม่ไปเล่นกีฬาพิการล่ะ’ ผมจึงลองไปคัดกับทีมชาติไทย เพื่อหาตัวแทนไปแข่งชิงแชมป์เอเชีย ตอนนั้นผมอยู่ ม.2 แต่ผมสามารถเอาชนะรุ่นพี่คนเก่าที่อายุ 30 กว่า ได้อย่างง่ายดาย ผมจึงได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศญี่ปุ่น”

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8106

ขอบคุณจาก https://www.mainstand.co.th/951

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *