รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่เยี่ยมและติดตามการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 พร้อมเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ และส่งเสริมการมีงานทำ

logomain

 

วานนี้ (18 พ.ย. 63) นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่เยี่ยมและติดตามการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน และผู้ประกันตนทุพพลภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อช่วยให้ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานและผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม สามารถกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการ หรือประกอบอาชีพอิสระ เลี้ยงดูตนเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม โดยมีนายปฐพี จิระวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 และเจ้าหน้าที่ร่วมให้การต้อนรับ

 

สำหรับรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน เป็นกระบวนการต่อเนื่องและจำเป็นสำหรับลูกจ้าง ที่สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน สูญเสียอวัยวะ พิการหรือ ทุพพลภาพและผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพหลังสิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาลแล้ว ประกอบด้วย 2 ประการ คือ เป็นกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ในรูปแบบที่สมบูรณ์ครบวงจร ได้แก่ การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การฟื้นฟู สมรรถภาพด้านอาชีพ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจ และสังคม และเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้เข้ารับการฟื้นฟู สมรรถภาพ โดยดูองค์รวม ได้แก่ การให้บริการโดยพิจารณาภาพรวมของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นรายบุคคลในทุกๆ ด้านไปพร้อมกัน โดยมุ่งเน้นการประสานงาน ของทีมงานทุกด้าน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกจ้าง และผู้ประกันตน

 

โดยในส่วนของการให้บริการจะแบ่งออกเป็น 3 ด้าน

 

ด้านแรก เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ เพื่อแก้ไขสภาพความพิการ โดยการผ่าตัด การให้บริการ ด้านกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การพยาบาล เพื่อให้อวัยวะ ส่วนที่เหลือนั้นคืนสภาพเป็นปกติหรือเกือบปกติมากที่สุด ส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพใช้อวัยวะที่เหลือร่วมกับ กายอุปกรณ์เทียม กายอุปกรณ์เสริม หรือเครื่องช่วยต่าง ๆ เพื่อช่วยให้สามารถประกอบ กิจวัตรประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ได้แก่ งานพยาบาล งานกายภาพบำบัด งานกิจกรรมบำบัด และงานกายอุปกรณ์

 

ด้านที่สอง การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านอาชีพ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ปรับตัวหรือ ทักษะในงานอาชีพให้เหมาะสมกับสภาพความบกพร่องของ ร่างกายและความถนัด ให้เกิดความมั่นใจที่จะกลับเข้าสู่ตลาด แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การฝึกเตรียมเข้าทำงาน เป็นการฝึกตามหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟู สมรรถภาพให้สามารถปรับตัวและปรับร่างกายให้เหมาะสมกับสภาพความพิการที่เกิดขึ้น ในการกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการ ระยะเวลาการฝึก 4 เดือนประกอบด้วย สาขาช่างแกะหนังและทำกรอบรูป งานเกษตรพื้นฐาน งานสิ่งประดิษฐ์ งานไม้ประดิษฐ์ งานสำนักงาน และงานตัดเย็บเสื้อผ้าเบื้องต้น และการฝึกอาชีพ เป็นการฝึกอาชีพตามหลักสูตร เน้นให้มีความรู้และทักษะจนสามารถออกไปประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ หรือทำงานในสถานประกอบการใหม่ได้ การเลือกหลักสูตรฝึกอาชีพจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ ความรู้ อายุ สภาพร่างกาย สภาพความพิการ ความต้องการของลูกจ้างนายจ้าง ตลาดแรงงาน รวมทั้งลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติ ใช้ระยะเวลาการฝึก 6-9 เดือน ประกอบด้วยสาขางานซ่อมเครื่องยนต์เล็ก งานซ่อมคอมพิวเตอร์ งานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ งานศิลปหัตถกรรม งานตัดเย็บเสื้อผ้า งานเย็บจักรอุตสาหกรรม งานเกษตรอินทรีย์ งานออกแบบสิ่งพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ งานถนอมอาหารและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

 

และด้านที่สาม การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจและสังคม เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เน้นปรับสภาพจิตใจของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้ยอมรับสภาพความพิการ รับรู้ความสามารถของตนเองสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และรู้จัก เสริมสร้างศักยภาพของตนเองโดยจัดกิจกรรมการให้คำปรึกษา แนะนำเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มตามกระบวนการทางจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ การขยายโอกาสทางการศึกษา การจัดกิจกรรม ด้านกีฬา ด้านดนตรี และส่งเสริมการมีงานทำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG201118225819672

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *