แพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ : หล่อหลอมพลังจิตอาสา 6 เสาหลัก

 

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 4 พุทธศักราช 2563

 

โครงการที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยมีหัวเรือใหญ่ เจ้าของโครงการ คือ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ (มธพ.) คณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 8 (ปธพ.8) ชมรมนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ (ปธพ.) สถาบันพระปกเกล้า และ แพทยสภา จัดขึ้นที่ รพ.ศรีสังวรสุโขทัย และ รพ.สุโขทัย จ.สุโขทัย

 

 

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และ ผอ.หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง กล่าวว่า การจัด “โครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวครั้งที่ 4 พุทธศักราช 2563” ถือเป็นโอกาสพิเศษอันสำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต หลังจากที่มูลนิธิได้ออกหน่วยแพทย์อาสาใน “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทร เทพยวรางกูร” ครั้งที่ 1-3 พุทธศักราช 2560-2562 เป็นเวลา 3 ปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยโครงการได้ดูแลผู้ป่วยมากกว่า 60,000 รายแล้ว และสำหรับปี 2563 นี้เป็นการออกหน่วยแพทย์อาสา ครั้งที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นครั้งที่ 8 ของนักศึกษาหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ซึ่งทำต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่นที่ 8 ในปัจจุบัน

 

 

“วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือ การดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคซับซ้อนที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้ป่วยเหล่านี้ล้วนต้องเดินทางไกลเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรอคอยคิวพบแพทย์ยาวนาน โครงการนี้จึงตั้งเป้าหมายให้คิวการรอรักษาโรคยากให้เหลือเป็นศูนย์ โดยเริ่มจากการสำรวจ การคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อหาผู้ป่วยที่ตกค้าง และส่งทีมแพทย์เข้าไปเพื่อทำการรักษา ทั้งยังเป็นการซ้อมจัดโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสังกัด และทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดความจำเป็นในอนาคต เช่น การเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นการถ่ายทอดความรู้จากราชวิทยาลัยฯ โดยแพทย์เฉพาะทางไปยังโรงพยาบาลในต่างจังหวัดโดยตรง การให้ความรู้กับ อสม. พระสงฆ์ จิตอาสา ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เป็นความร่วมมือข้ามกระทรวงและสังกัด ด้วยพลังของจิตอาสา” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ฉายภาพความเป็นมาและเป้าหมายของโครงการ

 

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภา กล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมดในโครงการนี้เกิดจากพลังจิตอาสา โดยงบประมาณในการออกหน่วยแพทย์ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆครั้งนี้ ได้มาจากการบริจาค การจัดกิจกรรมระดมทุนของนักศึกษา ปธพ. รุ่นที่ 8 ร่วมกับแพทย์ บุคลากรจิตอาสาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในและนอกจังหวัดสุโขทัย เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้กับชาวจังหวัดสุโขทัยและใกล้เคียง เพื่อเข้ารับการรักษาในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ให้ได้รับบริการจบในขั้นตอนเดียวในพื้นที่ โดยการนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ และ รพ.ตติยภูมิออกไปรักษา ซึ่งได้ออกหน่วยเป็นประจำทุกปี และหวังว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

 

 

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบ เป็นโครงการที่งดงาม ที่นำองค์ประกอบหลัก 3 ประการในระบบบริการสุขภาพมาเจอกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในประเทศไทย คือ 1.การเข้าถึงของประชาชน โครงการนี้เป็นตัวอย่างไม่ใช่นำประชาชนไปถึงแพทย์ แต่นำแพทย์มาเข้าถึงประชาชน มีคนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยที่ไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ และ คนเหล่านี้มีความหวัง และอยากได้โอกาสเช่นเดียวกัน และขณะนี้โครงการนี้ทำให้โอกาสและความหวังเกิดขึ้น 2.คุณภาพของระบบบริการสุขภาพ ไม่ใช่แค่นำแพทย์ไปพบชาวบ้าน แต่นำแพทย์เฉพาะทางเข้าไปหาบุคคลที่ต้องการความชำนาญการของแพทย์เฉพาะทาง และ 3.เรื่องค่าใช้จ่าย โครงการนี้เป็นโครงการที่งดงามด้วยตัวเอง ด้วยเงินบริจาคของตัวเอง

 

 

“เราทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วมีเศรษฐานะที่เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนมีโอกาสรับการรักษาพยาบาล โครงการนี้เป็นต้นแบบของการนำเสา 6 เสามาหล่อหลอมรวมกัน เสานั้นเรียกว่าประเทศไทย โครงการนี้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งแพทย์และไม่ใช่แพทย์และที่สำคัญหล่อหลอมน้ำใจของคนไทยทั้งหมดมาเป็นดวงเดียวกันเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอยากให้โครงการนี้มีต่อเนื่อง เพราะไม่ได้นำแค่สุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปสู่ประชาชน แต่ยังยกระดับสุขภาพกาย สุขภาพใจผู้ดำเนินการ จิตใจที่งดงามแบบนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้เกิดจากจิตอาสา เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีคำว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน” ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ กล่าวปิดท้าย

 

 

ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการนำทีมแพทย์ และบุคลากรจิตอาสาจากทุกภาคส่วนเข้ามาหาประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์เฉพาะทาง เพื่ออุดช่องโหว่ในการเข้าถึงการแพทย์ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเป็นการสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงการรักษาพยาบาลสำหรับทุกคนที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thairath.co.th/news/society/1977701

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *