รมช.ศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการศึกษา พร้อมร่วมกิจกรรมจับกุ้ง และส่งเสริมการบริโภคกุ้ง ณ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา ยึดหลัก “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” 3 กลไกหลัก มุ่งยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรม และประมงให้เป็น Digital Agri College เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
วานนี้ (13 พ.ย. 63) ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการศึกษา พร้อมร่วมกิจกรรมจับกุ้ง และส่งเสริมการบริโภคกุ้ง โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
สำหรับการจับกุ้งในครั้งนี้ เป็นกุ้งในโครงการเลี้ยงกุ้งขาวปลอดภัย 1 ไร่ 1 ล้านในรูปแบบ Smart Farm ผ่านศูนย์การเรียนรู้กลุ่มอัจฉริยะครบวงจร วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ บริหารจัดการฟาร์มโดยใช้โมเดล “DREAM” ประกอบด้วย D : Digital Direction , R : Raearing with reverse checking system , E : Environmental Friendly , A : Aquaculture , M : Management System เป็นการบริหารจัดการฟาร์มกุ้งทะเลอัจฉริยะครบวงจรที่มีประสิทธิภาพ นำสู่การพัฒนาระบบดิจิตอลที่สามารถตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีขั้นตอนการเลี้ยงกุ้ง ประกอบด้วย การเตรียมบ่อ การเตรียมน้ำ การปล่อยกุ้ง และการบริหารจัดการ การประเมินราคา การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการจำหน่ายผลผลิต กุ้งที่เลี้ยงเป็นกุ้งขาวแวนนาไม อายุ 3 เดือน 5 วัน ลักษณะทั่วไปอยู่ในกลุ่มเดคาพอต ร่างกายแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง ส่วนหัวและส่วนอก รวมเป็นส่วนเดียวกัน ปกคลุมด้วยเปลือกหุ้มหัว ในพื้นที่บ่อขนาด 1.3 ไร่ โดยมีการปล่อยกุ้งจำนวน 400,000 ตัว อัตรารอดร้อยละ 80 จำนวน 320,000 ตัวผลผลิตที่ได้ 7,251 กิโลกรัม เป็นเงิน 1,322,710 บาท กำไรสุทธิ 530,210 บาท
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 2 จะยึดหลัก “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” เป็น 3 กลไกหลักเพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป “ทันสมัย” โดยเฉพาะการสนับสนุนเด็กไทยผ่านทักษะสำคัญ คือ การคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
สำหรับแนวทาง “เท่าเทียม” คือ การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนแนวทาง “ยั่งยืน” คือ การยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรม และประมงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร โดยนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงให้เป็น Digital Agri College รวมไปถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำกินน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการกิจกรรมจับกุ้ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมปรุงเมนู “ยำตะไคร้กุ้งสด” ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชิม รวมทั้งเดินทางไปเยี่ยมชมตลาด “อาหารปลอดภัย ประมงติณฯ รวมใจ สร้างเครือข่ายตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ที่บริเวณตลาดหน้าวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ซึ่งมีการจำหน่ายกุ้งสดๆ จากบ่อเลี้ยงในราคาถูกกว่าท้องตลาด ขนาดกุ้ง 29 ตัว ต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 240 บาท และยังมีสินค้าอื่นๆ ให้ได้ร่วมจับจ่าย อาทิ อาหารทะเลแปรรูป น้ำจิ้มซีฟู๊ด น้ำพริก กุ้งแห้ง ผงกุ้งอบแห้ง ลูกชิ้น ข้าวสาร ปลาเม็ดขนุนอบแห้ง ฯลฯ
ขอขอบคุณ https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG201113111941876