3 ปัญหาฉุดรั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ต้นตอปิดกั้นพัฒนาเรียนรู้-ใช้ชีวิตมีคุณค่า

 

3 ปัญหาฉุดรั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ – โครงการสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีสานพลังขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ประกอบด้วย อปท. หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกันดูแลและพัฒนาทักษะชีวิต เตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ และการใช้ชีวิตในชุมชนและสังคมอย่างมีคุณค่า

 

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคนที่ 2 คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ด้วยจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษรวมทั้งประเทศ ที่มีมากกว่าแสนคน จึงต้องมีการประเมินปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านเครือข่ายทั้งคนในพื้นที่ และนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และที่สำคัญต้องมีการดำเนินการอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขยายตัวของโครงการ อันจะช่วยให้ครอบครัวที่มีเด็กพิเศษสามารถพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตที่ดีอีกครั้ง

 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวเสริมว่า จากการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยส่วนร่วมของชุมชน พบว่า ความต้องการพิเศษ หรือความพิการแต่ละประเภท จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน รวมถึงผลจากการถอดบทเรียนยังบ่งบอกชัดเจนว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำให้กับผู้พิการ ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้พิการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมส่งเสริมให้ผู้พิการ และผู้มีความต้องการพิเศษได้เข้าถึง เรียนรู้และทักษะด้านการประกอบอาชีพ จนช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งลดภาระจากคนรอบข้าง และเกิดเป็นอาชีพของผู้พิการกว่า 4,000 อัตรา

 

ด้าน ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการกล่าวว่า ผลจากดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2561-2563 นำร่อง 3 พื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ภาคกลางที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าร่วมทั้งสิ้น 60 คน ผ่านการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา พบปัญหาสำคัญ 3 ด้าน ที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องเผชิญในชีวิต อันเป็นผลสรุปจากการดำเนินงาน ได้แก่

 

1.ด้านการคัดกรอง ปัจจุบันพบว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษจำนวนมากไม่ได้รับการคัดกรอง เนื่องจากมีนักจิตวิทยาไม่เพียงพอ

2.ด้านความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษของครูในสถานศึกษา และ

3.ด้านการดูแลลูกกลุ่มที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษของผู้ปกครอง โดยส่วนใหญ่พ่อแม่และผู้ปกครองจะใช้วิธีการเลี้ยงตามวิถีชาวบ้าน และมีความเชื่อว่า การมีลูกเป็นเด็กพิเศษคือ “เด็กปัญญาอ่อน พัฒนาไม่ได้ เด็กไม่เต็ม” ถือเป็นความโชคร้าย และการลงโทษจากบาปกรรม

 

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษในวัยเรียน ที่สามารถเข้าเรียนรวมกับเด็กปกติได้ ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา 2.เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ 3.เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ และ 4.เด็กออทิสติก เป็นกลุ่มที่พบมากในสถานศึกษาและชุมชนทั่วไป

 

ผลจากดำเนินโครงการพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือ มีการรับฟังเสียงและความต้องการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ขณะเดียวกันในแง่ของมุมมองและทัศนคติของชุมชน หรือสังคมในพื้นที่ที่มีต่อเด็กก็เป็นไปในเชิงบวก หรือยอมรับในคุณค่าและความสามารถมากขึ้นด้วย ซึ่งในระยะต่อไปสถานศึกษาและชุมชนจะขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุม ไปยังเด็กในสถานศึกษาหรือพื้นที่เดียวกันโดยไม่แบ่งแยก

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5107823

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *