รพ.ระยอง จับมือเทศบาลตำบลทับมา เติมความรู้โรควิกฤตฉุกเฉินในสถานที่ชุมชนแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่

logomain

 

รพ.ระยอง จับมือเทศบาลตำบลทับมา เติมความรู้โรควิกฤตฉุกเฉินในสถานที่ชุมชนแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ มุ่งช่วยเหลือผู้ป่วยเกิดจากโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิต และอุบัติเหตุได้ทันท่วงที

 

ที่ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลทับมา ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง นพ.สุกิจ บรรจงกิจ รอง ผอ.รพ.ระยอง เป็นประธานเปิดอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้โรควิกฤตฉุกเฉินในสถานที่ชุมชนแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในตำบลทับมา ซึ่งจัดขึ้นโดย รพ.ระยอง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง รพ.สต.ทับมา น้ำคอก บ้านดอน หนองจอกและเทศบาลตำบลทับมา มี นพ.ภคพล ไพบูลย์พันธ์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ระยอง นางอังคณา วงศ์ทางประเสริฐ หน.กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.ระยอง นางราตรี เกียรติขจร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.ระยอง นายประเสริฐ วงษ์ศรี นายกเทศมนตรีตำบลทับมา ผู้บริหารเทศบาลตำบลทับมา และหน.ส่วนราชการเทศบาลตำบลทับมา ร่วมโครงการฯ โดยมีทีมอาสากู้ชีพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ประชาชนและทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เข้ารับการอบรม โดยมีการบรรยายให้ความรู้โรควิกฤตฉุกเฉินต่างๆ การเข้าถึงสายด่วน 1669 การฝึกปฏิบัติทำ CPR และการใช้ AED กระบวนการดูแลผู้ป่วยก่อน รพ.การฝึกปฏิบัติช่วยเหลือผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บได้อย่างวิธีและถูกต้อง

 

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในปัจจุบันสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เกิดจาก โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิต และอุบัติเหตุ ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเหล่านี้อาจมีอาการที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น อ่อนแรงครึ่งซีก ไข้สูง แน่นหน้าอก หรือบางรายอาจมีภาวะการหยุดหายใจกะทันหันถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะช่วยให้ฟื้นคืนชีพกลับมาได้ก็จะเกิดสภาวะการตายของสมองอย่างถาวร เป็นต้น แต่จากข้อมูลการอัตราการเข้าถึงเบอร์โทรสายด่วน 1669 มีเพียงร้อยละ 59.04 และพบว่ายังมีผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตมายังโรงพยาบาลด้วยตนเอง และญาตินำมาส่งคิดเป็นร้อยละ 40.96 จึงทำให้เกิดความล่าช้าทั้งด้านการรักษา และการนำส่ง รพ.ส่งผลทำให้เสียโอกาสในการรักษาและเกิดความพิการ เช่น การให้ยาในผู้ป่วยภาวะ stroke เป็นต้น ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างถูกต้องและทันท่วงที และมีการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม รวดเร็วและถูกวิธีส่งผลให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตและกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ทั้งนี้การอบรมหลักสูตรการรับรู้โรควิกฤตฉุกเฉินและการเข้าถึงเบอร์โทรสายด่วน 1669 ในสถานที่ชุมชนดังกล่าว จึงเป็นหลักสูตรที่สำคัญ ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้อื่นในภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200911142147565

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *