จากมุมมอง สู่การนำศิลปะมาพัฒนาเด็กออทิสติกผ่านแบรนด์ Artstory By AutisticThai โดย Curious People

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

สังคมมักมองเด็กออทิสติกว่าเป็นผู้ป่วย เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ

 

แต่เมื่อลองพูดคุยกับ ชูศักดิ์ และวรัท จันทยานนท์ สองพ่อลูกแห่งมูลนิธิออทิสติกไทย ทำให้มุมมองที่เคยเชื่อมาตลอดเปลี่ยนแปลงไป เพราะพวกเขาเปี่ยมด้วยพลังบวก สร้างสรรค์ และมองเด็กออทิสติกเป็นคนเช่นเดียวกับทุกคน

 

จากความเชื่อนี่เองถูกต่อยอดเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ที่เริ่มจากการนำศิลปะมาพัฒนาเด็กออทิสติก ได้ขยายมาเป็นแบรนด์ Artstory By AutisticThai ดำเนินการภายใต้บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 อย่างมั่นคง ผลิตผลงานศิลปะ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อ หมวก กระเป๋า เคสโทรศัพท์ ฯลฯ และทำโปรเจกต์ร่วมกับภาคเอกชนอีกจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยสองมือของเด็กออทิสติก

 

เมื่อธุรกิจเดินหน้าได้ ชีวิตของเด็กออทิสติกนับสิบชีวิตจึงมีรากฐานที่แข็งแรงขึ้น ทางเลือกที่เปิดกว้างช่วยให้พวกเขาค่อยๆ วางฐานรากของตัวเองในสังคมที่คุ้นชิน และเป็นหมุดหมายให้สังคมได้เห็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวพวกเขา

 

Curious People ขอพาทุกคนเข้าสู่โลกอีกใบที่ไม่คุ้นชิน ไปเยี่ยมชมงานศิลปะ ตลอดจนห้องสร้างสรรค์ผลงานของเหล่าศิลปิน พร้อมกับพูดคุยถึงเรื่องราวของ Artstory by Autistic Thai ที่จะช่วยให้เราเข้าใจพวกเขาได้มากขึ้น

 

ในภาพอาจจะมี ข้อความ

 

01 ไม่แปลกที่จะแตกต่าง

 

“จากการที่ผมใกล้ชิดกับเด็กออทิสติกมานาน อยากให้มองออทิสติกว่าเป็น ‘characteristic – ลักษณะเฉพาะ’ ไม่อยากให้มองว่าเป็นความเจ็บป่วย เพราะเจ็บป่วยต้องรับการรักษาไปตามอาการ แต่กับกรณีนี้ไม่ใช่ สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่คือการพัฒนา ไม่ใช่รักษา เพื่อช่วยให้เด็กมีทักษะทั้งที่เป็น ‘hard skill’ และ ‘soft skill’ ที่จะเป็นเครื่องมือให้เขาใช้ชีวิตในสังคมเฉกเช่นบุคคลทั่วไป”

 

อาจารย์ชูศักดิ์เน้นย้ำแนวคิดดังกล่าวจากประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งในฐานะที่เป็นประธานมูลนิธิออทิสติกไทยและในฐานะพ่อของลูกที่มีลักษณะเฉพาะนี้ด้วยเช่นกัน

 

เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่อาจารย์ชูศักดิ์อยากทำความเข้าใจ คือเด็กออทิสติกมีศักยภาพ มีทักษะความสามารถที่พัฒนาได้เหมือนกับคนปกติ แต่อาจจะช้าตามความบกพร่องของแต่ละคน ซึ่งเด็กออทิสติกส่วนใหญ่จะมีลักษณะความบกพร่องด้านการสื่อสาร

 

“สมัยก่อนเด็กออทิสติกจึงได้รับการฝึกพูดอ่านเขียนเป็นหลัก แต่จริงๆ ไม่ใช่ การสื่อสารนั้นไกลกว่าคำพูด มันคือการถ่ายทอดความคิดของตัวเอง สิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ ดังนั้นเครื่องมือต่างๆ ที่คนทั่วไปใช้ ก็สามารถนำมาใช้กับเด็กออทิสติกได้เช่นกัน ทั้งศิลปะ ดนตรี วิชาการ เพียงแต่เราต้องช่วยค้นหาตัวตนของเขา ประโยคที่ว่า It’s OK to be different จึงเป็นเสมือนนิยามที่เราใช้ เพื่อลบล้างอคติ หรือกรอบคิดเก่าที่สังคมมองมายังเด็กออทิสติก”

 

ในภาพอาจจะมี 2 คน, ผู้คนกำลังนั่ง

 

จากสมาชิกสมาคมผู้ปกครองออทิสซึม(ไทย) อาจารย์ชูศักดิ์มองตัวเองในฐานะเจ้าของปัญหา จึงเลือกจะเป็นผู้ขับเคลื่อน

 

ในปี 2549 เขาเปิดศูนย์การเรียนออทิสติกขึ้น ทำงานร่วมกับ กศน. โดยนำหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนมาใช้ เพราะเด็กออทิสติกที่เติบโตขึ้นจะเริ่มเข้ากับชั้นเรียนไม่ได้ ต้องออกจากโรงเรียน

 

อาจารย์ชูศักดิ์ส่งเสริมให้เด็กออทิสติกเรียนหลักสูตร กศน. เพื่อสอบเทียบเอาวุฒิการศึกษา เด็กที่มีความสามารถด้านการเรียนก็ต่อยอดการศึกษาสู่ระดับมหาวิทยาลัย หลายคนสำเร็จการศึกษาออกมามีงานทำ

 

หลังจากเป็นศูนย์เรียนรู้ไม่นาน อาจารย์ชูศักดิ์ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิออทิสติกไทย เพื่อเป็นทัพหน้าในการทำงาน นอกจากการเรียนตามหลักสูตรแล้ว มูลนิธินี้ยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อค้นหาทักษะความสามารถของแต่ละคน

 

“เหมือนกับเด็กทั่วไป บางคนไม่ถนัดวิชาการ แต่เก่งด้านอื่น เด็กออทิสติกก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นจะคาดหวังให้ทุกคนเรียนเพื่อเข้าสู่ระบบงานปกติ คงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องหาสิ่งใหม่ที่เป็นอิสระ ซึ่งที่มูลนิธิมีทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล งานเกษตร คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กได้ลองค้นหาตัวเอง

 

“อย่างเมื่อห้าปีก่อน ทาง True Coffee เข้ามาสอนให้เด็กออทิสติกเป็นบาริสต้า ข้อดีของเด็กออทิสติกคือมุ่งมั่นกับขั้นตอน ดังนั้นสูตรจึงไม่ผิดเพี้ยน เมื่อเห็นว่าเป็นลู่ทางหนึ่งที่ดีประกอบกับ True ก็ยินดีจ้างเด็กออทิสติกทำงาน ทางมูลนิธิออทิสติกไทยจึงต่อยอดการฝึกอบรมจนมาถึงปัจจุบัน และยังได้ทำแบรนด์ for all coffee ซึ่งเป็นของมูลนิธิเองด้วย”

 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับกาแฟ ทางมูลนิธิออทิสติกไทยเริ่มนำศิลปะมาสอนเด็กออทิสติก โดยมุ่งหวังว่าศิลปะจะช่วยพัฒนาสมาธิ ตลอดจนการสื่อสารของเด็ก ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามความตั้งใจ กระนั้นเมื่อเห็นผลงานที่เด็กออทิสติกถ่ายทอดออกมาแล้ว อาจารย์ชูศักดิ์และคณะทำงานที่มูลนิธิออทิสติกไทยก็เริ่มคิดไกลถึงการต่อยอด

 

“เราน่าจะใช้ศิลปะเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเด็กออทิสติกได้”

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน

 

02 Artstory by Autistic Thai

 

วรัทเข้ามาทำงานกับมูลนิธิออทิสติกไทยตั้งแต่เรียนจบ และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนจนเกิดแบรนด์ Artstory by Autistic Thai

 

“สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ คือสังคมข้างนอกไม่มีพื้นที่ให้เด็กออทิสติกมากนัก เด็กจากมูลนิธิเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สอดแทรกเข้าไปในระบบการศึกษาปกติ หรือระบบงานปกติได้ ขณะที่อีกนับร้อยไม่มีที่ไป ตอนที่เห็นงานศิลปะจากฝีมือของพวกเขา มันกระตุ้นให้เราคิดถึงการต่อยอด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับพวกเขา”

 

หลังจากเห็นช่องทางการตลาด ปี 2560 ก็ได้จัดตั้งบริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้น ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้ปีกของมูลนิธิ โดยมีวรัทเป็นผู้จัดการ

 

รูปแบบธุรกิจของ Artstory ไม่ซับซ้อน ชิ้นงานตั้งต้นคือภาพวาดผ่านฝีมือของเด็กออทิสติก ในความดูแลของครูผู้เชี่ยวชาญ ภาพวาดที่มีความสวยงาม มีตัวตน มีพลัง จะได้รับการจัดจำหน่ายตามงานแสดงผลงานศิลปะ

 

เมื่อปีกลาย Artstory ได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน Hotel Art Fair 2019 ที่โรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ จัดงานบนพื้นที่ 2 ชั้น วรัทและทีมงานพาน้องๆ กลุ่มหนึ่งไปออกงาน โดยรวบรวมภาพวาด 140 ชิ้น ไปจัดแสดง

 

“ตอนนั้นพวกเราประหม่ามาก เพราะถือเป็นงานใหญ่ มีศิลปินที่มีชื่อเสียง มีภาพวาดสวยๆ มูลค่าสูง พอมาดูงานของเรา น้องๆ ไม่ได้มีชื่อเสียง ราคาภาพหลักพันถึงหมื่นต้นๆ แล้วจะมีคนสนใจไหม แต่ผลตอบรับเกินคาด ทั้งคนไทยคนต่างชาติให้การตอบรับ จนเราขายภาพได้หนึ่งร้อยภาพ ทำให้เราได้รู้จักผู้ซื้อของเรา และจากงานนั้นเราก็ได้สปอนเซอร์มาทำห้องแกลเลอรี่ให้ที่นี่”

 

จากภาพวาดนำมาประยุกต์ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ ทั้งเสื้อ กระเป๋า หมวก เคสโทรศัพท์ ฯลฯ

 

“งานศิลปะที่เรานำมาประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เน้นภาพสื่อสารง่าย เช่น รูปการ์ตูนในแบบฉบับของศิลปิน ที่ผู้คนเห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นมิตร อยากซื้อไปใช้”

 

นอกจากนั้นยังมีในส่วนของงานที่ร่วมมือกับองค์กรธุรกิจต่างๆ วรัทเล่าให้ฟังถึงงานประชุมอาเซียนซัมมิทเมื่อปีที่ผ่านมา ที่ร่วมงานกับสยามพิวรรธน์และแบรนด์ตานี

 

“ตอนนั้นแบรนด์ตานีทำกระเป๋าเอกสารจากกาบกล้วยเพื่อแจกให้กับผู้นำจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม เมื่อตัวกระเป๋าแล้วเสร็จ ทางสยามพิวรรธน์ก็ส่งกระเป๋ามาให้เด็กออทิสติกวาดภาพประกอบลงไป กระเป๋าแต่ละใบจึงมีลวดลายไม่ซ้ำกัน”

 

วรัทสำทับว่าในแต่ละปี Artstory จะร่วมกับบริษัทเอกชน องค์กรต่างๆ รวมกันราว 50 โปรเจกต์

 

“บางที่มาให้ทำกระเป๋าอเมนิตี้ เพราะต้องการลวดลายเฉพาะตัวของน้องๆ มีคู่รักดาราที่เพิ่งแต่งงาน ก็ให้น้องวาดภาพเพื่อไปสกรีนลงบนของชำร่วยที่แจกในงาน”

 

ทุกงานเปรียบเสมือนโจทย์ใหม่ๆ ที่ Artstory ต้องคิดให้แตก แต่กว่าที่น้องๆ จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมาให้ตอบโจทย์ได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการในห้องเรียนศิลปะ

 

“น้องๆ สร้างสรรค์งานได้ แต่ต้องมีตัวช่วย มีคำแนะนำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณครูทั้งสองคน”

 

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ผู้คนกำลังนั่ง, ตาราง และสถานที่ในร่ม

 

03 ห้องเรียนศิลปะ

 

ห้องเรียนนี้ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารด้านหลังแกลเลอรี่ วรัทเดินนำมาถึงบันไดขึ้นอาคาร สองฝั่งของบันไดทางขึ้นเป็นผนังที่ลายตาไปด้วยภาพลายเส้น เต็มพรืดยาวไปจนถึงประตูกระจกห้องเรียน

 

ในห้องนี้มีครูผู้ดูแล 2 คน คือ ครูพิงค์-เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม์ หรือครูพิ้งค์ และ ครูต้อย-นฤมล ตันติสัจจธรรม

 

ครูพิ้งค์อยู่กับมูลนิธิมานานแล้ว เปรียบเหมือนขุนพลฝ่ายบุ๋น

 

เมื่อเด็กออทิสติกมาที่ห้องนี้ ต้องมาอยู่กับครูพิ้งค์ก่อน ครูพิ้งค์จะเตรียมความพร้อมเด็ก โดยเฉพาะด้านจิตใจ สอนให้แต่ละคนนิ่งได้ในระดับหนึ่ง มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน ตลอดจนมีความกล้าที่จะตัดสินใจ

 

“เด็กแต่ละคนมีพลังมาก โดยเฉพาะข้างในจิตใจนั้นมีอะไรหลายอย่าง ครูใช้สารพัดวิธี พูดบ้างหาอุปกรณ์อะไรมาดึงความสนใจเขาบ้าง ลองให้เขาจดจ่ออยู่กับงานระยะหนึ่ง พอเริ่มนิ่งก็เริ่มพื้นฐานวาดภาพ”

 

ขณะที่ครูต้อยเปรียบเหมือนขุนพลฝ่ายบู๊ เป็นผู้สอนเทคนิควิธีในการสร้างสรรค์งานศิลปะเต็มรูปแบบ

 

ครูต้อยจะหาโจทย์และภาพอ้างอิงมาให้เด็กแต่ละคนได้ลองฝึก ทุกคนจะได้วาดเหมือนกัน แต่ความที่เด็กแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน ครูต้อยจึงต้องมองหาศักยภาพของแต่ละคน คอยสังเกตว่าเด็กคนหนึ่งถนัดงานประเภทใด ใช้เทคนิควิธีการใด เพราะศิลปะนั้นเปิดกว้าง

 

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป

 

“ถ้าลองดูงานของแต่ละคน อย่างออกัส คนนี้พลังเยอะมาก ตอนฝึกวาดจึงยาก แต่ครูก็ลองหาวิธีการ จนพบว่า ออกัสวาดลายเส้นได้โดดเด่น งานที่ออกมาสื่อถึงตัวตน มีความสวย ความซับซ้อนอยู่ข้างใน หรือเฟิร์น คนนี้วาดภาพไม่ได้เลย แต่พอลองให้ฝึกเทคนิคต่างๆ ก็พบว่าเฟิร์นใช้เทคนิคการจุดสีได้ดี ทำให้ภาพมีอารมณ์ มีชีวิตชีวา งานเฟิร์นจะเน้นสีฉูดฉาดหน่อย” ครูต้อยยกตัวอย่างเด็กแต่ละคน

 

วรัทพาชมกองผลงานที่รอเข้ากรอบ ก่อนหยิบตัวอย่างงานของทิวขึ้นมา

 

ทิวได้รับการส่งเสริมด้านศิลปะจากผู้เป็นพ่อตั้งแต่ 5 ขวบแล้ว งานของทิวโดดเด่นด้วยความประณีต การให้สี ตลอดจนแสงเงา

 

ส่วนครูต้อยไม่รอช้าหยิบภาพ Starry Night อันโด่งดังของแวน โก๊ะ ที่ทิวถ่ายทอดในมุมของตัวเองออกมาให้ชม

 

โต๊ะใกล้กันเป็นที่นั่งของขิม เด็กผู้หญิงตัวผอมบาง กำลังวุ่นกับการปรุงแต่งภาพวาด เมื่อมองดูใกล้ๆ จึงเห็นภาพเดียวกัน 2 ภาพ ภาพหนึ่งใช้ลายเส้นปากกาดำ อีกภาพลงสี ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์และสะท้อนตัวตนของขิม ซึ่งมีความร่าเริงอยู่ในที บนโต๊ะของขิมยังมีงานปั้นดินเกาหลี เป็นรูปการ์ตูน รูปสัตว์ต่างๆ ที่เธอชอบ

 

ห้องเรียนแห่งนี้ทำการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ทุกวันพ่อแม่ของน้องๆ จะพามาส่ง และมารับเมื่อถึงตอนเย็น แต่กระนั้นผู้ปกครองหลายคนก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Artstory

 

“ผู้ปกครองของน้องหลายคนเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ถ้าต้องมาส่ง แล้วไปทำงาน ตกเย็นมารับ เขาทำไม่ได้ เราเลยจ้างงานผู้ปกครองด้วย เพื่อให้เขาอยู่กับลูกได้”

 

วรัทเล่าต่อว่า ที่มูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งเป็นองค์กรแม่ คงปรัชญาการทำงาน คือพ่อแม่เป็นครูและเป็นผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือนอกจากพัฒนาตัวเด็กแล้ว ต้องส่งเสริมให้พ่อแม่เข้มแข็งพอที่จะเป็นครูและเป็นผู้เชี่ยวชาญ แนวคิดนี้ช่วยวางรากฐานให้การพัฒนาเด็กมีความยั่งยืน

 

“อย่างที่พ่อผมว่า เจ้าของปัญหาต้องมองเห็นปัญหา และลุกขึ้นมาจัดการปัญหา พ่อแม่หรือครอบครัวจะรอรับบริการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดมาก เช่น การฝึกพูด ถ้าต้องรอหมอ อาจต้องรอครึ่งปีกว่าจะได้ฝึก ที่นี่เราจึงมีโครงการบ้านส่งเสริมพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อฝึกพ่อแม่ในเรื่องพื้นฐาน ทั้งการสื่อสาร ปรับพฤติกรรม อารมณ์ มีเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น เกม นิทาน ดนตรี ศิลปะ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ที่จะไปใช้ที่บ้าน”

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

04 สร้างสรรค์สู่รายได้ อิสระแห่งวิชาชีพ

 

จากศิลปิน 6 คนในช่วงตั้งไข่ วันนี้ Artstory มีศิลปินในความดูแลเกือบ 30 คน ในนี้มีทั้งคนวาดภาพและในสายการผลิตอื่นๆ

 

“ตัวภาพวาดเป็นสินค้าด้วยตัวเอง แค่จับใส่กรอบเก็บงาน ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เสื้อ หมวก กระเป๋า เคส โทรศัพท์ ที่นำงานศิลปะมาต่อยอด โดยเลือกงานที่น่ารัก สื่อสารง่าย มาสกรีนบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สำคัญคือเด็กออทิสติกได้เรียนรู้โปรแกรมกราฟฟิกที่จำเป็นในการทำงาน”

 

ปัจจุบัน Artstory จะจ่ายเงินเดือนให้แก่เด็กออทิสติกตามความเหมาะสม นอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว ยังมีส่วนแบ่งจากชิ้นงานที่จำหน่ายได้ในอัตราร้อยละ 30

 

“งานภาพแต่ละชิ้นจะมีราคา ถ้าขายได้ก็ตัดเปอร์เซ็นต์ให้เลย ในส่วนของงานจ้าง ถ้างานของน้องคนไหนได้ไปใช้ผลิตต่อ ก็ตัดจ่ายให้เหมือนกัน” วรัทอธิบาย

 

รายได้ที่น้องแต่ละคนได้รับ สำหรับพวกเขาถือว่าเพียงพอ อาจจะดีกว่าด้วย เมื่อมองในมุมที่ว่า พวกเขาได้อยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองได้แสดงศักยภาพออกมาดีที่สุด ท่ามกลางผู้คนที่ให้ความรักและความเข้าใจ

 

“ที่สำคัญกว่ารายได้ น้องแต่ละคนพัฒนาตัวเองขึ้นมาก สื่อสารพูดคุยได้ดี หลายคนเห็นเพื่อนพูด ก็อยากพูด แล้วสิ่งที่เขาแสดงออกมานั้น สะท้อนให้เราเห็นเพียงความจริงใจ ไม่มีความเกลียดชังในนั้น”

 

ตอนนี้ Artstory ข้าสู่ปีที่ 3 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แม้งานออกบูธจะน้อยลง แต่ก็ทดแทนด้วยโปรเจกต์ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมีเข้ามาเพียงพอสำหรับบริหารค่าใช้จ่ายของบริษัท

 

นอกจากนี้ วรัทยังเริ่มปรับตัว โดยหันมาทำตลาดนัดออนไลน์ทุกวันพุธ เวลา 20.00 น. ขายผลิตภัณฑ์ของ Artstory ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายสมาคมผู้ปกครองออทิซึม(ไทย) ประจำจังหวัดต่างๆ

 

ขณะเดียวกันก็มีหน้าร้านที่ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM ชั้น 4 และร้าน O.D.S ในห้างสรรพสินค้า Siam Discovery ที่กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง รวมถึงยังสามารถพบเห็นสินค้าบางตัวที่ร้านทรูคอฟฟี่ คาเฟ่อเมซอน รวมถึงแอปพลิเคชันอย่าง Shopee

 

Artstory มีช่องทางการสื่อสารเกือบครบทุกช่องที่เป็นช่องทางหลัก ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม เว็บไซต์ เพียงค้นชื่อ Artstory by Autistic Thai ก็สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร หรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์ได้

 

“ในอนาคตเรามีแผนงานจัดทำเว็บไซต์ใหม่ เพราะตอนนี้ใช้เว็บไซต์ของมูลนิธิ ซึ่งค่อนข้างช้า และเป็นเชิงข้อมูลข่าวสาร เราเลยอยากขึ้น Artstory เพื่อให้ลูกค้าสามารถเยี่ยมชมแกลเลอรี่ออนไลน์ สั่งจอง และซื้อภาพวาดตลอดจนสินค้าอื่นๆ ของเราได้”

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังนั่ง

 

05 โอกาสและการสานต่อ

 

ณ เวลานี้ Artstory เตรียมเปิดห้องเรียนออนไลน์เพื่อสอนเด็กๆ ในถิ่นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ซึ่งทางมูลนิธิออทิสติกไทยมีเครือข่ายมากกว่า 70 จังหวัด

 

“ความตั้งใจของเราคือทำห้องเรียนออนไลน์ สอนฟรีสำหรับคนที่สนใจเรียนศิลปะ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเด็กออทิสติก เด็กทั่วไป รวมถึงผู้ใหญ่ก็สามารถเรียนได้”

 

ที่สำคัญคือ ห้องเรียนออนไลน์นี้ เด็กออทิสติกยังเป็นกำลังสำคัญในการเรียนการสอนร่วมกับครู โดยทางมูลนิธิออทิสติกไทย และ Artstory มุ่งหวังให้เกิดการขยายผล เพราะที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ที่ต้องการคือพัฒนาเด็กออทิสติกให้มีทักษะความสามารถที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

 

ดังนั้นมูลนิธิออทิสติกไทยจึงพยายามเชื่อมต่อกับเครือข่ายสมาคมผู้ปกครองออทิซึม(ไทย) กว่า 70 จังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่พ่อแม่และตัวเด็ก

 

“ตอนนี้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการก็ให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งท้องถิ่น วัด หลายแห่งขับเคลื่อนเข้มแข็ง จนยกระดับเป็นศูนย์ออทิสติกจังหวัด ทำงานประสานความร่วมมือกัน ห้องเรียนของอาร์ตสตอรี่ ก็จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเปิดโอกาสให้เด็ก”

 

ช่วงหลังนี้ เริ่มมีผู้ปกครองที่อื่นเห็นและสนใจ อยากพาลูกมาฝึก ซึ่ง Artstory ก็มีความพร้อม สามารถพาเข้ามาให้ครูช่วยดู มาลองทำลองวาด ถ้าไม่ชอบก็มีงานอื่นๆ ให้ลองทำ ขอแค่ผู้ปกครองมารับมาส่งได้

 

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ด้วยความที่น้องๆ มีรายได้ ทางมูลนิธิออทิสติกไทยจึงทดลองทำธนาคารชุมชนออทิสติกขึ้น เหมือนกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นนวัตกรรมส่งเสริมการออม

 

“พอไปเห็นมา ก็น่าสนใจ เพราะเคยชินกับรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งกฎหมายยุ่งยาก แต่พอเป็นกลุ่มออมของชุมชน ระเบียบง่ายกว่า เราก็ให้ผู้ปกครอง เด็ก ร่วมเป็นกรรมการ เป็นนวัตกรรมส่งเสริมการออมและการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งยังสร้างผลตอบแทน สวัสดิการ พอดีกับเมื่อปีก่อนมีพระราชบัญญัติสถาบันการเงินภาคประชาชน ถ้าเราทำงาน 3 ปี มีมาตรฐานตามที่ระเบียบกำหนด เราจะขึ้นทะเบียนเป็นธนาคารชุมชนออทิสติก จะมีสถาบันการเงินหลักเข้ามาเป็นพันธมิตร”

 

ก่อนจากกันอาจารย์ชูศักดิ์และวรัทพาไปชิมกาแฟที่ร้าน for all coffee ที่ชงโดยบาริสต้าออทิสติก ก่อนเดินมาส่งที่หน้าแกลเลอรี่ ป้ายคัทเอาท์ใหญ่ริมกำแพงประจันหน้า จากลากันด้วยประโยคที่ว่า “It’s OK to be different”

 

เรื่องและภาพ : กฤตพจน พงศ์ถิรประสิทธิ์

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.facebook.com/pg/curiouspeople.me/posts/?ref=page_internal

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *