ศธ.ลั่น 1 ก.ค.เปิดเทอมแน่ จัดการสอน 3 รูปแบบตามสถานการณ์โควิด “ออนไซต์-ออนแอร์-ออนไลน์” เน้นวิชาหลัก

 

ศธ.ลั่นเปิดเทอมแน่ 1 ก.ค.นี้ ให้ทุกพื้นที่ประเมินโควิด หากคลี่คลายให้มาเรียนที่ ร.ร. ยึดแนวทางป้องกันโรคของ สธ. หากไม่คลี่คลายกลุ่มปฐมวัยถึง ม.3 เรียนออนแอร์ผ่านดีแอลทีวี หลังรับจัดสรรจาก กสทช. 17 ช่อง และ ม.4-6 เรียนออนไลน์ เผยทดสอบระบบออนไลน์ 18 พ.ค.- 30 มิ.ย. วอนครู ผู้ปกครอง นร.เจอปัญหาให้รีบแจ้ง ยัน 16 มิ.ย.ทุกคนมีที่เรียน ปรับปิดเปิดเทอมใหม่ เพิ่มวันหยุด 54 วัน เน้นเรียนวิชากลุ่มสาระหลัก งดกิจกรรมไม่จำเป็น

จากกรณี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับการปิดเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ใหม่ จากเดิมเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 วันที่ 1 ก.ค.- 30 พ.ย. 2563 และภาคเรียนที่ 2/2563 วันที่ 1 ธ.ค. 2563 – 30 เม.ย. 2564 มาเป็นภาคเรียนที่ 1/2563 วันที่ 1 ก.ค.- 13 พ.ย. 2563 และภาคเรียนที่ 2/2563 วันที่ 1 ธ.ค. 2563 – 9 เม.ย. 2564 ทำให้นักเรียนมีเวลาปิดเทอมเพิ่มขึ้น โดยภาคเรียนแรก 17 วัน และภาคเรียนที่ 2 อีก 37 วัน รวมเป็น 54 วัน

เมื่อวันที่ (9 พ.ค.) นางรักขณา ตัณฑวุฑโฑ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในงานแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า การจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ศธ.ได้เตรียมความพร้อมแนวทางการจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ทุกประเภทการศึกษา ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) คนพิการและด้อยโอกาส โดย รมว.ศธ.ระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายและรุนแรงแค่ไหน การเรียนรู้ที่เข้าถึงและมีคุณภาพสำหรับเด็กไทยทุกคน เป็นเป้าหมายสูงสุดของ ศธ. คือ การเรียนรู้นำการศึกษา โรงเรียนอาจจะหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้ ศธ.ต้องทำวิถีทางให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่สภาพแวดล้อมจะอำนวยได้ บนพื้นฐาน 6 ข้อ

1. ความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.นี้แน่นอน ไม่ว่าจะต้องเรียนที่บ้านหรือโรงเรียน การตัดสินใจขึ้นกับผลการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

2. อำนวยการให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้

 

3. ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง ศธ.ได้รับความอนุเคราะห์จาก กสทช.จัดสรรช่องดิจิทัลทีวีให้ 17 ช่อง แบ่งเป็น ช่องของการศึกษาขั้นพื้นฐานอนุบาล 1 ถึง ม.6 จำนวน 15 ช่อง อาชีวศึกษา 1 ช่อง และ กศน. 1 ช่อง ถ้าวันที่ 1 ก.ค. ยังไม่พร้อม ก็มาเรียนศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและเรียนออนไลน์ผ่านดีแอลทีวี

4. การตัดสินใจนโยบายต่างๆ บนพื้นฐานการสำรวจความต้องการ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และโรงเรียน จัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นที่ตั้ง ศธ.จะสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่

 

5. ปรับปฏิทินการศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนเพื่อรู้ของเด็กมากขึ้น ปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม เวลาที่ชดเชยจะคำนึงถึงภาระของทุกคนและการรับความรู้ครบตามช่วงวัยของเด็ก และ

 

6. บุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุด

นางรักขณา กล่าวว่า การออกแบบการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 มีข้อสรุปคือ ให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ คือ

1. ออนไซต์ หากวันที่ 1 ก.ค. พื้นที่ปลอดภัยแล้ว สถานการณ์คลี่คลายก็เข้าสู่สภาพปกติไปเรียนได้ โดยรักษามาตรการด้านสาธารณสุข คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก มีเจลแอลกอฮอล์ การคัดกรองต่างๆ

2. ออนแอร์ และ

3. ออนไลน์ คือ ถ้าบางพื้นที่ไม่ปลอดภัยต้องจัดการเรียนการสอนทางไกลที่ กสทช.จัดสรรช่องให้ โดยเรียนออนแอร์ในชั้นปฐมวัยถึง ม.3 และออนไลน์ ในระดับนักเรียน ม.4-6 โดยโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง ต้องมาหารือว่า แต่ละพื้นที่จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่งมีบริบทจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม นโยบายหลักที่นำมาใช้ คือ เพิ่มเวลาพัก ลดการประเมิน งดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น และเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก เพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลายลง นักเรียนจะได้มีเวลาพัก โดยช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 1 ก.ค. – 13 พ.ย. 2563 นักเรียนจะมีเวลาพัก 17 วันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 คือ วันที่ 1 ธ.ค. 2563 – 9 เม.ย. 2564 จะมีเวลาพัก 37 วัน แล้วกลับเข้าสู่สภาวะปกติของปีการศึกษาใหม่

นางรักขณา กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนตามหน่วยงานของ ศธ.นั้น แบ่งเป็น

 

1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กำหนดแนวทางจัดการเรียนการสอน 4 ระยะ คือ 1. เตรียมความพร้อม วันที่ 7 เม.ย.- 17 พ.ค. สำรวจความพร้อมอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ขออนุมัติช่องรายการจาก กสทช. เตรียมโครงสร้างพื้นฐานบริการแพลตฟอร์มการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับระบบดิจิทัลอี-เลิร์นนิง

2.การทดลองจัดการเรียนทางไกลวันที่ 18 พ.ค.- 30 มิ.ย. โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนา ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีปัญหาอะไรขอให้แจ้งเข้ามาได้ เพือ่นำมาปรับปรุง และ ศธ.จะลงไปสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ

3. การจัดการเรียนการสอน วางแผน 2 สถานการณ์ ถ้าโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ปฐมวัยถึง ม.ต้น จะผ่านระบบทางไกลดีแอลทีวี ส่วน ม.ปลาย จะเรียนออนไลน์ กรณีสถานการณ์คลี่คลายก็กลับมาเรียนตามปกติได้ ยึดแนวปฏิบัติของสาธารณสุข และ 4. การทดสอบและการศึกษาต่อ ต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการสอบแกตแพต การสอบ TCAS เพื่อเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย การสอบโอเน็ต ป.6 ม.3 และ ม.6

สำหรับการจัดการศึกษาคนพิการ ด้อยโอกาส ได้จัดทำแพลตฟอร์ม ศธ.เป็นเวทีเชื่อม 176 หน่วยงาน โยงคนพิการทั้งประเทศเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและมาพัฒนาตนเองมากขึ้น ตามแนวทางปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู แพลตฟอร์มนี้ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการดูแลพัฒนาผู้เรียนที่พิการตามรูปแบบต่างๆ ต่อไปได้

 

 

ขณะที่ปฏิทินการรับนักเรียน สพฐ. ชั้น ม.1 และ ม.4 รับสมัครออนไลน์วันที่ 3-12 พ.ค. สอบคัดเลือก ม.1 วันที่ 6 มิ.ย. ส่วน ม. 4 วันที่ 7 มิ.ย. บางโรงเรียนจับฉลากกำหนดวันที่ 12 มิ.ย. ทั้งนี้ การสอบจะสอบในห้องเรียน แต่จะรักษามาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด การประกาศผลสอบ ม.1 ประกาศวันที่ 10 มิ.ย. ส่วน ม.4 ประกาศวันที่ 11 มิ.ย. การจัดหาสถานศึกษาและการรับรายงานตัวมอบตัวทุกคน ม.1 วันที่ 12-13 มิ.ย. ส่วน ม.4 วันที่ 14-15 มิ.ย. ฉะนั้น วันที่ 16 มิ.ย. 2562 รมว.ศธ.ย้ำว่าเด็กทุกคนต้องมีที่เรียน และวันที่ 1 ก.ค.เริ่มเข้าสู่การเรียนเปิดเทอม

2. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมการผู้เรียน ปวช. ปวส. ป.ตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ 1.จัดผ่านเอกสารตำราเรียน แบ่งกลุ่มย่อยคนไม่มากสลับหมุนเวียนมาเรียน ใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์ ครูอาจไปพบปะผู้เรียนที่บ้านตามความเหมาะสม สถานศึกษาจะต้องคุยกันในบริบทพื้นที่ 2. ระบบศึกษาทางไกลดีแอลทีวี 3.ออนไลน์ผ่านโปรแกรมฟรี ซึ่งอาชีวะหลายแห่งมีระบบบทเรียนสอนออนไลน์พร้อมใช้อยู่แล้ว 4. จัดการเรียนผ่านสอนสด ที่ผ่านมาอาชีวะขาดแคลนครูหลายสาขา เช่น สาขาช่างอากาศยาน ต้องจ้างวิทยากรภายนอกมาสอน เป็นโอกาสที่วิทยาลัยที่ไม่มีครูสอนสาขาช่างอากาศยานก็เรียนไปพร้อมกันในระบบดีแอลทีวี

3. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มี 3 รูปแบบ คือ 1. ถ้าปลอดภัยมาเรียนตามปกติ ยึดมาตรการ สธ. 2. พื้นที่ไม่ปลอดภัย เรียนผ่านดีแอลทีวี และ 3. ออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วงปิดเทอม สช.ร่วมสถานศึกษาเอกชน 5 แห่ง คือ เซนต์คาเบรียล กรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ มัธยมยานากาวา วรรัตน์ศึกษา และสถาบัน 168 ติวเตอร์ออนไลน์ จัดการศึกษาออนไลน์นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาออนไลน์ฟรี มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ครอบคลุมทุกสาระการเรียนรู้ ป.1 ถึง ม.6 ทั้งไลฟ์สด จากเทปโดยติวเตอร์ชื่อดังมาร่วมสอนออนไลน์

4. กศน. วางแนวทางมอบให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กศน.ผลิตรายการวิทยุ โทรทัศน์ ตอบโจทย์จัดการการศึกษาตลอดช่วงชีวิตของทุกช่วงวัย มอบให้สถาบันการศึกษาทางไกลมาพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/qol/detail/9630000048552

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *