จะได้ผลไหม? “สแกนตัวต่อตัว” เคาะประตูบ้าน ช่วยคนวืดเยียวยา5พัน

 

ต้นเดือนที่แล้ว “กระทรวงมหาดไทย” มีหนังสือให้ทุกจังหวัด ผ่าน”กรมการปกครอง” ให้สำรวจจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีที่จังหวัดได้มีการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว จากปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งจากสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่ให้บริการคล้ายสถานบริการ ร้านนวดแผนโบราณ นวดแผนโบราณ อบไอน้ำ อบสมุนไพร อาบอบนวด สปา สถานเริมความงาม สนามมวย/ค่ายมวย ฯลฯ

หนังสือฉบับนั้นให้เข้าไปรวบรวมจำนวนพนักงานหรือลูกจ้างรายวัน ที่ถูกให้ออกจากงาน หรือยุติการจ้างงาน จำนวนพนักงานหรือลูกจ้างรายเดือน ที่นายจ้างชะลอการจ่ายหรือลดเงินค่าจ้างตามจำนวนวันทำงาน หรือถูกเลิกจ้าง รวมถึงจำนวนพนักงานหรือลูกจ้างที่ได้รับส่วนแบ่งจากการขาย และจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการกรณีที่จังหวัดประกาศปิด โดยให้รายงานกระทรวงมหาดไทย โดยเร็ว

วันนี้ ตัวเลขนั้นอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ตัวเลขทั้งหมด กลับไม่มีการเปิดเผย

 

วันนั้น “สำนักงบประมาณ” ยังได้จัดสรรงบผ่าน “กรมการปกครอง” แก้ความเดือดร้อนประชาชนเร่งด่วน กรณีไม่มีงบประมาณจากแหล่งอื่นใดที่จะสนับสนุนได้ หลังจากจ่าย งวดที่ 1 ให้จังหวัดตามขนาด ขนาดเล็ก 28 จังหวัด , ขนาดกลาง 22 จังหวัด และ ขนาดใหญ่ 26 จังหวัดไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 120,644,000 บาท มีการจ่าย งวดที่ 2 (ไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ) วงเงินรวม 66,795,640 บาทเพิ่มเติมให้ 76 จังหวัด ๆ ละ 878,890 บาท โดยงบประมาณส่วนนี้ ให้ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” พิจารณานำไปบริหารจัดการ “สำรวจผู้ได้รับผลกระทบ” แก้ปัญหาจากไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ

ข้อมูล “สำรวจจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีที่จังหวัดได้มีการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว” ข้างต้น คาดว่าจะถูกนำไปเป็นข้อมูลการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ใน WWW.เราไม่ทิ้งกัน http://xn--q3c.com/ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย แต่อาจไม่ควบคุมทั่วถึงการช่วยเหลือได้ทั้งหมด

ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ระดมสรรพกำลังสแกนพื้นที่มาหลายครั้ง แต่เป็นการรับข้อมูลคนเข้า-ออกชุมชน รวมถึงหากลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ส่วนน้อยที่มีการสำรวจผู้รับผลระทบไปในตัว

 

ล่าสุด นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 13 เมษายน2563 เป็นโทรสารในราชการกรมการปกครอง ด่วนที่สุดจาก อธิบดีกรมการปกครอง ถึง ปลัดจังหวัด ทุกจังหวัด ระบุว่า ตามที่กรมการปกครอง มีหนังสือกรมการปกครอง ด่วนที่สุด ที่ มท 0305.3/ว 9241 ลงวันที่ 6 เมษายน 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการสํารวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เนื่องจากการสํารวจและบันทึกข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการวางแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ประชาชน กรมการปกครองจึงขอให้ปลัดจังหวัดเน้นย้ำนายอำเภอให้ความสำคัญกับการบันทึกข้อมูล ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้นายอำเภอ กำชับปลัดอำเภอที่ได้รับมอบหมายซักซ้อมแนวทางการบันทึกข้อมูลฯ และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีหน้าที่สำรวจ และบันทึกข้อมูลฯ ตามแนวทางที่กำหนดด้วย

ถือว่าเป็นการเข้าสแกนพื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ “บิ๊กดาต้า”ของกรมการปกครองเลยที่เดียว
คำสั่งซักซ้อมใช้ระบบมหาดไทย ฉบับนี้ ช่วยเหลือสแกนพื้นที่ “แบบตัวต่อตัว” ซึ่งหลายคนบอกว่า น่าจะทำนานแล้วเพราะแค่ไปรับข้อมูลเยียวยาจากก.คลัง ส่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. อสม. ลงดู “คนได้รับผลกระทบ” ตัวจริง ๆไปเลย แบบสแกนพื้นที่ คิดช้าแต่คิดได้ ก.คลัง คงไม่มีใครมาโวย ถูกเขาด่า เชื่อแต่ AI กำมะลอ

กลับมาที่ หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุด้วยว่า มีการกำหนดแนวทางการรายงานผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งใช้ผู้ดำเนินการสำรวจ คือ ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ประธานกรรมการชุนชน คณะกรรมการชุมชน ปลัดอำเภอ ปลัดเทศบาล ทำหน้าสํารวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ และให้รายงานข้อมูลผ่าน เว็บไซต์ ผ่านหน้าเว็บ Thai QM พร้อมกันนี้มีการระบุ คำอธิบายแบบสํารวจ ผู้ได้รับผลกระทบหมายถึง บุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่

 

1. ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ กลับเข้าหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ได้มีการบันทึกข้อมูลในระบบ Thai QM แล้ว

2. ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนเดิมอยู่แล้ว และได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

ซึ่งมีการออกแบบฟอร์มให้ประชาชนต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว ซึ่งกระจายสอบถามทุกจังหวัดในขณะนี้ โดยให้เลือกสิทธิที่ได้รับจากรัฐ (เลือกได้เพียงข้อเดียว) เลือกผลกระทบที่ได้รับ (เลือกได้เพียงข้อเดียว) และผลกระทบอื่น ๆ และระบุข้อมูลการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ใน WWW.เราไม่ทิ้งกัน http://xn--q3c.com/ (เลือกได้เพียงข้อเดียว)

เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ได้รับผลกระทบ/ให้ข้อมูล ลงชื่อ เขียนชื่อตัว ชื่อสกุล และวัน เดือน ปี ที่สํารวจให้เรียบร้อย โดยจุดที่น่าสนใจอยู่ในข้อ 2 แบบสอบถามจะถามถึงสิทธิจากรัฐ คือ ท่านเป็นผู้ประกันตนตามมาตราอะไร 33, 39, 40 มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ และไม่มีสิทธิ์ข้างต้นทั้งสองเลย

ข้อ 3 ของแบบสอบถามจะถามว่า ได้รับผลกระทบจากอะไร

1. ถูกเลิกจ้าง ทั้งแบบเป็นผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมมาตรา 33 หรือ เป็นพนักงาน/รายวัน/ลูกจ้าง ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคมมาตรา 33

2. ถูกนายจ้างลดวันทำงาน ลดเวลาทำงาน

3. รายได้ลดลง ขายของได้น้อยลง ลูกค้าลดลง หลังจากจังหวัดประกาศมาตรการ

4. ธุรกิจส่วนตัวถูกปิด เช่น ร้านอาหาร ร้านที่อยู่ในห้างฯ พร้อมกับต้องระบุ รายได้ต่อวัน และรายได้ต่อเดือน เดิมที่เคยรับ

 

ข้อ 4 เมื่อได้รับผลกระทบจากข้อ 3 แล้ว จะถามอีกว่า ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ หรือการขนส่งสินค้า/ผลผลิตทางการเกษตรไม่สะดวก ใช่หรือไม่

ข้อ 5 จะถามว่า ได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จาก www.เราไม่ทิ้งกัน http://xn--q3c.com/ หรือไม่

ข้อ 6 จะมีแนวทางให้เรียงลำดับความสำคัญความช่วยเหลือที่ต้องการ โดยมีตัวเลือกทั้งหมด 15 ตัวเลือก 1. เงินสนับสนุนการยังชีพระยะสั้น 2. การส่งเสริมการฝึกอาชีพ 3. การลดหย่อนภาษีต่าง ๆ 4. พันธุ์พืช 5. อุปกรณ์ค้าขาย 6. เครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ 7. เงินกู้ ดอกเบี้ยต่าง ๆ 8. ลดค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ 9. พันธุ์สัตว์ 10. อุปกรณ์การเกษตร 11. การจ้างงานระยะสั้น 12. การพักชำระหนี้ต่าง ๆ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต 13. มาตรการด้านการเงินส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 14. พันธุ์สัตว์น้ำ และ 15. อื่น ๆ

จากนั้นผู้ดำเนินการสํารวจ ได้แก่ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ ประธานกรรมการชุมชน กรรมการชุมชน ลงชื่อและตำแหน่งให้เรียบร้อย โดยมีปลัดอำเภอ / ปลัดเทศบาล ลงชื่อผู้ตรวจสอบข้อมูลตัดแบ่งแบบสํารวจฯ ส่วนที่ 1 และ 2

สำหรับส่วนที่ 1 ผู้สํารวจเก็บไว้เป็นหลักฐาน และ ส่วนที่ 2 ให้นําส่งอำเภอ ซึ่งข้อมูลในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกันเมื่อได้ข้อมูลทั้งหมด กรมการปกครอง จะนำเสนอผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย วางแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ประชาชน ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อไป

การดำเนินการตามแผนนี้ ให้ใช้งบประมาณ ในก้อน 76 จังหวัด ๆ ละ 878,890 บาท แก้ความเดือดร้อนประชาชนเร่งด่วน เป็นงบประมาณดำเนินการ

นอกจาก มหาดไทย แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็เพิ่งเริ่ม โครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน”ภายใต้แนวคิด “สำรวจให้พบจบที่ชุมชน” เพื่อเร่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้ง ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ กทม. จำนวน 286 ชุมชน ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เพื่อนำไปจัดทำ “แผนฟื้นฟูชุมชน” เพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร็วที่สุด อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพึ่งพาตนองได้ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

นอกจากนั้น ยังมีแผนเดียวกัน กับกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คู่ขนานไปด้วย

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://mgronline.com/daily/detail/9630000040452

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *