7 สาเหตุ เด็กพูดไม่ชัด

 

อีกปัญหาในเด็ก ที่ทำให้ผู้ปกครองกลุ้มใจ

 

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า เด็กเป็นวัยที่มีการเรียนรู้และมีพัฒนาการในการพูด การออกเสียง เป็นไปตามช่วงอายุ แต่อาจพบได้ว่าเด็กบางคนเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมกลับพูดไม่ชัด ซึ่งเป็นความผิดปกติของ การเปล่งเสียงพูดทั้งเสียงสระ พยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์

 

สาเหตุเกิดจาก

 

1.ความบกพร่องของอวัยวะในช่องปากและใบหน้า เช่น เอ็นยึดใต้ลิ้นสั้น ปากแหว่ง เพดานโหว่

2.ความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะที่ใช้ในการพูด

3.ความบกพร่องของระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว จะมีปัญหากล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด เช่น ลิ้น ริมฝีปาก เพดานอ่อน ฯลฯ อ่อนแรง

4.ภาวะสมองพิการ พบได้ในเด็กสมองพิการซึ่งมีปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงส่งผลต่อกลไกการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ใช้ในการพูด

5.ความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีปัญหาการได้ยินเสียงจะทำให้พูดออกเสียงไม่ชัดด้วย

6.การเรียนรู้การพูดที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เด็กเลียนแบบคนใกล้ชิดที่พูด ไม่ชัดจนติดเป็นนิสัย

7.ภาวะความบกพร่องอื่นๆ เช่น เด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มออทิสติก เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น

 

นพ.สาธิต สันตดุสิต ผอ.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามปกติพัฒนาการในเด็ก อายุ 2-4 ขวบ จะยังพูดไม่ชัดทุกเสียง ถ้า 4 ขวบขึ้นไปแล้วพูดไม่ชัดใน เสียงที่ควรจะพูดได้ เช่น เสียงพยัญชนะ ม, น, ห, อ, ค, ย เป็นต้น ผู้ปกครองควรจะพาเด็กมาพบนักแก้ไขการพูด

 

ทั้งนี้ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โดยงานแก้ไขการพูด กลุ่มภารกิจวิชาการและการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่ให้การฟื้นฟูผู้ป่วยที่มาฝึกพูด เมื่อเด็กเข้ารับการรักษาปัญหาการพูดไม่ชัด

 

ขั้นแรกนักแก้ไขการพูดจะประเมินสาเหตุของการพูดไม่ชัด จากนั้นจะประเมินเสียงที่พูดไม่ชัดว่าไม่ชัดเสียงอะไรบ้าง และมีลักษณะอย่างไร โดยเริ่มจากการฝึกฟังเปรียบเทียบเสียงที่พูดไม่ชัดกับเสียงที่ถูกต้อง เพื่อดูว่าเด็กสามารถฟังออกว่าตัวเองพูดไม่ชัดหรือไม่ และสอนให้รู้จักตำแหน่งการวางปากและลิ้นในการออกเสียงและลักษณะการเปล่งเสียงที่ถูกต้อง ตลอดจนฝึกให้ออกเสียงที่ถูกต้องตั้งแต่ระดับหน่วยเสียง แล้วเพิ่มเป็น คำ วลี ประโยค จนพูดสนทนาในชีวิตประจำวันได้ในสถานการณ์ต่างๆ

 

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าบุตรหลานพูดไม่ชัดมีข้อควรปฏิบัติดังนี้ เป็นแบบอย่างการพูดที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่เด็ก ไม่ล้อเลียน หรือพูดตามอย่างเด็ก เตือนเด็กเมื่อพูดไม่ชัด ถ้าแก้ไขได้ให้พูดใหม่ช้าๆ แต่ไม่ต้องเตือนทุกครั้งหรือบังคับมากเกินไปจนทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเองและไม่อยากที่จะพูดอีกเพราะกลัวพูดผิด ผู้ปกครองควรพาเด็กมาฝึก ตามนัดและกระตุ้นให้เด็กฝึกพูดตามแบบฝึกหัดที่นักแก้ไขการพูดแนะนำอย่างสม่ำเสมอ

 

ขอขอบคุณข้อมูล  https://siamrath.co.th/n/137131

และภาพประกอบจาก  กรมการแพทย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *