พิการ-เสียชีวิตได้ 2-5 แสนบาท เพิ่มความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

พิการ-เสียชีวิตได้ 2-5 แสนบาท เพิ่มความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

 

คปภ.ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เพิ่มความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรณีเสียชีวิต พิการ เสียอวัยวะ เป็น 2-5 แสนบาท จากเดิม 2-3 แสนบาท ส่วนภาคสมัครใจ บุคคลภายนอกเสียชีวิต พิการสิ้นเชิง ให้ชดใช้เต็มจำนวนเงินเอาประกันสำหรับทุนประกัน 5 แสนถึง 2 ล้านบาท ส่วนที่เกินจาก 2 ล้านบาท ให้ชดใช้ตามจริง มีผล 1 เม.ย.63 เป็นต้นไป

 

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอกสารประกอบ เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.63 เป็นต้นไป โดยสาระสำคัญคือ การเพิ่มความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.ภาคบังคับ) กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ และสูญเสียอวัยวะ จากเดิมที่คุ้มครอง 200,000-300,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000-500,000 บาท แล้วแต่กรณี

 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) กรณีบุคคลภายนอกเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 500,000-2 ล้านบาท แต่สำหรับเงินเอาประกันภัยส่วนที่เกินจาก 2 ล้านบาท ให้ชดใช้ตามความเสียหายจริง ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น กำหนดรหัสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า กำหนดมาตรฐานราคาค่าซ่อมรถยนต์ เป็นต้น

 

“การปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน 3 ประการ คือ เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ใช้มานานกว่า 12 ปี ให้ทันสมัยและลดความขัดแย้งในการตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคุ้มครองในส่วนของชีวิต ร่างกาย ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ รวมถึงได้ปรับปรุงคำอธิบายความ ในคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัย ให้มีความชัดเจน และเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย และใช้เป็นคู่มือของประชาชนได้ ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยรถยนต์ ของไทย และยกระดับมาตรฐานการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว”

 

นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า การประกันภัยรถยนต์สำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจประกัน วินาศภัย ตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นมา เบี้ยประกันภัยรับตรงต่อปีมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท สัดส่วนกว่า 60% หรือ 3 ใน 5 ของเบี้ยประกันภัยรับในธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบ แต่ปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

 

ส่งผลให้ภาคธุรกิจประกันภัย มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ สำนักงาน คปภ.จึงต้องปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคบังคับ และภาคสมัครใจ รวมถึงคู่มือตีความกรมธรรม์ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน และเป็นไปตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริง เพื่อให้ผู้เอาประกันภัย ผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือคู่กรณีได้รับประโยชน์สูงสุด.

 

 

ขอบคุณ… https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1778703

และ  http://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0066&postid=0020679&currentpage=1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *