“เลขาฯ สปส.” เยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูคนงานฯ ภาค1 ย้ำให้สิทธิตั้งแต่วันแรก-บริการฟรีครบ 5 ภาค

“ลูกจ้างทุกคนเมื่อเข้าทำงานกับนายจ้างแล้ว ก็อยู่ในข่ายการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.เงินทดแทน ดังนั้น สามารถที่จะใช้สิทธิกับกองทุนเงินทดแทนได้ ซึ่งคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างได้เข้าทำงานกับนายจ้างรายนั้น” หนึ่งในประโยคสำคัญที่ “นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เน้นย้ำกับคณะทำงานขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1 จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.62 ซึ่งมี “นางรังสิมา บำเพ็ญบุญ” นายกสมาคมพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทย นำคณะกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา ร่วมศึกษาดูงานในวันนั้นด้วย

 

 

สำหรับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน เป็นศูนย์ที่เปิดให้บริการแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน และผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เป็นหนึ่งในงานประกันสังคมที่ทำให้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทุกคนมีหลักประกันที่มั่นคง รวมถึงได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยลูกจ้างที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญเสียอวัยวะ สามารถที่จะเข้ารับการฟื้นฟูฯ ได้เต็มตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

 

 

“นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน” เปิดเผยว่า เป็นไปตามนโยบายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ไว้ว่า สำนักงานประกันสังคมจะต้องดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ได้สิทธิในการที่จะเป็นเครือข่ายของผู้ประกันตน ทั้งสิทธิประโยชน์ 7 ประการ แม้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนประสบอันตราย หรือมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับไปมีชีวิตที่ดีเหมือนเดิม สามารถกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการ ประกอบอาชีพอิสระ หรือดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระของสังคม โดยให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร ประกอบด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ เช่น การบริการด้านกายภาพบำบัด การบริการด้านกิจกรรมบำบัด การพยาบาล การผ่าตัดแก้ไขสภาพความพิการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำกายอุปกรณ์เสริมและกายอุปกรณ์เทียม การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจและสังคม ซึ่งฟื้นฟูฯ โดยนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อปรับสภาพจิตใจของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่สูญเสียอวัยวะ พิการ หรือทุพพลภาพ ให้ยอมรับความสูญเสีย รับรู้ความสามารถ-สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ โดยสอนอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพความบกพร่องของร่างกายและความถนัดของตนเอง เช่น งานสำนักงาน ซึ่งมีทั้ง คอมพิวเตอร์สำนักงาน และช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ งานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า งานอิเล็กทรอนิกส์ งานตัดเย็บเสื้อผ้า งานสิ่งประดิษฐ์ งานกัดลายกระจก งานเกษตรพอเพียง เป็นต้น

 

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพที่ให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ และให้บริการเชิงรุก ซึ่งปัจจุบันเปิดบริการครอบคลุมแล้วทั้ง 5 ภาค ได้แก่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1 จังหวัดปทุมธานี, ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 2 จังหวัดระยอง, ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่, ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 4 จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา หมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเพราะนอกจากจะให้บริการฟรีแล้ว ยังมีที่พักอาศัยและอาหารให้ฟรีตลอดระยะเวลาในการเข้ารับการฟื้นฟูฯ

อีกทั้ง ศูนย์ฯ ยังประสานงานกับนายจ้างเดิม/นายจ้างใหม่ เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ หลังสิ้นสุดการฟื้นฟูฯ ให้ด้วย เรียกได้ว่ามีงานรองรับ หรือจะประกอบอาชีพอิสระก็ทำได้ โดยจากการตรวจเยี่ยมผู้ประกันตนหลังฟื้นฟูฯ พบว่า 80% สามารถเข้าสู่การทำงานในระบบของการจ้างงาน และ 20% สามารถประกอบอาชีพอิสระได้

“ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจาการทำงาน และผู้ประกันตนทุพพลภาพ จะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทน ทั้งค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้ง ค่าที่พัก เสื้อผ้าและของใช้ที่จำเป็น โดยผู้ประสงค์จะเข้ารับบริการสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือที่ศูนย์ฯ โดยตรง และใช้สิทธิรับบริการได้ทุกแห่ง เพราะเราบริการเต็มที่เพื่อพี่น้องลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทุกคน” เลขาธิการ สปส. กล่าวทิ้งท้าย

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://www.thairath.co.th/news/society/1754361?cx_testId=8&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=1#cxrecs_s

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *