เปิดโลกผู้สูงอายุวัยใส ชวนคนพิการทัวร์ไทย

ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูง อายุเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2560 เมื่อประชากรรุ่นคุณปู่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราส่วนเท่ากับเด็กวัยต่ำกว่า 15 ปี ที่ 50 : 50 ก็กลายเป็น…“สังคมผู้สูงวัย” ไปในบัดดล

ปี 2557 สหประชาชาติระบุ โลกนี้มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 841 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรโลก และปี 2593 จะมากเป็น 2 เท่าคือ 2,000 ล้านคน…ปี 2643 เพิ่มเป็น 3,000 ล้านคน เท่ากับร้อยละ 30 เลยทีเดียว

กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แจ้งว่า ปี 2560 มีประชากรโลก 7,550 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 962 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยออกประกาศปี 2560 ไทยมีประชากร 66 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10.22 ล้านคน

แต่…สำนักงานสถิติแห่งชาติ บอกไทยมีผู้สูงอายุ 11.31 ล้านคน ปี 2579 เพิ่มเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยอายุเฉลี่ย 77 ปี และ 3.9 ล้านคนยังทำงานมีรายได้เหมือนคนวัยทำงานปัจจุบัน

ประเด็นน่าสนใจจากการสำรวจทัศนคติคนรุ่นคุณปู่ ยังยืนยันชอบท่องเที่ยว เพื่อพบปะคนวัยเดียวกัน นิยมท่องเที่ยวเชิงศาสนา เข้าวัดไหว้พระฟังธรรม ปฏิบัติธรรมวิปัสสนาและเที่ยววิถีชุมชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนคุณปู่จากทั่วโลกก็ไม่ต่างจากคุณปู่ไทย คือชอบท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต สิ่งที่ต้องการช่วงมาเที่ยวไทย คือความพร้อมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น บันไดมีราวจับ ทางลาดสำหรับวีลแชร์ที่ทำให้สัญจรได้สะดวกในสถานที่ต่างๆ

โลกคุณปู่ซีกตะวันตกนั้นได้เปรียบที่มีทะเลในคาบสมุทรต่างๆ อาทิ ทะเลบอลติกแถบสแกนดิเนเวีย คาบสมุทรแปซิฟิกแถบอเมริกา แอตแลนติกฝั่งอเมริกาเหนือกับฝั่งตะวันตกอเมริกาใต้ ที่ล้วนเป็นปัจจัยหนุนการท่องเที่ยวด้วยเรือโดยสารขนาดใหญ่แบบ “เรือครูซ (Cruise)” ที่มิต่างจากโรงแรม5 ดาว 20 ชั้นลอยน้ำ และเดินทางใช้ชีวิตกันอยู่กับเรือสำราญนานแรมเดือนก็มี

เรือควีนส์เอลิซาเบธสัญชาติอเมริกัน ก็เคยแล่นลำนำนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ว่านี้เข้ามาเที่ยวพัทยา ท่ามกลางความทุลักทุเลเพราะขาดท่าเทียบเรือทันสมัยรองรับจนต้องโบกมือลากันไป

ย้อนวันวานเมื่อครั้งที่มีการประชุม ASEAN Tourism Forum-ATF ประจำปีของรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน 10 ประเทศก่อนหน้านี้ เคยคิดที่จะดึงเรือครูซเหล่านี้เข้าสู่น่านน้ำอาเซียน

โดยขอให้ทุกประเทศยกเว้น สปป.ลาว พัฒนาท่าเทียบเรือขึ้นมารองรับ ไม่นาน…สิงคโปร์สร้างสำเร็จ ตามด้วยเวียดนาม ส่วนไทยกับอินโดนีเซียกำลังแข่งกันจ้อ…ปี 2562 ไทยจะเป็นฮับเรือครูซ อิเหนาก็ไม่เบาจะขอชิงความเป็นฮับใหญ่ค่ายอาเซียนให้ได้ ทั้งที่ทั้ง 2 ประเทศยังขยับตัวกันไปไม่ถึงไหน?

อีกกลุ่มเซ็กเมนต์ที่โลกกำลังสนใจ ได้แก่ “กลุ่มคนพิการ” ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากอุบัติภัย ภัยสงคราม จลาจลก่อการร้าย เป็นผู้พิการทางสายตา ทางการได้ยิน พิการอวัยวะบางส่วนในร่างกาย ซึ่งสหประชาชาติระบุ 1 ใน 10 ของประชากรโลก หรือ 650 ล้านคน คือ ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับความพิกลพิการ

และ…ราวๆ 470 ล้านคนล้วนยังอยู่ในวัยทำงาน

“อเมริกา” เป็นประเทศที่มีงบพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกลุ่มนี้ถึง 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อังกฤษ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแคนาดา 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารโลกก็ได้ประกาศให้ทราบด้วยว่า โลกนี้มีผู้พิการที่ยากจนจริงๆ และต้องการความช่วยเหลือราว 20%

วกกลับมามองโซนเอเชีย จีนมีผู้พิการ 83 ล้านคน กลุ่มอาเซียนกัมพูชา 700,000 คน สปป.ลาว 400,000 คน เวียดนาม 12 ล้านคน สำหรับประเทศไทย กรมพัฒนาส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่า มีผู้ขึ้นทะเบียนรับบัตรประจำตัว 2,041,159 คน ไม่นับรวมผู้พิการแฝงอีกจำนวนไม่น้อย

ผู้พิการไทย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้พระราชทานนามสัญลักษณ์ดอกไม้ประดิษฐ์ให้ว่า “ดอกแก้วกัลยา” มาจากดอกแก้วกับดอกแก้วเจ้าจอม และถือเอาวันเสาร์ที่ 2 เดือนพฤศจิกายนทุกปีเป็น “วันคนพิการแห่งชาติ”…ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 พ.ย.2561 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา

ทัศนคติผู้พิการโลกส่วนใหญ่ต้องการใช้ชีวิตเช่นคนปกติ ไม่ตกเป็นภาระต่อสังคม เพียงแต่สร้างเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกให้พวกเขาได้ช่วยเหลือตนเอง โลกของเขายุคนี้จึงมีการรับส่งข้อมูลข่าวสาร…

เช่น อังกฤษมีสถานีวิทยุบีบีซีเป็นแม่ข่าย จีนมีศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม “หนึ่งบวกหนึ่ง” (One Plus One Cultural Exchange Centre) โดยมีนักหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นคนพิการทั้งคณะเป็นผู้ดำเนินงานถ่ายทอดการกระจายเสียงทั่วประเทศอยู่ที่กรุงปักกิ่ง

นอกจากนี้แต่ละประเทศยังมีชมรมผู้พิการ คอยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านระบบออนไลน์สู่คนพิการทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ที่จะมีคู่มือแนะนำประเทศซึ่งมีความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานรองรับคนพิการ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร

ญี่ปุ่น…ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสูงสุดในโลก ส่วนไทยก็ไม่ได้น้อยหน้าเท่าใดนัก ได้รับการยกย่องว่าพัฒนาก้าวหน้ากว่าจีนจากการออกแบบเครื่องมืออำนวยความสะดวกทั้งภายในภายนอกอาคารให้แก่คนทุกผู้และทุกสภาพร่างกาย แบบ “อารยสถาปัตย์” หรือ “Universal Design”

ตามเมืองท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และเมืองรองทั่วประเทศ ยกตัวอย่างที่โรงแรม เอ.1 พัทยา หนึ่งเดียวในโลกที่สร้างทางลาดหนีไฟ ให้วีลแชร์ได้ใช้ทุกชั้นตั้งแต่ชั้น 8 ลงมาชั้นล่างสุด มีลิฟต์อักษรเบรลล์และหมุดตัวหนอนกำกับทางเดินให้คนพิการสายตา

“ที่ชั้น 8 ทั้งฟลอร์มีห้องพัก 52 ห้อง เพื่อกลุ่มวีลแชร์สามารถเปิดประตูเองได้ มีโต๊ะ ตู้เสื้อผ้า เตียง และอุปกรณ์ทุกชนิดในห้องน้ำ ตั้งอยู่ในระดับต่ำที่คนกลุ่มนี้ช่วยตัวเองได้ และพนักงานโรงแรมทุกระดับจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิธีช่วยเหลือคนพิการอย่างถูกต้อง จากองค์กรการกุศลศูนย์มหาไถ่ เมืองพัทยา”

สมชัย รัตนโอภาส ประธานโรงแรม เอ.1 ว่า ด้านบริษัทนำเที่ยวก็เริ่มสนใจเจาะตลาดไทยและต่างชาติ ด้วยรู้ว่าคนกลุ่มนี้นิยมเดินทางพร้อมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยเตรียมบุคลากรและอุปกรณ์เสริมไว้พร้อม

“เราเคยนำคนพิการนั่งทุ่นลอยน้ำลงเล่นทะเล พวกเขาดีใจที่ทั้งชีวิตไม่เคยได้สัมผัสทะเลแบบนี้มาก่อน” ผู้ประกอบการนำเที่ยวรายหนึ่งเล่าให้ฟัง “ไกด์เคยนำคนพิการสายตาไปเดินย่ำหาดทรายกับคลื่นทะเลพัทยา โดยถ่ายทอดทุกสิ่งรายรอบเป็นคำบอกเล่าให้เกิดจินตภาพ เชื่อมั้ยครับ? ลูกทัวร์เหล่านั้นต่างร่ำไห้ด้วยความดีใจ เหมือนได้เห็นภาพจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า”

ขณะตลาดกำลังขับเคลื่อน ก็ได้มีการนำรถตู้ “คาร์ลิฟต์” ยกวีลแชร์ขึ้นลงอัตโนมัติมาใช้ แต่กลับผิด พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ที่ถือเป็น “รถดัดแปลง” ไม่สามารถนำมาใช้ได้…นี่คืออีกเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศกูมี

“ผู้สูงอายุ” และ “คนพิการ” เป็นตลาดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ หรือ ททท. แลดูจะหมางเมิน ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็นสักเท่าไหร่ ตลาดในประเทศก็ไม่เคยคิดกิจกรรมใดๆเสนอขาย นอกจากพิมพ์เอกสารแจกจ่าย…ไม่กระตุ้นตลาดเด่นดังเหมือนท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ฯ เที่ยวเมืองต้องห้าม…

ที่น่าเศร้า? คือคิดจะดึงคู่เตียงหักมาสมานแผลเที่ยวไทยกับจะดึงกลุ่มสีม่วง เกย์ กะเทย ชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือชายรักหญิงได้รักชายก็ดีมาเที่ยวไทย

ไม่มีบ้างเลยหรือ? ที่จะคิดชวน “คนวัยคุณปู่” และ “คนพิการ” ทั่วโลกมาท่องเที่ยวเมืองไทย.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.thairath.co.th/content/1420623

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *