รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันโรคไข้เลือดออก

สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดตราด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2561 พบจำนวนผู้ป่วย 151 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 68.57 ราย ต่อแสนประชากร ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่อำเภอคลองใหญ่พบผู้ป่วย 74 ราย อัตราป่วย 362.92 ต่อแสนประชากร (ข้อมูลจาก: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th)

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคไข้เลือดออกมีพาหะคือยุงลาย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่าโรคไข้เลือดออกนั้นอันตรายแค่ไหน โดยเฉพาะอาการเริ่มแรกนั้นต้องสังเกตอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นไข้เลือดออก ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ เพราะมีบางคนที่ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างของไข้หวัดใหญ่กับไข้เลือดออกได้

อาการและผลของโรคไข้เลือดออกส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างร้ายแรง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น เราจึงควรรู้จักสาเหตุและวิธีป้องกันโรค พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย ยิ่งควรใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งคุณสามารถติดตามรายละเอียดเพื่อทำความรู้จักโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกันอย่างละเอียดถูกต้องจากข้อมูลดังต่อไปนี้ได้เลย

สาเหตุของโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากตัวไวรัสเด็งกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงลายเพศเมียจะเป็นตัวที่คอยกัดคนในช่วงเวลากลางวันเพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร สำหรับเชื้อไวรัสนั้นจะเข้าสู่กระเพาะของยุง และเข้าไปอยู่ในเซลล์บริเวณผนังกระเพาะ และจะยิ่งเพิ่มจำนวนไวรัสมากขึ้นจนออกมาจากเซลล์ผนังกระเพาะ จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุงที่พร้อมจะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป สำหรับระยะฟักตัวในยุงนั้นจะใช้เวลาประมาณ 8-12 วัน และเมื่อยุงตัวนั้นไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัดต่อไป เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนผ่านระยะเวลาฟักตัวนาน 5-8 วัน ผู้ป่วยก็จะมีอาการของโรคไข้เลือดออกแสดงออกมา

ไข้เลือดออกไม่ถึงตาย…หากรู้ตั้งแต่เริ่มต้น

โรคไข้เลือดออกอาจจะเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับหลายคน แต่ความจริงแล้วโรคนี้จะไม่มีความอันตรายถึงตายหากรู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาทัน ทุกคนรู้กันดีว่าไข้เลือดออกมีพาหะคือยุงลายและมีเชื้อไวรัสเด็งกี่เป็นพาหะนำเชื้อ ซึ่งเป็นโรคที่มักระบาดในหน้าฝน โดยอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะต้นจะมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ และมีผื่นแดงบริเวณใต้ผิวหนัง รวมถึงมักปวดเมื่อยตามร่างกาย จะมีอาการหนักในช่วง 3-5 วันเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นอาการก็อาจจะทุเลาลงไประยะหนึ่งและมีอาการรุนแรงขึ้นมาอีก ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะหายจากโรคได้ภายในไม่กี่วันเท่านั้น

การป้องกันไข้เลือดออก

  1. แจ้งสาธารณสุขในเขตพื้นที่เพื่อฉีดยากันยุง
  2. พยายามอย่าให้ผู้ป่วยที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านโดนยุงกัดในระยะเวลา 5 วันแรก เพราะระยะนี้ผู้ป่วยจะยังมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกหลงเหลืออยู่ ซึ่งหากโดนยุงกัดอาจทำให้แพร่กระจายสู่คนในบ้านได้
  3. กำจัดลูกน้ำยุงลายรอบบริเวณบ้าน ถ่ายถ้วยน้ำรองขาโต๊ะหรือน้ำในแจกัน
  4. ติดมุ้งลวด หรืออย่างน้อยควรกางมุ้งเวลานอน
  5. ทายากันยุง
    เมื่อรู้เท่าทันไข้เลือดออกแบบนี้ รับรองได้ว่าเมื่อเป็นแล้วอาจมีสิทธิ์รอดแน่นอน

อาการของโรคไข้เลือดออก

อย่างที่ทราบแล้วว่าเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเป็นเวลา 5-8 วันก็จะปรากฏอาการของโรคอย่างชัดเจนออกมา จากนั้นจะมีอาการที่รุนแรงแตกต่างกันออกไป ในเบื้องต้นจะมีอาการคล้ายกับเป็นไข้ และจะรุนแรงมากขึ้นจนอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้นยังมีอาการแสดงชัดเจน โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วันและยังมีไข้สูงที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งในบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
  2. ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกซึ่งพบบ่อยที่สุดในบริเวณผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่ามีเส้นเลือดเปราะและแตกง่ายร่วมกับมีจุดเลือดออกเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่เต็มตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ ทั้งนี้อาจมีเลือดดำหรือเลือดออกตามไรฟัน สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในรายที่มีอาการขั้นรุนแรงอาจมีอาการอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งก็มักจะเป็นเลือดสีดำ สำหรับอาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่นั้นจะพบร่วมกับภาวะช็อกในรายที่มีการช็อกอยู่นาน
  3. ผู้ป่วยจะมีอาการตับโตและเมื่อกดจะรู้สึกเจ็บโดยส่วนใหญ่จะพบว่าตับโตในช่วงวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย
  4. ผู้ป่วยจะมีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวซึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง หรือที่เราเรียกว่าภาวะช็อกนั่นเอง เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดหรือช่องท้อง เกิด Hypovolemic Shock ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับไข้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับช่วงเวลาที่ผู้ป่วยเกิดอาการช็อกนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ด้วยเช่นกัน อาจจะเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 หรือวันที่ 8 ของวันที่ป่วย ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแย่ลง โดยเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเริ่มเย็น ชีพจรเบา และความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ข้อแตกต่างระหว่างไข้เลือดออก กับไข้ธรรมดา

ไข้หวัดเป็นอย่างไร ?

ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) เกิดได้จากไวรัสหลายสายพันธุ์ เช่น จากเชื้อ Rhinoviruses ซึ่งก่อให้เกิดไข้หวัดธรรมดาถึงร้อยละ 30-50 ส่วนเชื้อ Coronaviruses จะก่อให้เกิดไข้หวัดอยู่ที่ร้อยละ 10-15 จากจำนวนของคนเป็นไข้หวัดทั้งหมด เมื่อเป็นไข้หวัดผู้ป่วยมักมีอาการไข้ต่ำ ๆ (หรืออาจไม่มีไข้) ร่วมกับอาการแสดงทางจมูกและทางเดินหายใจ เช่น มีอาการน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมา มีอาการคัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ คอแดง ต่อมทอนซิลบวมแต่ไม่มีตุ่มหนองอักเสบ  บางรายมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นไข้หวัดจะไม่มีอาการรุนแรง และสามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน (ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสุขภาพดี ไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน)

ความแตกต่างระหว่างไข้เลือดออกและไข้หวัด

จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าอาการของผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกและไข้หวัดนั้นใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ มีไข้ ตัวร้อน ไอ คลื่นไส้เวียนหัว จึงทำให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างชะล่าใจ ไม่รีบรักษาเนื่องจากคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แล้วมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่ออาการหนักจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้นทางที่ดีเมื่อพบว่าตนเองมีอาการป่วยไข้ อย่านิ่งนอนใจให้รีบมาพบแพทย์ หรือถ้าหากกินยาแล้วอาการไม่ทุเลาลงแต่กลับมีไข้สูง ให้รีบเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้ และกินยาพาราเซตามอล จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป เนื่องจากหากรีบรักษาผู้ป่วยจะกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงได้ในเร็ววัน และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็ว อาการของไข้เลือดออกที่เห็นชัดมีดังนี้

  1. มีไข้สูงตั้งแต่ 39 – 90 องศาเซลเซียส
  2. ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ
  3. อาจมีการปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดดวงตา
  4. อาจพบว่ามีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
  5. มีเลือดออก (กรณีอาการถึงขั้นรุนแรง) เลือดกำเดาไหล เลือดตามไรฟัน อาจถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด

การแยกลักษณะของ “ตุ่ม” กับไข้เลือดออก

การสังเกตลักษณะของตุ่มที่เกิดขึ้นว่ามาจากแมลงกัดต่อย ผลพวงจากโรคอื่น หรือเป็นตุ่มที่มาจากไข้เลือดออก ซึ่งจะมีทั้งแบบที่มีไข้ร่วมด้วยและแบบที่ไม่มีอาการไข้ บางครั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจำเป็นต้องสังเกตอาการให้ดีดังนี้

กรณีที่เป็นตุ่มเกิดจากแมลงกัดต่อย

ตุ่มจากแมลงกัดต่อย ส่วนมากแล้วพบว่าเป็นตุ่มนูน หรือเห่อขึ้นมาเป็นจุด ๆ ตามผิวหนังของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เดียว แผ่กระจายในจุดเดียวกัน แต่ในตำแหน่งอื่นกลับไม่พบตุ่มนูน บางครั้งมีลักษณะเห่อเหมือนกับลมพิษ อาจมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนมากการกัดของแมลงแล้วเกิดเป็นตุ่มจะไม่มีไข้ นอกจากเป็นแมลงมีพิษแล้วมีอาการแพ้

กรณีที่เป็นตุ่มเกิดจากโรคมือเท้าปาก

ตุ่มจากโรคมือเท้าปาก พบได้เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะมีไข้ร่วมด้วยพร้อมกับอาการเจ็บปาก กินอาหารได้น้อย มีแผลที่กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ตุ่มหรือผื่นแดงจะเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ ผิวหนังของก้น และอาจพบตามลำตัว แขนและขาได้ อาการจะคงอยู่ประมาณ 2-3 วันก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายได้ภายใน 1 สัปดาห์

กรณีที่เป็นตุ่มเกิดจากไข้เลือดออก

ตุ่มที่เกิดขึ้นจากไข้เลือดออก ควรสังเกตตั้งแต่อาการไข้ที่จะพบร่วมด้วย หากไข้สูงนำมาแล้ว 2-7 วัน ภายหลังจากไข้เริ่มลดลง ในระยะดังกล่าวจะปรากฏผื่นแดงขึ้นมา ผื่นเหล่านี้เมื่อขึ้นมาแล้วจัดอยู่ในระยะที่ต้องระมัดระวัง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อกได้ ลักษณะของตุ่มจะเป็นตุ่มแดง มีขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา ลำตัว หรือตามใบหน้า

การรักษาโรคไข้เลือดออก

ในขณะนี้ยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถต่อต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออกได้ แพทย์จะรักษาไปตามอาการแบบประคับประคองไปก่อนเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็จะเกิดผลดีได้ หากแพทย์สามารถวินิจฉัยพบโรคได้ตั้งแต่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ อีกทั้งแพทย์จะต้องมีความเข้าใจถึงธรรมชาติของโรค และให้การรักษารวมทั้งดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยยังคงอยู่ในช่วงวิกฤตประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วไหลของพลาสมา

ห้ามใช้ยาแอสไพรินกับผู้ป่วยไข้เลือดออกเด็ดขาด

สิ่งนี้ทุกคนควรจำให้ขึ้นใจ ไม่ว่าจะป่วยด้วยอาการมากน้อยแค่ไหนก็ใช้ยาชนิดนี้ในผู้ป่วยไข้เลือดออกไม่ได้ รวมถึงยากลุ่ม NSAIDS เพราะในยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติจับตัวกันเป็นก้อนเลือด ซึ่งยานี้อาจไปกระตุ้นอาการเลือดออกให้มากกว่าเดิมได้นั่นเอง

ป่วยมีไข้แค่ไหน จึงต้องนำส่งโรงพยาบาล ?

อาการเริ่มแรกของไข้เลือดออกก็แทบจะไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาเลย แต่ไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก จึงทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นอาการของหวัดจึงไม่ค่อยตื่นตัว แต่จะมารู้ตัวอีกครั้งก็เมื่อมีอาการเลือดออกมากผิดปกติและมีไข้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด มือ เท้าเย็น ตาลาย เหงื่อออกมากในช่วงที่ไข้ลด อาการเหล่านี้คืออาการชนิดรุนแรงจึงต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะคนไข้อาจเกิดอาการช็อกหมดสติได้

หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ไม่ควรประมาท ! แต่ควรรีบไปหาแพทย์ให้วินิจฉัยทันที เพื่อป้องกันอันตรายในระยะวิกฤตจนอาจส่งผลถึงชีวิต

ไข้เลือดออกรักษาได้ (ถ้ารู้ตัวแต่เนิ่น ๆ)

บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าโรคไข้เลือดออกก็สามารถรักษาไข้หายขาดได้แล้ว ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ก็สังเกตได้จากอาการไข้ที่ลดลงภายใน 24-48 ชั่วโมง คนไข้จะรู้สึกตัว ร่าเริง เริ่มกินอาหารได้บ้างเล็กน้อย นี่เป็นอาการบ่งบอกว่าผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรคไข้เลือดออกแล้วนั่นเอง

วัคซีนไข้เลือดออก

ทำความรู้จักกับวัคซีนโรคไข้เลือดออก

วัคซีนโรคไข้เลือดออกรู้จักกันดีในชื่อ CYD-TDV เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดแรกและชนิดเดียวที่ผ่านการศึกษาวิจัย ทั้งในด้านของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก และได้ขึ้นทะเบียนใช้แล้วในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

วัคซีน CYD-TDV หรือชื่อเต็ม Chimeric Yellow Fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไข้เลือดออกเด็งกีทั้ง 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกีได้ทุกสายพันธุ์ถึง 65 % เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเด็งกีครบ 3 เข็มจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นผู้ป่วยไข้เลือดออกในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ยังมีข้อควรระวังในการใช้

ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน CYD-TDV

  • วัคซีน CYD-TDV เป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเด็งกี 4 สายพันธุ์ก็จริง แต่ผลที่เกิดขึ้นในแต่ละรายอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันแตกต่างกันไป เช่น ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกีสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 ได้ดีมาก แต่สายพันธุ์ที่ 1 และ 2 อาจส่งผลไม่ดีนัก
  • เป็นวัคซีนที่เหมาะสำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว เพราะจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงมาก แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน วัคซีนชนิดนี้มีเชื้อไวรัสเด็งกีทั้ง 4 ประเภทซึ่งถูกทำให้มีฤทธิ์อย่างอ่อนก่อนนำเข้าสู่ร่างกาย หลักการทำงานของวัคซีนนี้คือเมื่อร่างกายได้รับแล้วก็จะสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้น ๆ และทำให้ไม่เป็นโรคนี้อีก แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยป่วยแล้วฉีดวัคซีนอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าเดิม ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นจึงไม่ควรฉีด
  • ประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกันโรคในผู้ที่มีอายุ 9 – 45 ปี ผู้ที่อายุน้อยกว่านี้ไม่ควรฉีดเพราะยาจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
  • วัคซีนนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ แต่ก็ยังมีราคาค่อนข้างสูง เข็มละประมาณ 3,000 บาท และต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยระยะเวลาที่ฉีดคือ เดือนที่ 1, 6 และ 12
  • ผลข้างเคียงที่พบจากการฉีดวัคซีนมีน้อย อาจจะมีไข้หรือเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งก็เหมือนกับการฉีดวัคซีนทั่วไป การวิจัยยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง เพียงแต่ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกยังไม่ควรฉีดเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันมีให้บริการที่บางโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกตามตัวเมือง จากการวิจัยพบว่าเมื่อถูกยุงกัดและเป็นไข้เลือดออกตามธรรมชาติ วัคซีนนี้สามารถลดความรุนแรงของการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกในอนาคต แถมยังลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้กว่า 80% ถึงแม้ปัจจุบันประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณ 65% ซึ่งอาจดูไม่สูงนัก เพราะวัคซีนนี้ใช้เวลาในการค้นคว้าวิจัยยาวนานมากกว่า 50 ปี เป็นเพราะมีความยากลำบากในทางเทคนิคหลายประการ อย่างไรก็ตามก็ยังมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป

วิธีดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

  1. ในช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้พร้อมกัน โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาลดไข้ และควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายเสียการทำงาน อีกทั้งยังทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกมาได้ง่ายขึ้น
  2. ควรชดเชยน้ำให้แก่ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้และมีอาการเบื่ออาหาร รวมทั้งอาเจียน จึงทำให้ขาดน้ำในปริมาณมาก ดังนั้นจึงควรชดเชยน้ำด้วยการให้ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
  3. หมั่นติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
  4. ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ปลอดยุง ควรมีมุ้งลวดหรือกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงและการแพร่ระบาดของโรค
  5. ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  6. ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน
  7. ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ให้มากพอ โดยสังเกตที่สีปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน หากปัสสาวะสีเข้ม ต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
  8. เช็ดตัวผู้ป่วยด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น ควรรักษาอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยไม่ให้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส กรณีที่มีไข้ ห้ามเช็ดตัวหรืออาบน้ำด้วยน้ำเย็น เพราะผู้ป่วยอาจสั่นได้
  9. ควรกินยาลดไข้พาราเซตามอลตามขนาดที่แพทย์สั่ง เพราะหากรับยาเกินขนาดอาจทำให้ตับอักเสบได้
  10. ห้ามให้ผู้ป่วยกินยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDS เด็ดขาด เนื่องจากยาทั้ง 2 ตัวต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด อาจไปกระตุ้นอาการเลือดออกได้
  11. ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ งดใช้ยากลุ่มปฏิชีวนะ เพราะเชื้อไวรัสของโรคไข้เลือดออกไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย จึงไม่จำเป็นกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเลย
  12. ควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และรสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม หรือแกงจืด เป็นต้น
  13. ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือน้ำตาล เพราะเวลาปัสสาวะและอุจจาระอาจสังเกตได้ยากกว่าสิ่งที่ผู้ป่วยขับถ่ายออกมามีเลือดปนมาด้วย

ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่ต้องระวังไข้เลือดออก เพราะเป็นช่วงที่ยุงลายออกอาละวาดหนัก ทุกคนควรป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างจากยุงลายให้มากที่สุด

หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น มีไข้สูงต่อเนื่อง และมีอาการเตือนที่รุนแรง ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งอาการจะมีดังนี้

  • ผู้ป่วยมีอาการซึมหรืออ่อนเพลียมากขึ้น
  • ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนตลอดเวลา
  • มีอาการปวดท้องมาก
  • เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีเลือดปน
  • ผู้ป่วยปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลยในระยะ 4-6 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิด หรือเอะอะโวยวาย
  • หากเป็นคนไข้เด็กอาจร้องกวนตลอดเวลา
  • มีอาการตัวเย็นชื้น เหงื่อออก สีผิวคล้ำลง ตัวลาย ซึ่งในขั้นนี้อาจช็อกได้

สำหรับการดูแลตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกนั่นก็คือ การพยายามป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการนอนในมุ้ง หมั่นสวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว และควรใช้สารยา(กัน)ไล่ยุงด้วย ทั้งนี้ มั่นออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คุณและคนที่คุณรักห่างไกลความเสี่ยงของการเป็นไข้เลือดออกได้มากขึ้นแล้ว

ขอบคุณ : honestdocs

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *