จัดรับฟังความเห็น “บัตรทอง” พัฒนาระบบเข้าถึงบริการ กลุ่มผู้ต้องขัง พระ พิการ คนชายขอบ

สปสช.จัดเวททีรับฟังความเห็น “บัตรทอง” ปรับปรุงพัฒนาระบบ 7 ด้าน พร้อมเพิ่มเติมประเด็น “ประชากรกลุ่มเปราะบาง” ทั้งผู้ต้องขัง พระสงฆ์ ผู้พิการ คนชายขอบ หวังเพิ่มการเข้าถึงบริการมากขึ้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานเปิดเวทีรับความความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 “เสียงเพื่อกลุ่มเปราะบาง : ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 500 คน ประกอบด้วย บอร์ด สปสช. อนุกรรมการฯ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปสช. เพื่อรับฟังความเห็นและจัดทำข้อเชิงนโยบายสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.จรัล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นปีนี้ นอกจากประเด็น 7 ด้านตามข้อบังคับแล้ว ได้เพิ่มประเด็น “การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบางตามบริบทของพื้นที่” ที่เป็นประเด็นเฉพาะตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในสังคม อาทิ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ ผู้พิการ และประชากรพื้นที่ชายขอบ เป็นต้น ให้เกิดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาดูแลคนเหล่านี้ให้เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังมีประเด็น “การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพื่อกระตุ้นการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น และ “การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ” ทั้งที่ดำเนินผ่านกลไกกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC: Long Term care) และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

“สำหรับความเห็นต่างๆ ที่ได้รับ ทั้งจากเวทีรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่ 13 เขต เวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศในวันนี้ และความเห็นที่นำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ตลอดทั้งปี ทั้งจากระบบออนไลน์ และการประชุมต่างๆ คณะอนุกรรมการจะนำมาสังเคราะห์และสรุปเพื่อนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.ในการพิจารณาดำเนินการต่อไป” นพ.จรัล กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปี ของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ได้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการรับฟังความเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เพียงแต่เกิดการพัฒนารุดหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศในการทำหน้าที่ดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ แต่ยังตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ รวมถึงในส่วนผู้ให้บริการที่เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้มีสิทธิในระบบ โดยได้นำความเห็นและข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุง เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขในจุดบกพร่อง เช่น ปัญหาการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ที่เป็นประเด็นรับฟังความเห็นเพิ่มเติมในปีนี้ ส่งผลให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน ทั้งนี้ การรับฟังความเห็น 7 ด้าน ตามข้อบังคับ คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่

ขอบคุณ… https://mgronline.com/qol/detail/9610000080899

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *