สลายกรอบมายาคติเกี่ยวกับคนพิการ เพื่อสร้างความเข้าใจสังคมที่หลากหลายมากขึ้นจากนักทุพลภาพมืออาชีพ
HIGHLIGHTS
* สถิติเมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรคนพิการ 1.8 ล้านคน ที่มาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ 800 บาท ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ทำให้เห็นความเกี่ยวพันกันระหว่างคนพิการและผู้สูงอายุเป็นเนื้อเดียวกัน
* ประชากรคนพิการในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับข้อมูลของสหประชาชาติในปีเดียวกัน ที่พบว่า ประชากรคนพิการเฉลี่ย 15 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก
* เคยมีข้อร้องเรียนจากคนตาบอด 1 ข้าง ระบุว่า “ตั้งใจเรียนจบปริญญาตรี ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่รับ เพราะเกรงว่าประสิทธิภาพไม่เท่ากับคนปกติ และจะรับทำงานตามโควต้าคนพิการทางสายตาก็ไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรคนพิการ”
ทั้งหมดทำให้เห็นว่า ประเทศไทยยังนิยามความพิการไม่ตรงกับความเป็นจริง
* ข้อมูลสถิติเมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2560 จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ พก. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรคนพิการ 1.8 ล้านคน ที่มาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ 800 บาท หรือปีละ 9,600 บาท พบว่า ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ประมาณ 9 แสนคน
help-164755
ดังนั้นงบประมาณค่าเบี้ยยังชีพคนพิการราว 20,000 ล้านบาทต่อปี พ่วงด้วยเบี้ยผู้สูงอายุ ประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนตัวในทรรศนะของผู้เขียนนับว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการสำหรับคนพิการอยู่พอสมควร
จากสถิติจะเห็นว่า ความเกี่ยวพันกันระหว่างคนพิการและผู้สูงอายุ เพราะนิยามตามกฎหมายในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 (แก้ไขปี พ.ศ.2556) นั้นทำให้ผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดทางร่างกายและการเคลื่อนไหว แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง จึงออกใบรับรองแพทย์รับรองความพิการให้ เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนขอทำบัตรคนพิการ ที่ ศูนย์บริการคนพิการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการได้ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต. หรือเทศบาล) ทั่วประเทศ โดยเมื่อขึ้นทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพแล้ว สามารถรับเงินเบี้ยยังชีพได้ในเดือนถัดไปทันที
สำหรับกรุงเทพฯ และบางพื้นที่ของปริมณฑล จะมีสถานที่ที่สามารถขอใบรับรองแพทยย์ และขอขึ้นทะเบียนรับบัตรคนพิการได้ทันที 6 แห่งคือ รพ.สิรินธร รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) รพ.พระราม 2 และสถาบันราชานุกูล เฉพาะขอขึ้นทะเบียนบัตรคนพิการเรื่องเดียวที่ ศูนย์บริการคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และขึ้นทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต กทม.
จากสถิติพบว่าประชากรคนพิการในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ข้อมูลของสหประชาชาติเมื่อปี 2560 มีประชากรคนพิการเฉลี่ย 15 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก จากประสบการณ์ของผู้เขียนโดยตรง เห็นว่า การนิยามความพิการหลายกรณีควรมีการปรับปรุง เช่น คนพิการตาบอดเพียง 1 ข้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับพิจารณาว่า ไม่เป็นคนพิการ ไม่สามารถขอมีบัตรคนพิการได้
ผู้เขียนเคยได้รับการร้องเรียนจากคนตาบอด 1 ข้างว่า “ตั้งใจเรียนจบปริญญาตรี ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่รับ เพราะเกรงว่าประสิทธิภาพไม่เท่ากับคนปกติ และจะรับทำงานตามโควต้าคนพิการทางสายตาก็ไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรคนพิการ”
หลังจากพูดคุยกัน น้องท้อใจมากกับการดำรงชีวิต สังคมไม่มีทางออกให้กับเขา เพราะเราต้องยอมรับว่า การมีเพียงตาข้างเดียวที่ใช้ได้นั้น มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตระดับหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อการรับเข้าทำงาน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังนิยามความพิการไม่ตรงกับความเป็นจริง จากการเปรียบเทียบประชากรคนพิการเฉลี่ยทั่วโลก ยังมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานราชการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการไม่ตรงจุดสักเท่าไหร่ ทำให้ยังเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่มาก และจากสถิติประชากรคนพิการในไทย ยังพบว่า มีคนพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหวสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับอีก 6 ประเภทความพิการรวมกัน
ส่วนหนึ่งมาจากคนพิการหน้าใหม่ หรือคนพิการภายหลัง ทางร่างกายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกปีๆ ละกว่า 5,000 คน จากการประสบอุบัติเหตุบนถนน เสียชีวิตกว่า 15,000 คน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมกว่า 2 แสนล้านบาท จนรัฐบาลต้องจัดตั้งคณะกรรมการ นโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุ ทั้งระดับนโยบาย อำนวยการ และปฏิบัติการ เพื่อให้กลไกทำงานมีประสิทธิภาพ กำหนดให้จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนทุก 3 ปี เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนน (ข้อมูลจากงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยบนถนน ปี 2560)
disabled-parking-space-502962_1280
หลังสงกรานต์ที่ผ่านมา คงจะมีคนพิการหน้าใหม่ หรือคนพิการภายหลัง เพิ่มขึ้นแน่นอนจากอุบัติเหตุบนถนน ผมขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่ทำงานในระบบ กับกลุ่มทำงานในระบบที่เป็นลูกจ้าง ใช้สิทธิ์ประกันสังคม โดยพื้นฐานทั้ง 2 กลุ่มควรขึ้นทะเบียนขอรับบัตรคนพิการเป็นลำดับแรก
สำหรับกลุ่มไม่ทำงานในระบบต้องใช้บัตรทอง ท.74 แทนบัตรทอง ส่วนกลุ่มทำงานในระบบ ควรใช้สิทธิ์ประกันสังคมต่อไป และต้องเดินเรื่องขอใช้สิทธิ์ในการรับเงินเดือน 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสูงสุดเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งต้องรีบเดินเรื่องเพราะประกันสังคมจะไม่ให้เงินเราจนกว่าจะติดต่อเรื่องเอง
แต่ไม่ใช่ว่าติดต่อแล้วจะได้เลย กว่าจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อนายแพทย์ประจำของประกันสังคมจะมาตรวจและรับรองว่าพิการทุพพลภาพ และยังมีสิทธิพิเศษอีกหลายเรื่องกรณีใช้สิทธิ์ประกันสังคม ซึ่งผมจะได้นำมาแบ่งปันในตอนที่ 2 นะครับ
อีกทั้งผมจะมาแนะนำกองทุนต่างๆ ที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้เพิ่มเติมอีก ไหนๆ ก็เป็นคนพิการแล้วควรจะรู้สิทธิ์ ใช้สิทธิ์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วทุกท่านทั้งที่ตัวท่านเองที่เป็นคนพิการ และญาติพี่น้องที่มีคนในครอบครัวเป็นคนพิการจะได้ทราบว่า ภายใต้กฎหมายในปัจจุบันคนพิการไม่ได้เป็นภาระอีกต่อไป สิทธิ์ต่างๆ มากมาย อาจช่วยครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และอาจมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ
แต่ต้องไม่ให้ใครมาละเมิดสิทธิคนพิการด้วยนะครับ
อ้างอิงลิงก์บทความจุดประกาย
http://www.judprakai.com/life/446
หมายเหตุ : ข้อเขียนชุดนี้ ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ นักทุพลภาพมืออาชีพ เซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นมุมมองความคิดในเรื่องที่แวดล้อมคนพิการในสังคมไทย จากปลายปากกาของ นักทุพลภาพมืออาชีพตัวจริงอย่าง ปรีดา ลิ้มนนทกุล นักขับเคลื่อนสิทธิเพื่อคนพิการ และความเท่าเทียมกันในสังคม
โดยเขาจะมาร่วมแบ่งปันความรู้เรื่องสิทธิ และความเท่าเทียมของผู้พิการ เพื่อสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่การลบความไม่รู้ อคติ ที่มีต่อสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ทุกวันอังคาร กลางเดือน และสิ้นเดือน กับ 12 เรื่องราว 12 มุมมองเกี่ยวกับผู้พิการที่สังคมไทยอาจมองข้าม หรือไม่เคยรู้มาก่อน
ขอบคุณ: http://www.judprakai.com/life/446