เราเคยเห็นคนพิการถูกนำแสนอในสื่อแบบไหนบ้าง? คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพน่าสงสารมักมาพร้อมกับคนพิการในสื่ออย่างอัตโนมัติ เพราะอะไรคนพิการในสื่อจึงต้องน่าสงสาร นอกจากเรื่องความน่าสงสารและประเด็นดราม่าแล้ว ชีวิตคนพิการมีมิติไหนให้นำเสนออีกบ้างหรือเปล่า

ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ได้จัดงานการประชุมวิชาการการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR Forum 2018) Ways toward disability inclusive development: ก้าวข้ามความต่าง สู่เส้นทางพัฒนา ภายในงานมีการแสดงละครแทรกสด ‘วีลโชว์ วีลแชร์’ โดยคณะละครมาร็องดูและการเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่อง ‘คนพิการ สื่อกับเราคิดต่างกันอย่างไร’ ซึ่งร่วมเสวนาโดย ประสาน อิงคนันท์ บริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย, อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ นักการละคร มาร็องดู, จริยา มุ่งวัฒนา Producer ภาพยนตร์เดอะดาวน์ เป็นคนธรรมดามันง่ายไป , นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว ThisAble.me และขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ แอดมินเพจ มนุษย์กรุงเทพ

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ นักการละคร มาร็องดูกล่าวว่า เริ่มแรกสนใจการสื่อสารด้วยละคร จึงได้เข้าร่วมเวิร์คชอปกับคณะละครมาร็องดู ซึ่งเป็นคณะละครแทรกสดแห่งเดียวในประเทศไทยก่อตั้งโดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย ต่อมาผู้ก่อตั้งได้มีความสนใจในการที่จะนำเสนอเรื่องราวของคนพิการ เราเห็นว่าเขาสนใจเรื่องของเรา จึงควรสื่อสารเรื่องราวของคนพิการในมุมที่คนไม่พิการอาจจะไม่เข้าใจออกไป แม้ว่าตอนนี้จะมีสื่อหลายที่นำเสนอมุมมองเรื่องคนพิการที่หลากหลายขึ้น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีสื่อกระแสหลักแค่ไม่กี่ช่องและเรื่องราวที่เห็นบ่อยๆ ก็มักเป็นคนพิการในมุมที่น่าสงสาร การช่วยเหลือสงเคราะห์ ในขณะนั้นตัวเราเองก็ยังไม่ได้รับความพิการ ก็มองแล้วรู้สึกคล้อยตาม สงสารและมองว่าต้องช่วยเหลือ แต่เมื่อเราได้รับความพิการแล้ว เราคิดว่าการถูกมองว่าน่าสงสารบ่อยๆ ทำให้คนพิการรู้สึกลดทอนความเป็นตัวเองลงไป

‘คนส่วนใหญ่มักมองคนพิการไปในรูปแบบวงเวียนชีวิต’

อรรถพล กล่าวต่อว่า มุมมองน่าสงสารก็คงยังไม่หมดไป มนุษย์ก็คือมนุษย์เราเชื่อว่ามันมีความสงสารแต่เพียงเราพยายามสื่อสารให้เห็นว่า บางครั้งความสงสารเราเก็บไว้ข้างในก็ได้นะ เราตระหนักรู้ได้ ช่วยเหลือเขาได้แต่เราต้องถามเขาก่อนไหมว่าเขาต้องการหรือเปล่า?

ด้าน นลัทพร ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ตัวเองพิการตั้งแต่กำเนิด นั่งวีลแชร์ตั้งแต่เด็ก หลายๆ คนมักจะพูดกับเราว่าที่เป็นแบบนี้แสดงว่าชาติที่แล้วต้องไปทำอะไรมา มีการแนะนำให้ไปทำบุญเยอะๆ จะได้แข็งแรงขึ้น พอโตขึ้นมาในวัยเรียนก็โดนหาว่าผลงานที่ทำนั้นไม่ได้ทำเอง แต่ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมคนทั่วไปถึงเข้าใจแบบนั้น เพราะการสื่อสารของสื่อในยุคก่อนๆ มักจะสื่อออกมาในภาพลักษณ์ที่คนพิการต้องการความช่วยเหลือเสมอ จึงเป็นที่มาให้เว็บ ThisAble.me ไม่ได้พูดแค่เรื่องคนพิการ แต่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของพวกเขา เช่น การแต่งตัว แต่งหน้า ความรัก เซ็กส์ การดูหนัง การใช้ชีวิตประจำวัน ฯลฯ ซึ่งทำให้คนไม่พิการอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า คนพิการก็ใช้ชีวิตได้เหมือนๆ กับพวกเขาแต่อาจจะต่างกันแค่บางแง่มุมเท่านั้น

‘เรื่องต้องห้ามที่สังคมไม่อยากพูด?’

นลัทพร กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่สื่อในสังคมไทยมักจะไม่ค่อยเล่าถึงเรื่องความรักหรือเซ็กส์ของคนพิการ เพราะนอกจากเรื่องการใช้ชีวิต การเดินทาง ความสะดวกสบายแล้ว เรื่องอื่นที่เกี่ยวกับคนพิการก็แทบจะไม่เห็นอยู่บนสื่อเลย นี่เลยเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องนำเสนอให้เป็นเรื่องที่พูดถึงได้ คนพิการก็เป็นคนๆ นึง และสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าที่คิด

‘คนพิการ ความไม่เท่าเทียม กฎแห่งกรรม’

ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ แอดมินเพจมนุษย์กรุงเทพ เพจที่เล่าเรื่องของคนทั่วๆ ไป ซึ่งสะท้อนว่า พวกเขาก็มีทุกข์ สุขเหมือนกันและมีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้คนดังๆ  ขวัญชาย กล่าวถึงเรื่องการสื่อสารในประเด็นของคนพิการว่า คนพิการก็เป็นมนุษย์คนนึง ในการสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เช่น ความเป็นมาความพิการ เขาอยู่กับภาวะนี้ยังไง รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นเมื่อไหร่ มีครั้งหนึ่งได้สัมภาษณ์นลัทพรว่า ความฝันที่อยากจะทำคืออะไร ซึ่งคำตอบที่ได้มาทำให้เราชอบมากเขาตอบว่า อยากกระโดด อยากวิ่ง พอผมคิดฟังที่เขาอธิบายก็นั่นสิเขานั่งแต่วีลแชร์มาตลอด

ขวัญชาย กล่าวต่อว่า สิ่งที่เรามักจะเห็นในสื่อกระแสหลักถึงการเล่าเรื่องคนพิการให้มันดูออกมาน่าสงสาร เราไม่เข้าใจว่าเขาไม่รู้จักความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน หรือว่าเขารู้แต่เลือกจะใช้วิธีการนำเสนอเรื่องราวให้ออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งมันเหมือนเป็นเข็มฉีดยาที่ทำให้เกิดการเหมารวมภาพลักษณ์ของคนพิการไปเลย พอเราทำเนื้อหาเกี่ยวกกับคนพิการลงเฟซบุ๊กก็มักจะเห็นคอมเมนต์กล่าวถึงกฎแห่งกรรมต่อคนพิการ เช่น ชาติก่อนเคยทำแบบนั้นละสิชาตินี้ถึงพิการ เป็นเวรกรรมอะไรต่างๆ ตัวเราคิดว่ากฎแห่งกรรมไม่น่าจะใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการเอากฎแห่งกรรมมากำกับการรับรู้ คือถ้าเขาจะใคร่ครวญชีวิตตัวเองว่าฉันไปทำอะไรไว้นะ ชาตินี้ฉันถึงได้พิการนั่นคือเสรีภาพทางวัฒนธรรม แต่ถ้าการเอาความเชื่อแบบนี้ไปยัดเยียดให้คนอื่นว่า เธอเคยเตะพ่อ เตะแม่ในชาติก่อนเลยทำให้เธอเดินไม่ได้ ในขณะเดียวกันวิทยาศาสตร์ก็อธิบายมาแล้วว่าเขาเป็นอะไร กฎแห่งกรรมไม่ใช่ปัญหา แต่ผู้คนใช้เรื่องพวกนี้ละเลยรายละเอียดของความทุกข์ ป่วยก็คือต้องไปรักษาไม่ใช่บอกว่าต้องทำบุญเยอะๆ นะ

‘คนพิการในสื่อภาพยนตร์ไทย’

ย้อนไปเมื่อปี 2558 ในเดือนตุลาคม สังคมไทยได้เห็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีคนพิการทางการเรียนรู้ หรือกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมเป็นผู้แสดง ‘เดอะดาวน์ เป็นคนธรรมดามันง่ายไป’เรื่องราวเล่าถึงการใช้ชีวิตของตัวละครซึ่งมีมุมมองที่หลายคนอาจจะไม่เคยเห็น

จริยา มุ่งวัฒนา  โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เดอะดาวน์ เป็นคนธรรมดามันง่ายไป ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาว่า เริ่มต้นเริ่มจากการเห็นเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมในต่างประเทศ ซึ่งเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ขึ้นรถประจำทาง ซื้ออาหารเอง หรือทำงานต่างๆ เองได้ ซึ่งตัดภาพมาที่ประเทศไทยแทบจะไม่เห็นคนกลุ่มนี้ในสังคมเลยจึงทำให้เกิดคำถามที่ว่าแล้วพวกเขาไปอยู่ที่ไหน ใช้ชีวิตอย่างไรกัน

จริยา กล่าวต่อว่า จากที่เริ่มค้นหาข้อมูลและขอสัมภาษณ์หลายๆ ครอบครัวทำให้ทราบว่า หลายครอบครัวก็เลือกที่จะเก็บลูกเอาไว้แค่ในบ้าน แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่กล้าที่จะให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากเป็น เช่นที่เรายกมาในภาพยนตร์ของเรา มีทั้งเป็นนักกีฬาเหรียญทอง พนักงานร้านกาแฟที่พูดกับชาวต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษได้คล่อง และมีคนที่ทำงานเป็นพนักงานในร้านเสื้อผ้าภายในห้าง ที่ทุกๆวันเขาจะต้องพับผ้า จับจีบเสื้อผ้าให้สวยงาม ซึ่งบางครั้งคนอย่างพวกเราก็ไม่สามารถทำได้เพราะความอดทนไม่ถึง แต่พวกเขาสามารถทำได้และทำได้ดีด้วย ทำให้เห็นว่าพวกเขามีศักยภาพเช่นเดียวกับคนทั่วๆไป เราจึงอยากจะสื่อว่าคนพิการเขายังมีศักยภาพในการทำงานและสามารถทำอะไรที่คนทั่วไปอาจจะคิดไม่ถึง

 

ขอบคุณ: https://thisable.me/content/2018/01/370

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *