มจธ. พัฒนาศักยภาพคนพิการ ภายใต้แบรนด์ “เฮ็ดดิ” และ “ทำ”

“เห็ดนำโชค” หนึ่งในผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีความหมายถึงความเจริญเติบโตภายใต้แบรนด์ “เฮ็ดดิ”จากฝีมือการถักทอของกลุ่มคนพิการชุมชนบ้านนางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งนอกจากเห็ดแล้วยังมีไม้เท้า สายรุ้ง กระถางต้นไม้ ปลอกสวมด้ามไม้กวาด กระเป๋าและเสื้อมัดย้อมสีธรรมชาติ ล้วนมาจากฝีมือของคนพิการที่ได้รับการบ่มเพาะทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติภายใต้หลักสูตรมาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงธันวาคม 2564 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 35 โดยคนพิการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ยังจะได้รับเบี้ยเลี้ยง อาหารกลางวัน และค่าเดินทางตลอดระยะเวลาในการฝึกอบรม 

อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ. กล่าวว่า หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหนึ่งในสามหลักสูตรที่จัดขึ้นอยู่ภายใต้โครงการฝึกอบรมฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 8 เพื่อเพิ่มศักยภาพคนพิการ สำหรับคนพิการที่ต้องการทำงานอาชีพอิสระ และเป็นหลักสูตรนำร่องที่จัดอบรมในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นปีแรก จากเดิมที่จัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ จึงเป็นความท้าทายในการทำงาน แต่การดำเนินโครงการก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี  

“หลักสูตรนี้มีความน่าสนใจตรงที่เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งจากโรงพยาบาลเต่างอย และอสม.เต่างอย ช่วยพิจารณาคัดเลือกคนพิการในชุมชนเข้าร่วมอบรม และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ แต่ได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถด้านการออกแบบและหัตถกรรมในพื้นที่เข้าไปช่วยสอนคนพิการถึงในชุมชนตามหลักสูตรคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. เป็นผู้ออกแบบ ทำให้การทำงานผ่านไปได้ด้วยดี” 

ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. หัวหน้าโครงการฯ หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น กล่าวว่า กลุ่มคนพิการที่เรียนในหลักสูตรนี้ จะได้เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การออกแบบชิ้นงาน การใช้สี การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การสื่อสารกับลูกค้า การทำตลาด เช่น การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา เป็นต้น ผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุจึงใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากนัก และใช้สัญลักษณ์เข้ามาเพื่อช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นด้วย  

“ด้านงานถัก เราเลือกใช้ด้ายเส้นใหญ่ เลือกลายที่ง่ายที่สุด และถักลายเดียวกันหมด เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าใจพื้นฐานว่างานถักสามารถถักออกมาเป็นรูปทรงอะไรก็ได้ตามจินตนาการของเรา จากเห็ด เป็นไม้เท้า และสายรุ้ง โดยใช้สีย้อมธรรมชาติจากดอกฝักคูน ดอกดาวเรือง คราม และฝาง และฝึกฝนให้เขาเข้าใจการปรับขนาดงานถัก การย้อมสี จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งในระยะแรกคนพิการก็บอกว่าทำไม่ได้แต่เมื่อได้ลงมือทำซ้ำๆ ในที่สุดก็ทำได้และทำออกมาได้สวยกว่าที่เราคิด บางคนเกิดไอเดียสร้างสรรค์อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นรูปเต่า บางคนเริ่มคิดวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง บางคนก็มีจินตนาการเรียนรู้ได้เร็ว”  

ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน  อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวเสริมว่า การทำงานครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ของอาจารย์และกลุ่มนักศึกษาจากคณะสถาปัตย์ฯ มจธ. โดยอาจารย์จะเป็นโค้ช นักศึกษาจะทำหน้าที่ออกแบบจากโจทย์การทำงานในพื้นที่จริง หรือ Social Lab  มีเครือข่ายในพื้นที่เข้าร่วมสอน และมีคนพิการเป็นผู้ผลิต โดยในปีนี้มีคนพิการที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรฯ ทั้งหมด 18 คน ประกอบด้วย คนพิการด้านร่างกาย เช่น หูไม่ได้ยิน สายตาเลือนราง และคนพิการทางด้านสมอง 

“จากคนที่ไม่มีพื้นฐานงานถัก เริ่มถักจากงานง่ายๆ กับความคิดสร้างสรรค์ ถักงานที่ยากขึ้นกระทั่งได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กระเป๋าถัก พวงกุญแจรูปเห็ด ไม้เท้า และสายรุ้ง นอกจากนี้ยังมีปลอกสวมด้ามไม้กวาด ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ไม้กวาดเดิมที่มีอยู่แล้วในชุมชน และได้นำผลิตภัณฑ์มาร่วมออกบูททดลองขายที่สวนแมนคราฟท์ในงานสกลจังซั่น ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าของสวนเป็นนักออกแบบที่มองเราเป็นเสี่ยว(เพื่อน)ในพื้นที่ และเล็งเห็นคุณค่างานศิลปหัตถกรรมของคนพิการ และเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์“เฮ็ดดิ” อีกด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เพียงวันเดียวมียอดสั่งซื้อเข้ามาหลายร้อยชิ้น”  

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากผลงานการออกแบบของกลุ่มคนพิการในหลักสูตรการผลิตสื่อ/สิ่งพิมพ์ดิจิทัลภายใต้แบรนด์ “ทำ” ซึ่งได้นำไปจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในบูทเช่นกัน และเป็นครั้งแรกที่มีการให้ผู้ชมงานได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนพิการเจ้าของไอเดีย ผ่านระบบ zoom เป็นการเปิดประสบการณ์ และคุณค่าในการ sharing ที่สำคัญระหว่างคนพิการกับสาธารณะและลูกค้า นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน  

นางอัจฉรา คนุญาหงส์ อายุ 48 ปี คนพิการสายตาเลือนราง เธอกล่าวว่า “เดิมทำอาชีพนวดคลายเส้น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ จึงได้มาเข้าร่วมอบรม เดิมคิดว่าจากความพิการของตนเองจะเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และคิดว่าคงจะทำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของงานฝีมือ แต่ทางอาจารย์บอกว่าให้ลองทำไปเรื่อยๆ และอาจารย์ก็คอยมาดูมาสอน นอกจากนี้ยังได้เพื่อนๆ คนพิการช่วยเหลือกัน สิ่งที่ได้รับจากเข้าอบรมในหลักสูตรนี้ คือ รู้สึกดีที่ได้ออกมาสู่สังคมข้างนอก การได้เพื่อน และการที่เราได้รู้ว่ายังมีคนพิการอื่นๆ ไม่ใช่มีเพียงแค่เราคนเดียว”  

ด้านนางสมใจ สีทิน อายุ 53 ปี คนพิการทางร่างกาย กล่าวว่า ปัจจุบันมีอาชีพปลูกมะเขือเทศ พอได้เข้ามาร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ รู้สึกดีมาก เพราะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้ความรู้ ได้เพื่อน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และยังสามารถสร้างรายได้เสริม ซึ่งตอนแรกยอมรับว่าค่อนข้างยาก แต่พอฝึกฝนบ่อย เริ่มจากถักปลอกไม้กวาด ต่อมาก็ถักเห็ด ตอนนี้สามารถทำได้หมด รวมถึงการทำเสื้อย้อมสีจากธรรมชาติใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เวลาทำเราก็จะรวมกลุ่มกันทำ ซึ่งลวดลายที่ออกมาก็จะไม่ซ้ำกัน เช่น ลายก้นหอย นอกจากนี้ยังมีสอนวิธีการคิดต้นทุน ตั้งราคาขาย หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะได้กำไรเท่าไหร่ ซึ่งตอนแรกคิดว่าขายไม่ได้แต่พอทดลองมาขายแล้วก็ขายได้ ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไปรู้สึกภูมิใจมาก  

อาจารย์สุเมธ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ มจธ. ทำคือเราพยายามที่จะเข้าใจคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของคนพิการ คุณค่านั้นหมายถึง ภูมิปัญญา หรือทักษะเดิม และนำเอาคุณค่าเหล่านี้ มาสร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในชุมชนให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น และเราจะมองสังคมเป็นหลักมากกว่าเรื่องของรายได้ และเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจึงพยายามดึงคุณค่านั้นมาทำให้ปรากฎแล้วคนพิการจะรู้สึกถึงคุณค่าที่อยู่ในตัวของเขา เห็นคุณค่าในตัวเอง ครอบครัวเห็นคุณค่า หมู่บ้านชุมชนหรือสังคมเห็นคุณค่า โดยหลังจากนี้มหาวิทยาลัยเตรียมต่อยอดขยายผลโครงการลักษณะนี้ออกไปทำในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น”  

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อสร้างรายได้ และอาชีพอิสระ ในหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ได้มีการจัดพิธีปิดการอบรมขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ.กล่าวแสดงความยินดีและมอบเกียรติบัตรให้แก่คนพิการรุ่นที่ 1 จำนวน 18 คน ณ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย-โพนปลาโหล อ.เต่างอย จ.สกลนคร

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8100 มือถือ 09-9394-4795

ขอขอบคุณข่าวสารจาก https://www.banmuang.co.th/news/education/264239

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *