แม่บุญธรรมผู้อยู่เบื้องหลัง นางฟ้าของ’จ๊ะจ๋า’สาวพิการ

เบื้องหลังความสำเร็จอันน่ายกย่อง “แม่บุญธรรม” นางฟ้าเดินดินของ “น้องจ๊ะจ๋า” สาวพิการใจเหล็ก ถูกทิ้งจากทำแท้ง พิสูจน์ตนสอบได้ข้าราชการ

ข่าวที่ทำให้คนอีกหลายๆ คนมีกำลังใจ เช่นคนท้อแท้อยากฆ่าตัวตาย เมื่อได้อ่านเรื่องราวของ “สาวพิการ” วัย 24 ปี “น้องจ๊ะจ๋า” ที่มีอดีตหดหู่เหลือเกิน ถูกพ่อแม่ทิ้งจากการทำแท้งจึงพิการ แต่เธอต้องสู้เพื่อลบคำครหาไร้ความสามารถ โดยไม่คิดท้อจนคว้าปริญญาและสอบเป็นพนักงานข้าราชการได้สำเร็จ

แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังน้ำตาแห่งความดีใจนี้ ต้องขอบคุณ “แม่บุญธรรม” ของเธอ “น.ส.กนิษฐา เมือบศรี” อายุ 66 ปี เป็นดั่งนางฟ้าเดินดิน คอยสอนให้อดทน ไม่ว่าเลือดนั้นจะมาจากไหน?? เป็นของใคร?? ถ้าใจใฝ่ดี…ปลายทางย่อมสดใสเสมอ

ชีวิตกว่าจะผ่านอดีตที่แสนโหดร้าย “น้องจ๊ะจ๋า” หรือ “น.ส.จิณจุฑา จุ่นวาที” เธอเกิดมาในครอบครัวไม่สมบูรณ์ แม่แท้ๆ ตกอยู่ในฐานะที่ไม่มีใครอยากเป็น “เมียน้อย” ส่วนคนเป็นพ่อก็คือ “หลานเขย” ของแม่บุญธรรม ที่ตบแต่งกับหลานสาว จึงมีฐานะเป็น “เมียหลวง” แต่เพราะเหตุใด…ความโชคร้ายจึงไปตกอยู่ที่เด็ก

เมื่อแม่ไม่ต้องการให้ลืมตาดูโลก จึงพยายามเอาเด็กออก แต่คนเป็นพ่อคิดตรงกันข้าม “ไม่อยากให้เอาออก” ท้องก็โตขึ้นเรื่อยๆ จนคลอด แม่ของเธอหนีไปอย่างไม่ไยดี ทิ้งลูกสาวที่มองด้วยตาเปล่าก็รู้ทันทีว่า…เด็กพิการแต่กำเนิด

พ่อแท้ๆ นำเธอมาเลี้ยงดู แต่ทว่าคงไม่มีใครอยากให้สามีตัวเอง ไปรักลูกเมียน้อยมากกว่าลูกตัวเอง “น้องจ๊ะจ๋า” บางมื้อก็อด บางมื้อก็ไม่ได้กิน แต่ด้วยหัวใจของหญิงผู้หนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้ก็คือ “แม่บุญธรรม” พยายามใช้มือ 2 ข้างโอบอุ้มเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ ตั้งใจอุปการะเป็นลูกบุญธรรม ทั้งๆ ที่ยากจน มีอาชีพแค่หมอนวดแผนโบราณ แต่ก็ไร้วี่แวว ไม่สามารถติดตามตัวแม่แท้ๆ มาเซ็นรับรองได้

แต่ไม่ใช่อุปสรรค เพราะแม่บุญธรรมที่ได้ชื่อว่า “นางฟ้าเดินดิน” คนนี้ เลี้ยงดูโดยไม่หวังผลตอบแทน เพียงอยากให้เด็กได้ดี เพราะคำว่า “แม่” ไม่ใช่แค่นาสมกุลเดียวกัน ตลอด 24 ชั่วโมง “น้องจ๊ะจ๋า” จึงกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต คำว่าแม่ของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป…ผู้ให้กำเนิด อาจจะไม่ได้ถูกเรียกว่าแม่ก็ได้

ชีวิตวัยเด็กของ “สาวพิการ” คนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า…เธอสู้และคิดว่าตัวเองคือคนปกติไม่ได้ไร้ความสามารถ กระทั่ง ป.4 เข้าเรียนที่ รร.ศรีสังวาลย์ จ.นนทบุรี จึงรู้จักกับ “ความพิการ” สร้างความสับสนให้เธอว่า…ทำไมคนนี้ร้องไห้ ชักเกร็ง แล้วเดินไม่ได้เหรอ ต้องนั่งรถเข็น…คำถามมากมายผุดขึ้นมาในหัวของเธอ โดยได้รับคำตอบจากแม่บุญธรรมว่า “เขาก็เป็นเหมือนหนูไง”

เธอบอกว่าไม่เคยเห็นมาก่อน เด็กรุ่นราวเดียวกันนอนชักตัวเกร็ง กำลังทำร้ายตัวเอง ตั้งแต่นั้นมาเธอต้องหัดเรียนรู้อยู่กับรถเข็นและความพิการที่แท้จริง เกรดเฉลี่ยก็ไม่น้อย 3.5 เรื่อยมา แต่ในระหว่างนี้ความพิการก็ไม่เคยหยุดยั้ง ซ้ำกัดกินร่างกายเรื่อย จนกระดูกสันหลังโค้งงอเป็นตัวเอส ผ่าตัดครั้งซ้ำๆ ซึ่งจะทิ่มแทงปอดเมื่อไหร่ก็มิรู้ได้

 

ผ่าตัดรวมมากกว่า 34 ครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้ท้อถอย เพราะการเรียนเป็นสิ่งเดียวที่พิสูจน์ตัวเอง ซึ่งนอกจากการเรียนแล้ว เธอเคยได้รับโอกาสช่วยเหลือสังคม หลังรับตำแหน่งรองอันดับ 2 จากเวที Miss Wheelchair Thailand 2012

กระทั่งชีวิตก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย การเรียนกำลังไปได้สวย “ยมทูต” กลับจะมาพรากวิญญาณสาวน้อยไป เพราะช่วงปี 3 ทรุดหนัก เสียโอกาสเรียน 1 ปี แต่สุดท้ายคว้าปริญาตรีสำเร็จ ในสาขาตลาด คณะบริหารธุรกิจ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเข้ารับรางวัลคนพิการต้นแบบ สอบคัดเลือกจาก 122 คน ได้เป็นพนักงานราชการตำแหน่งนักวิชาการอุตสาหกรรม สังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIP) ทำให้รู้สึกภูมิใจในก้าวเล็กๆ ที่ลงมือทำด้วยตัวเอง โดยไม่มีหรือใช้เส้นสายใดๆ ทำอย่างถูกต้องตามระเบียบ

วันนี้คำว่า “แม่” สำหรับ“น้องจ๊ะจ๋า” ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือถูกต้องตามกฎหมาย แต่แม่คือคนที่อยู่ด้วยข้างๆ ในเวลาที่ต้องการใครสักคน บอกให้รู้ว่าวันนี้เจออะไรมาบ้าง เรียนเป็นอย่างไร กับข้าวฝีมือแม่รสชาติอร่อยแค่ไหน หรือใครสักคนที่บอกว่า “ลูกทำดีแล้ว หนูเก่งที่สุด” ขอแค่ได้ยินเพียงไม่กี่คำ จากคนที่เธอเรียกว่าแม่

และเข้าใจห่วงความรู้สึกต้องแบ่ง “มาม่า” 1 ห่อให้กินได้ 2 คนเพื่อประทังชีวิต หรือเข้าใจการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยอาศัยอยู่ในสลัม แล้วต้องมาอยู่บ้านเช่า แต่ที่ใดก็ได้ที่มีแม่นั่นคือ…บ้าน จึงไม่จำเป็นเลยกับคำว่า “มารดา” ที่ระบุไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขอแค่มีแม่ที่พร้อมอยู่ข้างๆ ยามทุกข์และสุข “น้องจ๊ะจ๋า” ก็พอใจแล้ว

แต่ต้องชื่นชม “แม่บุญธรรม” ของเธอ เพราะความรักเมตตาปราณี ส่งเสริมให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิต และหัวใจอันแกร่งของเธอที่ฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างหนัก โดย “แม่บุญธรรม” จะสอนให้ช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าเสมอ สาวพิการใจสู้คนนี้ จึงรู้สึกว่า…

“หนูคิดว่าการให้ยิ่งใหญ่กว่าการได้รับ ไม่ว่าจะให้ด้วยการกระทำหรือคำพูด เมื่อหนูได้เริ่มสวมบทบาทเป็นวิทยากร แบ่งปันความสุขออกไปให้คนอื่นรับรู้ ไม่ใช่การอวดโอ้ว่าประสบความสำเร็จเพียงใด แต่แชร์ความรู้สึกและเรื่องราว ที่ไม่อยากให้นำไปเป็นบรรทัดฐาน เปรียบเทียบตนเองว่าต้องเก่ง เข้มแข็ง หรืออ่อนโยนแบบใครๆ”

“น้องจ๊ะจ๋า” จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ รู้จักมองตัวเองให้ชัดเจน เพราะพื้นฐานสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ “ปัจจุบันที่ดีที่สุด” อยากให้ผู้อ่านเทียบตัวเองกับเมื่อวานนี้ วันนี้เมื่อไหร่ที่ผู้อ่านแค่ยิ้มมุมปากเพราะเรื่องของเธอ “น้องจ๊ะจ๋า” กลับรู้สึกอิ่มใจ ทั้งที่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย รู้สึกขอบคุณทุกคนที่คอยอ่านอยู่ ณ ตรงนี้ เธอฝากบอกว่านอกเหนือจากแม่บุญธรรมแล้ว “อยากขอบคุณพวกคุณคือหนึ่งพลังของหนู ที่ทำให้ก้าวมาอยู่จุดนี้เช่นเดียวกัน

https://www.dailynews.co.th/article/641795

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *