นี่แหละ! ต้นแบบคนรุ่นใหม่ 3 บัณฑิตป้ายแดงรั้วสีอิฐ พิการแค่กายแต่หัวใจแกร่งเกินร้อย

ศูนย์ข่าวขอนแก่น – เป็นที่ปลื้มปีติและได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ภายหลังเว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยแพร่เรื่องราวของบัณฑิตน้องใหม่จากรั้วสีอิฐ ผู้พิการทางร่างกาย 3 ท่านที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ ในห้องรับรองเป็นการส่วนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีพุทธศักราช 2564 วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก

ปลายบอกว่า สภาพความพิการแขนขวาตั้งแต่ข้อศอกลงมา และฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนักนั้นไม่เป็นอุปสรรคในการเรียน เพราะเธอพึ่งพาตัวเอง เช่น สอนพิเศษวิชาฟิสิกส์ให้น้องๆ และทำงานในโครงการจ้างงานกับกองกิจการนักศึกษา เข้าร่วมโครงการเบิกค่าเทอมของคนพิการจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สนับสนุนโดย กระทรวง อว. สามารถแบ่งเบาภาระคุณยายได้มากทีเดียว

ปลายบอกว่า บุคคลสำคัญที่สุดสำหรับเธอคือ “ยาย” รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำให้ยายได้ภูมิใจในวันที่เธอเรียนจบและได้สวมชุดครุยเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และตั้งใจว่าจะหางานทำที่มั่นคงที่สามารถดูแลตัวเองและดูแลยายซึ่งลำบากมามากแล้วให้ได้สบายในอนาคต นอกจากนี้ ปลายยังขอบคุณศูนย์บริการนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จัดเจ้าหน้าที่ดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด เป็นที่พึ่งทางใจของเหล่านักศึกษาพิการตั้งแต่ชั้นปี 1 จนสำเร็จการศึกษา เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ดูแลเป็นอย่างดี

“โดยเฉพาะพี่โอ๊ต หรือนางสาวปริยากร สบาย นักวิชาการศึกษา ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ กองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พี่โอ๊ตมีจิตอาสาการบริการให้แก่นักศึกษาพิการทุกคน จะคอยให้ความช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาในทุกเรื่องตั้งแต่เข้าปี 1 จนถึงวันรับปริญญา ขอบคุณจากใจมากจริงๆ” ปลายกล่าวย้ำ

บัณฑิตผู้พิการป้ายแดงท่านต่อมา นายไพฑูรย์ กุมแก้ว หรือ “อาร์ต” บัณฑิตวีลแชร์พลังบวก ทิ้งบัตรผู้พิการ ใช้ศิลปะสร้างตัว “อาร์ต” เป็นพี่ชายคนโต และมีน้องสาวที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ในครอบครัวเล็กๆ ที่ จ.อำนาจเจริญ อาร์ตชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่นเด็กทั่วไปมาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงวัยรุ่นราว 18-19 ปีเกิดอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ทำให้มีภาวะการเดินไม่แข็งแรง ผู้ปกครองตัดสินใจให้เรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น

แต่เรียนได้เพียงปีเดียว จึงคิดว่าต้องออกนอกกรอบไปเรียนที่โรงเรียนขามแก่นนคร ในชั้นมัธยม 5-6 ก้าวข้ามกำแพงคำว่า “ผู้พิการ” ออกมา และตัดสินใจทิ้งบัตรคนพิการ กระทั่งสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สำเร็จ เคราะห์ไม่ดีเกิดอุบัติเหตุตกบันไดอีกครั้ง เกิดอาการกระดูกทับเส้นประสาท ส่งผลให้ร่างกายท่อนล่างอ่อนแรงเฉียบพลันต้องนั่งวีลแชร์

อาร์ตเล่าว่า “ตอนนั้นเศร้าหนักมาก เพราะที่บ้านฐานะแย่ แถมมีน้องที่ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เป็นห่วงว่าใครจะดูแลพ่อกับแม่ ใครจะดูแลน้อง แต่ในที่สุดก็หลุดความรู้สึกนั้นมาโดยความคิดว่าแม้จะใช้เท้าเดินไม่ได้ ก็จะใช้ล้อนำทางเป็นเหมือนคนปกติ ที่สำคัญ ในตอนที่เรียนอยู่มีเพื่อนที่ดีมาก คอยซัปพอร์ตทุกเรื่องตั้งแต่ปี 1 เป็นขาแทน เป็นคนสอนทุกอย่าง พาไปกินข้าว พาไปเรียน จนถึงพากลับหอพัก

อาร์ตบอกอีกว่า “พี่โอ้ต เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ เป็นเหมือนแม่คนที่สอง ช่วยดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้ เป็นคนที่เข้าใจแต่ไม่ตามใจมาก ปล่อยให้พวกเราใช้ชีวิตอย่างเข้าใจว่าต้องโตไปเรื่อยๆ

กระนั้นก็ตาม แม้ฐานะทางบ้านจะไม่ค่อยดี แต่อาร์ตก็เลือกที่จะไม่ขอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ไม่กู้เงินยืมเรียน กยศ. เพราะเชื่อมั่นในตัวเองว่า “ยังไหว” ยังสามารถหารายได้เพื่อดูแลตัวเองขณะเรียนได้ อยากเก็บโอกาสไว้สำหรับคนที่แย่กว่า รายได้หลักของอาร์ตจึงมาจากการรับจ้างทำบีต (Beat) หรือดนตรีสังเคราะห์ โดยเอาความรู้สึกพูดออกไปเป็น Melody ผ่านผลงานศิลปะออกไปสร้างรายได้ อัดเป็นเนื้อร้องหรือแต่งเนื้อร้องให้ลูกค้า นอกจากนี้ยังรับงานวาดภาพ ตัดต่อวิดีโอ เขียนบท แต่งรูป

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8100 มือถือ 09-9394-4795

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://mgronline.com/local/detail/9640000125232

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *