ถอดโมเดลสานพลังผู้พิการ ร่วมกันปันวันละ 10 บาท สร้างการจ้างงานให้คนถัดไป

“…ภารกิจขับเคลื่อนการจ้างงานผู้พิการ ด้วยโมเดลวันละ 10 บาท ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะวิกฤตโควิด แต่เกิดขึ้นเพราะโครงการการจ้างงานผู้พิการ ของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จะดำเนินการครบแผน 3 ระยะ รวมเวลา 7 ปี จะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ และด้วยที่ผ่านมามีการหมุนเวียนของทุนผู้สนับสนุนอยู่ตลอด ดังนั้น ส.อ.ค.จึงอยากให้ผู้พิการหันมาพึ่งพาตนเองได้และไม่ต้องรอคอยการสนับสนุนทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆ ภายนอก ซึ่งไม่สามารถคาดหวังได้ด้วยความแน่นอน…”


กลุ่มผู้พิการเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด หลายคนโดนลดการจ้างงานหรือบางคนต้องตกงาน โดยจากการสำรวจของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้พิการเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าตำแหน่งงานของผู้พิการลดลงไป 15-20% โดยข้อมูลบริษัทธุรกิจเอกชนทั่วประเทศที่ต้องจ้างงานผู้พิการทั้งหมด 5.5 หมื่นคน พบมีการจ้างงานจริง 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้น

นอกจากผู้พิการจะได้รับผลกระทบนอกเหนือจากเรื่องเงินเดือนแล้ว สิ่งที่ทำให้เขามีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นที่พึ่งพิงให้กับครอบครัว การรู้สึกมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีได้หายไปด้วย 

ที่ผ่านมาการจ้างงานของผู้พิการส่วนใหญ่มาจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ พ.ศ.2550 โดยมาตรา 33 และกฎกระทรวงที่ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับผู้พิการ 

แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่นายจ้างส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการมากกว่าจ้างผู้พิการเข้าทำงาน นับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้พิการ ดังนั้นแล้วหากมีแนวทางอื่นมาสนับสนุนให้ผู้พิการได้รับการจ้างงานอย่างยั่งยืน จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ 

โดย น.ส.อาภาณี มิตรทอง ผู้ช่วยเลขาสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพผู้พิการไทย (ส.อ.ค.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.orgว่า ในช่วงวิกฤตโควิด เป็นช่วงที่กระทบกับการจ้างงานของผู้พิการที่ ส.อ.ค.ดูแลอยู่เป็นอย่างมาก จากจำนวนราว 3,000 คน มีผู้ที่รอจัดหางานกว่า 1,000 คน

อย่างไรก็ตามทาง ส.อ.ค.เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างการจ้างงานอย่างยั่งยืน จึงจัดทำ ‘โมเดลวันละ 10 บาท’ ให้ผู้พิการที่ได้รับการจ้างงานและทำงานได้ครบ 2 ปีแล้ว แบ่งปันเงินคนละ 10 บาท เพื่อให้สมาคมสามารถนำเงินดังกล่าวไปเป็นทุนพัฒนาต่อยอดกลไกสนับสนุนการจ้างงานผู้พิการที่ยั่งยืน ซึ่งต้องมีทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอ จึงจะขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 2,000 คน

“ภารกิจขับเคลื่อนการจ้างงานผู้พิการ ด้วยโมเดลวันละ 10 บาทนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะวิกฤตโควิด แต่เกิดขึ้นเพราะโครงการการจ้างงานผู้พิการ ของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จะดำเนินการครบแผน 3 ระยะ รวมเวลา 7 ปี จะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ และด้วยที่ผ่านมามีการหมุนเวียนของทุนผู้สนับสนุนอยู่ตลอด ดังนั้น ส.อ.ค.จึงอยากให้ผู้พิการหันมาพึ่งพาตนเองได้และไม่ต้องรอคอยการสนับสนุนทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆ ภายนอก ซึ่งไม่สามารถคาดหวังได้ด้วยความแน่นอน” น.ส.อาภาณี กล่าว

ถอดโมเดลวันละ 10 บาท

สำหรับกระบวนการของโมเดลวันละ 10 บาทนั้น น.ส.อาภาณี กล่าวว่า จะเป็นการเชิญชวนผู้พิการที่ได้รับรายได้จากการจ้างงานมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี ร่วมกันปันรายได้วันละ 10 บาท คิดเป็นเดือนละ 300 บาท หรือปีละ 3,600 บาท โดยผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอาจจ่ายเป็นรายเดือน แบ่งเป็นงวด เช่น 4 งวดต่อปี หรือจ่ายรายปีก็ได้ เพื่อให้ ส.อ.ค.มีทุนดำเนินงานให้ผู้พิการที่ดูแลอยู่นั้นได้เข้าถึงโอกาสในการทำงานและอาชีพต่อไป 

น.ส.อาภาณี กล่าวย้ำว่า โครงการโมเดลวันละ 10 บาทนี้ เป็นโครงการที่ให้ผู้พิการได้มาเข้าร่วมแบบสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับแต่อย่างใด ซึ่งหากใครไม่ได้ปันรายได้ ก็ขออย่ากังวลใจ เพราะตรงนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้พิการในอนาคตแน่นอน การจะได้รับจ้างงานต่อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของผู้พิการเอง 

ส่วนสาเหตุที่ต้องปันวันละ 10 บาทนั้น มาจากการสำรวจของผู้พิการและหน่วยประสานการจ้างงานผู้พิการในพื้นที่ (นจพ.) จำนวน 1,333 คน ระบุว่า ส่วนใหญ่ 79% พร้อมร่วมสนับสนุนโมเดลวันละ 10 บาท 

131164dis P02น.ส.อาภาณี มิตรทอง ผู้ช่วยเลขาสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพผู้พิการไทย (ส.อ.ค.)

จัดสรรเงินปันสร้างการจ้างงานยั่งยืน

น.ส.อาภาณี กล่าวอีกว่า เงินทุนที่ได้มาจากผู้พิการร่วมกันปันนั้น ทาง ส.อ.ค.จะนำไปใช้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของการจัดหางาน เริ่มจากการสื่อสารสังคม เพื่อสร้างวิธีคิดในการจ้างงานผู้พิการใหม่ว่า เป็นการจ้างงานที่มีคุณค่า มีศักยภาพ เหมือนกับคนทั่วไป ไม่ใช่การจ้างงาน เพราะเห็นว่าอยากให้โอกาสหรือช่วยเหลือผู้พิการเท่านั้น ซึ่งการสร้างวิธีเชิงกระแสหลักจะเปลี่ยนมุมมองทั้งผู้จ้างงานและผู้พิการ 

โดยผู้จ้างงานจะได้พนักงานที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันหรือทำงานได้เหมือนบุคคลทั่วไป ขณะที่ผู้พิการก็จะต้องยกระดับความสามารถของตนเองไปเรื่อยๆ ตรงนี้จะช่วยให้เกิดการจ้างงานยั่งยืน แก้ปัญหาที่ผู้จ้างงานหลายคนมักตั้งข้อสงสัยว่าจ้างงานผู้พิการแล้วจะได้ผลตอบลัพธ์อย่างไร ดีหรือไม่ หรือได้ประโยชน์ใดบ้าง

นอกจากนี้จะจัดสรรบางส่วนนำไปทำระบบติดตามผลงานการทำงานของผู้พิการรายเดือน ว่าแต่ละเดือนได้ทำอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้จ้างงานสามารถตรวจสอบได้ เป็นการรักษาอัตราการจ้างงานเดิม และเมื่อผู้พิการได้เปลี่ยนงาน ตรงนี้สามารถนำไปเป็นผลงานแสดงให้ผู้จ้างงานคนใหม่ได้เช่นเดียวกัน 

ขณะเดียวกันก็จะนำไปขยายอัตราใหม่ คือ ค้นหา ประสาน และเข้าพบบริษัทรายใหม่ และจะนำไปเป็นค่าตรวจสอบจัดเตรียมเอกสารในการสมัครงานให้กับผู้พิการ จนได้รับการจ้างงาน

131164dis P04

รวมพลังสร้างอาชีพคนพิการ

ด้านผลตอบรับโครงการโมเดลวันละ 10 บาท น.ส.อาภาณี กล่าวว่า มีผู้พิการจำนวนมากมาเข้ามาร่วมโครงการ  และต่างรู้สึกว่าการได้ช่วยปันรายได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการรายอื่นได้รับการจ้างงาน ได้มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รู้จักเติบโตและพัฒนาศักยภาพเหมือนเขาที่ได้รับโอกาสตรงนี้เช่นเดียวกัน 

“มีผู้พิการหลายคนที่ได้รับการจ้างงานแล้วสามารถพัฒนาตนเองจากเดิมเป็นคนทำสวน ขณะนี้ก้าวมาเป็นพนักงานดูแลเอกสาร หรือบางคนก็กลายเป็นพี่เลี้ยงสอนเด็กๆ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าความพิการไม่ได้กดทับความสามารถของเขา เขาได้เติบโตและพัฒนาศักยภาพจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้” น.ส.อาภาณี กล่าว

ผู้พิการจำนวนมากจึงเต็มใจปันรายได้ เป็นทุนให้ ส.อ.ค.มีทรัพยากรเพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้ระบบการจ้างงานนี้สามารถดำเนินการต่อไปในอนาคต เพื่อขยายปริมาณการจ้างงานเพิ่มขึ้นไปสู่ผู้พอการที่ยังรอคอยโอกาสอยู่ และยังช่วยรักษาโอกาสการมีงานทำให้แก่ผู้พิการที่ตั้งใจทำงานและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตามมีเพียงผู้พิการ 1% เท่านั้นที่ไม่ได้ร่วมโครงการดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการจ้างงานให้ยั่งยืน

131164dis P03วิทยา แก้วประสาร (ซ้าย) และ สาธิต โฆษิตวงศ์หิรัญ (ขวา)

ร่วมส่งต่อโอกาสให้เพื่อนผู้พิการด้วยกัน

ขณะเดียวกัน นายวิทยา แก้วประสาร และนายสาธิต โฆษิตวงศ์หิรัญ เคยให้ความคิดเห็นต่อการเข้าร่วมโครงการโมเดลวันละ 10 บาท ผ่านการไลฟ์สดทางเพจเฟซบุ๊ก สมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย เมื่อ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายวิทยา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการจ้างงานในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อไปอย่างไม่หยุดชะงัก ทำให้เพื่อนๆ ได้เข้าถึงโอกาส มีรายได้ มีอาชีพ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพอตนเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัวและสังคมอีกต่อไป และได้รับการยอมรับ ความเห็นอกเห็นใจในสังคมมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นายสาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการโมเดลวันละ 10 บาทนี้ ถือเป็นก้าวแรกของเรา ตนเองมองว่าหากเราไม่เริ่มทำกันตั้งแต่วันนี้ กลไลสร้างการจ้างงานอย่างยั่งยืนคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ 

ทั้งหมดนี้คือโมเดลการจ้างงานอย่างยั่งยืนที่ ส.อ.ค.ได้เริ่มแนวคิดรวมพลังพึ่งพาตนเอง สร้างโอกาสให้ผู้พิการด้วยกันเองมีอาชีพ หรือมีการงานที่มั่นคง ซึ่งไม่ได้ช่วยแค่เพียงผู้พิการรายเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยครอบครัวและสังคมรอบด้านอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8100 มือถือ 09-9394-4795

ขอขอบคุณข่าวสารจาก https://isranews.org/article/isranews-scoop/104162-isranews_news-29.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *