โอกาสทลายกำแพงสังคมญี่ปุ่นต่อผู้พิการ ที่มาพร้อมพาราลิมปิก

ตอนที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1964 นั้น สังคมญี่ปุ่นยังมองว่าผู้พิการคือคนที่ต้องได้รับความคุ้มครองดูแล ไม่ได้มองไปถึงว่าพวกเขาเล่นกีฬาได้ แต่แล้วญี่ปุ่นก็ต้องตกใจเมื่อเห็นนักกีฬาผู้พิการชาวตะวันตกสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง แถมเข้าสังคมอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่พิการด้วย ญี่ปุ่นเลยเล็งเห็นขึ้นมาว่าผู้พิการก็สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ พาราลิมปิกครั้งนั้นจึงถือเป็นก้าวแรกของญี่ปุ่นที่จะให้ผู้พิการกับผู้ไม่พิการได้อยู่ร่วมกัน มีการส่งเสริมให้ผู้พิการได้มีบทบาทในสังคม และสร้างสถานที่เล่นกีฬาเพื่อผู้พิการด้วย

แม้ว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นจะมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับผู้พิการบ่อยครั้งเพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น อีกทั้งมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้พิการสามารถไปไหนมาไหนและทำอะไรได้ไม่ลำบาก แต่ผู้พิการกับผู้ไม่พิการก็มักใช้ชีวิตแยกขาดจากกัน เช่น ผู้พิการเรียนในโรงเรียนของผู้พิการ ทำงานในบริษัทหรือร้านเพื่อผู้พิการ ทำกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้พิการ ไม่ค่อยเห็นผู้พิการกับผู้ไม่พิการอยู่ด้วยกันบ่อยนัก ทั้ง ๆ ที่จากสถิติแล้วประชากรญี่ปุ่นถึง 1 ใน 16 คนมีความบกพร่องทางกาย ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย

ภาพจาก homepro.jp
ภาพจาก homepro.jp

อาจเพราะผู้ไม่พิการในญี่ปุ่นแทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับผู้พิการในชีวิตประจำวันเช่นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้คนในสังคมมองผู้พิการด้วยความรู้สึกแปลกและเข้าใจพวกเขาผิดได้ง่าย เช่น มองว่าพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก หรือต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่นเสมอ และเมื่อจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้พิการก็ทำตัวไม่ถูก

ญี่ปุ่นมองว่าต่อให้สามารถสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเพื่อผู้พิการได้มากแค่ไหน มีกฎหมายคุ้มครองผู้พิการที่ดีขึ้นเท่าใด แต่ถ้าหากคนในสังคมยังไม่เข้าใจผู้พิการ รวมทั้งไม่เข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกับคนที่ต่างจากตัวเองได้อย่างไร ความพยายามของญี่ปุ่นก็จะไม่เกิดประโยชน์มากนัก ญี่ปุ่นจึงหันมาให้ความสำคัญกับปรับทัศนคติของคนในสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความต่างระหว่างบุคคล เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งญี่ปุ่นเรียกสิ่งนี้ว่า “barrier-free mind” (心のバリアフリー) หรือหมายถึง “ใจที่ปราศจากอคติ” และในขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับคนทุกกลุ่ม ซึ่งเรียกกันว่า “universal design” (การออกแบบเพื่อทุกคน) ไปพร้อม ๆ กันด้วย

การออกแบบในลักษณะของ universal design ไม่ได้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้พิการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นในสังคมญี่ปุ่นด้วย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ชาวต่างชาติทั้งที่อาศัยอยู่และเข้ามาท่องเที่ยว รวมไปถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) อย่างห้องน้ำ multifunctional toilet ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานได้หลากหลายตามความจำเป็นเฉพาะของแต่ละคน ก็ช่วยให้ผู้นั่งวีลแชร์ คนข้ามเพศ หรือผู้ป่วยที่ใช้ทวารเทียม เป็นต้น สามารถใช้ห้องน้ำนี้ได้โดยสะดวกใจ หรือราวจับตามทางเดินก็ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพยุงตัวเวลาเดิน อักษรเบรลล์บนราวจับหรือวัตถุอื่น ๆ ก็ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใจการใช้งาน และยังมีการใช้ป้ายให้ข้อมูลหลายภาษาในสถานีรถไฟเพื่อคนต่างชาติ เป็นต้น ดังนั้นแนวคิดจากพาราลิมปิกที่จะสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความต่าง จึงเผื่อแผ่ไปถึงการรองรับวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความต้องการต่างกันได้หลายกลุ่มทีเดียว

ในส่วนของการปรับทัศนคติสังคมให้เป็น barrier-free mind (ใจที่ปราศจากอคติ) นั้น รัฐบาลให้การศึกษากับเด็กนักเรียนทุกชั้นวัยในโรงเรียน มีการฝึกอบรมแก่พนักงานบริษัทและข้าราชการ รวมทั้งขอให้ภาครัฐและท้องถิ่นต่าง ๆ ร่วมมือกันสร้างความเข้าใจเรื่อง barrier-free mind ในท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ทำสื่อการเรียนรู้ และให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานด้านผู้พิการร่วมมือกันเผยแพร่การศึกษาเรื่อง barrier-free mind แก่ประชาชน

ภาพจาก syunsi2.exblog.jp
ภาพจาก syunsi2.exblog.jp

ตัวอย่างสื่อการศึกษาเรื่อง barrier-free mind ของจังหวัดฟุกุโอกะ
วงกลมสีชมพูบ่งบอกถึง “สิ่งกีดขวาง” หรือ “อุปสรรค” (barrier) ที่คนแต่ละกลุ่มเจอ
1.คนท้อง คนป่วย ไม่ได้ที่นั่งบนรถไฟ
2.ผู้นั่งวีลแชร์ไม่สามารถขึ้นรถได้ เพราะมีรถอื่นไปจอดในที่จอดรถผู้พิการและล้ำเส้น
3.ผู้พิการทางสายตาไม่รู้ว่าควรข้ามถนนหรือไม่ เพราะไม่มีสัญญาณจราจรที่มีเสียงบอก
4.ผู้นั่งวีลแชร์ ผู้สูงอายุ พ่อแม่ที่ใช้รถเข็นเด็กไม่สามารถใช้ลิฟต์ได้เพราะคนทั่วไปมารอใช้กันแน่น
5.ผู้นั่งวีลแชร์หยิบของบนชั้นวางไม่ถึง
6.มีเด็กมาวิ่งเล่นขวางทางผู้พิการที่ต้องใช้สุนัขนำทาง
7.ผู้สูงอายุไม่มีแรงผลักประตูเข้าร้านค้า
8.มีรถจักรยานมาจอดขวางทางเดินของผู้พิการทางสายตา

ทางออกสู่ barrier-free mind

หลายฝ่ายชี้ว่า barrier-free mind จะเกิดขึ้นได้จริงต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สังคมมองผู้พิการ ไม่ใช่มองว่าพวกเขา “แปลกแยกจากคนอื่น” หรือ “ต้องการความช่วยเหลือตลอดเวลา” แต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เจออุปสรรคในชีวิตประจำวันเยอะเพราะ “กำแพง” ที่สังคมสร้าง ดังนั้นจึงน่าจะมองพวกเขาแบบเดียวกับที่มองคนอื่น ๆ ทั่วไป

ผู้ดูแลโครงการ “ทำอิเสะ-ชิมะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไร้สิ่งกีดขวางอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น” เล่าว่า barrier-free mind ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการออกแบบให้ไร้สิ่งกีดขวาง (barrier-free design) เสมอไป แต่อยู่ที่ความมีแก่ใจคิดถึงคนอื่น เขาเล่าถึงร้านอุด้งเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวว่า พอพนักงานเห็นผู้นั่งวีลแชร์เข้ามาที่ร้าน เขาก็แค่ดึงเก้าอี้ออกไปสองตัวเพื่อให้เลื่อนวีลแชร์เข้าไปนั่งได้ แค่นี้ก็เป็น barrier-free mind ได้แล้ว ในขณะที่ร้านอาหารอื่นส่วนใหญ่พอเห็นลูกค้าพิการมาก็ลนลานทำอะไรไม่ถูก บ้างก็ปฏิเสธไม่ให้เข้าร้าน แต่ที่ร้านอุด้งนั้นทำได้อาจเป็นเพราะเห็นนักท่องเที่ยวที่ใช้วีลแชร์จนชิน เลยเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ภาพจาก jalan.net
ภาพจาก jalan.net

ญี่ปุ่นมองว่ายิ่งคนทั่วไปคุ้นเคยกับผู้พิการมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าพวกเขาก็คนคนหนึ่ง ไม่ได้แตกต่างเป็นพิเศษจากตัวเอง อคติในใจก็น่าจะลดลงทีละน้อย รวมทั้งจะรู้เองว่าควรจะปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไรด้วย ที่ผ่านมาญี่ปุ่นจึงพยายามสร้างโอกาสให้ผู้พิการกับไม่พิการได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

อย่างบางอำเภอก็ตั้งเป้าจะเป็นเมืองที่ผู้พิการและไม่พิการสามารถอยู่ร่วมกันได้ จึงจับมือกับองค์กรอิสระทำโครงการเชิญชวนผู้พิการให้ลองมาทำงานนอกสถานที่ซึ่งจัดขึ้นทุกสัปดาห์ เช่น ในงานแข่งขันกีฬาหรืองานแสดงดนตรี โดยให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชมบ้าง แจกของบ้าง จัดแถวบ้าง บางทีก็มีคนไร้บ้านจากศูนย์ช่วยเหลือมาร่วมทำงานด้วย การให้โอกาสพวกเขาได้ออกมาทำงานนอกสถานที่เช่นนี้ ทำให้พวกเขาได้เปิดหูเปิดตา รู้จักคนใหม่ ๆ ได้มุมมองใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของพวกเขา พร้อมกับเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้พบเจอและรู้จักผู้พิการด้วย

ญี่ปุ่นทราบดีว่านี่เป็นโจทย์ระยะยาว จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของคนทั้งสังคมแบบไม่ขาดตอนทั้งในโรงเรียน ที่ทำงาน โรงพยาบาล ที่สาธารณะ ในครอบครัว แหล่งจับจ่ายซื้อของ ร้านอาหาร สถานกีฬา และสถานที่เชิงวัฒนธรรม อย่างในโรงเรียนก็ต้องให้เด็กพิการกับไม่พิการเรียนร่วมกันได้ เป็นต้น

สังคมไทยกับผู้พิการ
ประเทศไทยก็มีความพยายามสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการมากขึ้น แต่จากมุมมองของผู้พิการแล้วยังถือว่ามีสิ่งที่ยังขาดอีกมาก อีกสิ่งหนึ่งที่เราน่าจะทำควบคู่กันไปคือ หันมามองเรื่องการปรับทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้พิการด้วยแบบที่ญี่ปุ่นพยายามทำ คือแทนที่จะมองว่าพวกเขาคือผู้ด้อยโอกาส ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือทำได้แค่งานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก เราน่าจะให้การศึกษาแก่คนในสังคมว่าจริง ๆ แล้วพวกเขามีศักยภาพที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้มากกว่าที่เราเคยคิดเคยเข้าใจแค่ไหน และเราแต่ละคนอยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

สตาร์บัคส์ญี่ปุ่นมีพนักงานที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน ภาพจาก starbucks.co.jp
สตาร์บัคส์ญี่ปุ่นมีพนักงานที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน ภาพจาก starbucks.co.jp

ฉันอยากให้เพื่อน ๆ ลองอ่านบทความ “ใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นอย่างไรสำหรับผู้พิการ” ของบีบีซีไทยดูค่ะ เป็นบทความที่อ่านง่าย บอกสถานการณ์ของผู้พิการในไทยอย่างเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในการเดินทาง การศึกษา โอกาสด้านการงาน และการทำกิจกรรมบันเทิง มีคลิปวีดีโอสั้นสัมภาษณ์ความเห็นของพวกเขาไว้ด้วย

ผู้พิการทางสายตาคนหนึ่งสรุปไว้ว่า “ไม่ได้ร้องขอว่าการทำผังเมือง ถนน หรือระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ คุณจะต้องทำเพื่อผู้พิการ แต่อยากให้คุณทำเพื่อคนทุกคน เพราะผู้พิการก็คือหนึ่งในคนทุกคน ถ้าคนทุกคนใช้ได้ ผู้พิการก็จะใช้ได้ แนวคิดมันก็แค่นี้”

อ่านแล้วจะเห็นว่า universal design และ barrier-free mind ที่ญี่ปุ่นพยายามทำ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้พิการในไทยด้วยเช่นกัน ถ้าประเทศเราช่วยกันหาทางให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ทั่วไป คนที่ได้ประโยชน์จะไม่ใช่แค่ผู้พิการเท่านั้น แต่ทั้งสังคมจะมีคุณภาพและศักยภาพสูงขึ้น และประเทศเราจะพัฒนาจากจุดที่เป็นอยู่ได้อีกมาก

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8100 มือถือ 09-9394-4795

ขอขอบคุณข่าวสารจาก https://mgronline.com/japan/detail/9640000106856

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *