นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสังคมฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ได้กล่าวว่า ๑.แนวทางในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัวอย่างไรจึงประสบ
ความสำเร็จ : ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่สุด ตนเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อให้สิทธิลูกทุกคนเท่าเทียมกัน เดิมก่อนมาทำงานด้านสังคม ไม่เคยมองว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศเลย ได้เริ่มทำงานภาคธุรกิจ หลังจากนั้นได้เริ่มทำงานช่วยเหลือสังคมโดยการชักชวนจากนางกีระณา สุมาวงศ์ ซึ่งเมื่อลงพื้นที่ทำให้ได้รับทราบประเด็นปัญหามากขึ้น เช่น ผู้หญิงถูกทำร้ายจากคนในครอบครัว เนื่องจากต้องพึ่งพารายได้จากผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว จึงได้เข้ามาทำงานด้านสังคมคู่ขนานกับงานปกติที่ทำอยู่
๒.ปัญหาใหญ่ด้านสตรีในสังคมไทยคือปัญหาใด : ๑) ผู้หญิงถูกทำร้ายจากคนในครอบครัว เนื่องจากต้องพึ่งพารายได้จากผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ๒) การให้โอกาสการศึกษากับเพศชายมากกว่าเพศหญิงเช่น ครอบครัวที่ยากจน หากสามารถส่งเสียลูกให้เรียนหนังสือได้ ๑ คนจะเลือกส่งเสียผู้ชายก่อนโดยมีความเชื่อว่าผู้หญิงสามารถไปหาสามีรวยได้แต่ผู้ชายต้องเป็นคนที่สร้างครอบครัว และ ๓) การบ่มเพาะเลี้ยงดูของครอบครัวที่ปลูกฝังให้ผู้ชายมีสถานะเหนือกว่าผู้หญิง ๓.ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่หรือไม่ อย่างไร: ปัจจุบันหัวข้อของปัญหาที่เกิดขึ้นยังเป็นรูปแบบเดิม แต่สาเหตุของปัญหาอาจแตกต่างไป
๔.มุมมองของท่านต่อบทบาทสตรีไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ : สตรีไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิด เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไปตามยุคสมัย ต้องมีความใฝ่รู้ เข้าใจความเปลี่ยนแปลง และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้โดยที่ยังคงความเป็นตัวตนอยู่ ตลอดจนการได้รับโอกาส ๕.ประเด็นสตรีไทยกับการเข้าสู่การเมือง:โอกาสของผู้หญิงในการเข้าสู่การเมืองยังมีน้อย เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัว และทัศนคติของผู้หญิงด้วยกันเองที่ยังมองว่าการเมืองเหมาะกับผู้ชายมากกว่า ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับการเลือกจากประชาชน ทั้งที่ประชากรผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการพยายามผลักดันให้มีระบบโควตาสำหรับผู้หญิงในระบบบัญชีรายชื่อ แต่พรรคการเมืองเกรงว่าจะไม่สามารถหาผู้หญิงได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ประเด็นดังกล่าวจึงตกไป ส่วนสมาชิกวุฒิสภาได้มีการผลักดันให้มีกลุ่มสตรีกลุ่มหนึ่ง แต่ผลักดันไม่สำเร็จ
ดังนั้น การจะผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่แวดวงการเมืองมากขึ้นจะต้องเริ่มจากการสนับสนุนผู้หญิงที่เก่งและมีความสามารถได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองเพื่อให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายอันทำให้การออกกฎหมายได้รับมุมมองที่ครบถ้วนและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวว่า
๑.แนวทางในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัวอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ : การจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ต้องประกอบด้วย ๔ เรื่อง คือ ๑) ค้นหาตัวเอง ๒) โชคชะตา๓) โอกาส และ ๔) ความทุ่มเท สมัยเด็กอยากเรียนโบราณคดี แต่พ่อขอไม่ให้เรียนจึงตัดสินใจสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ หลังจากเรียนจบได้เริ่มทำงานภาคเอกชน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการปฏิรูปการเมืองจึงสนใจอยากเป็นนักการเมือง แต่ใจไม่ถึงจึงได้มาสมัครทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเป็นระยะเวลา ๑๔-๑๕ ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิต เพราะได้เรียนรู้โครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งระบบ ทำให้ค้นพบว่าตนเองชอบทำงานด้านนี้มาก หลังจากนั้นรัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จึงได้เข้าไปทำงาน และต่อมาได้เข้ามาเป็นนักการเมืองในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๒.มุมมองของท่านต่อบทบาทสตรีไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐: การดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ จะมีความรู้สึกอยากมีตัวตน และทำในสิ่งที่รัก ไม่ได้ประกอบอาชีพตามสาขาวิชาที่เรียนจบมา มีการพึ่งพาและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการทำให้ก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา รู้จักใช้เทคโนโลยี เรียนรู้ภาษา ต้องรักในสิ่งที่ทำและมีมุมมองต่อปัญหาในเชิงบวก และการเรียนรู้ในยุคนี้เป็นรูปแบบ Learning by Doing คือการเรียนรู้โดยการลงมือทำมากขึ้นเมื่อเรียนรู้แล้วต้องลงมือปฏิบัติควบคู่กันด้วยจึงจะประสบความสำเร็จในอนาคตเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศอาจจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เว้นแต่บางอาชีพเท่านั้นที่ยังคงมีการตั้งคำถามอยู่ เช่น นักการเมือง การเป็นนักการเมืองไม่ได้ง่ายต้องเข้าใจการทำงาน และการมีครอบครัวก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ๑.แนวทางในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัวอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ : ตนเติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเรียนเก่งมาโดยตลอด ไม่ได้มีความรู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายทำให้เกิดความแตกต่างทางเพศแต่อย่างใด การจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเอง ต้องภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น รู้จักค้นคว้าหาความรู้และเปิดโอกาสให้ตัวเอง ผู้หญิงผู้ชายทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตนเริ่มทำงานที่กระทรวงการคลังเป็นระยะเวลา ๓ ปี และย้ายไปทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยส่วนตัวชอบทำงานเอกชนจึงได้ทำงานเอกชนมาตลอด รู้สึกสนุกในการทำงานและทำงานเต็มที่มาโดยตลอด ทำให้ผลงานที่ออกมาดี สรุปเราต้องมีความมั่นใจภาคภูมิใจ๒.จากการสังเกตพบว่าผู้หญิงที่โดดเด่นและเป็นผู้หญิงแถวหน้าได้จะต้องเป็นผู้หญิงที่ทำงานหนักกว่าผู้ชาย: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและบริษัทสมาชิกส่วนใหญ่ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิง หลายหน่วยงานมีผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้หญิงแถวหน้ามากขึ้น ซึ่งผู้หญิงที่จะอยู่แถวหน้าได้จะต้องเป็นผู้หญิงที่มีความโดดเด่นและทำงานหนักกว่าผู้ชาย และในอนาคตจะมีผู้หญิงก้าวมาสู่ระดับสูงมากขึ้น โดยส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนว่าผู้หญิงจะต้องเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกเรื่อง แต่ผู้หญิงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชาย ๓.มุมมองของท่านต่อบทบาทสตรีไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ UN Women Asia and the Pacific และสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย จัดงาน “Ringthe Bell for Gender Equality ๒๐๑๘” ลั่นระฆังสร้างความเท่าเทียมในวันพฤหัสบดีที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากกว่า จะเห็นได้จากมีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงมานานแล้ว แต่ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีนยังมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในระดับสูงน้อยอยู่ สำหรับประเทศไทยเริ่มมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในระดับสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาในต่างประเทศ สตรีที่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการ จะมีความรอบคอบในการทำงาน และอัตราการโกงน้อย
สตรีไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ต้องเรียนหนังสือและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การเรียนในระบบอาจไม่เพียงพอ ต้องแสวงหาความรู้อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษา และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น
นางสาววิปัญจิต เกตุนุติ ผู้ประสานงานโครงการด้านผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวว่า๑.แนวทางในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัวอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ : ตนเติบโตมาในครอบครัวสายนักการทูตมีน้องชาย ๒ คน ไม่ได้มีความรู้สึกแตกต่างทางเพศ ภายหลังจากเรียนจบจากต่างประเทศได้เดินทางไปศึกษาความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนต่อ ๖ เดือน ทำให้ได้มีโอกาสเจอผู้คนที่มีชีวิตลำบากยากจน จึงกลับมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ได้เริ่มงานที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund – UNICEF) จากการทำงานค่ายผู้ลี้ภัยชาวพม่า ผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ พบว่าผู้หญิงประสบความลำบากมากกว่าผู้ชาย หลังจากนั้นได้มาทำงานที่องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ(UN Women) UN Women ทำงาน ๒ ส่วนคือ ๑) ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และ ๒) เสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้หญิง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ด้อยพัฒนา ยากจน หรือในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงให้ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตลอดจนทำให้ผู้ชายตระหนักและยอมรับบทบาทของผู้หญิงมากขึ้น โดยธีมงานวันสตรีสากลของปีนี้ คือ “Time is Now : Rural and urban activists transforming women’s lives” ๒.UN Women คิดว่ายังมีผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ยังตกหล่น เช่น เรียนน้อย ฐานะยากจน อยู่ใช่หรือไม่ : ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ส่วนบทบาทผู้หญิงกับการเมืองไทยพบว่ายังมีบทบาทน้อยเมื่อเทียบกับด้านอื่น ๆเนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งหรือผู้ยังไม่มั่นใจการทำงานผู้หญิง ๓.มุมมองของสหประชาชาติต่อประเทศไทย สถานภาพของผู้หญิงไทยในสายตาประชาคมโลก : สถานภาพของผู้หญิงไทยในเวทีโลกได้รับการยอมรับและมีบทบาทมากขึ้น ดัชนีตัวเลขความเท่าเทียมหญิงชายโลก (Global Gender Index) ของประเทศไทยอยู่ที่ ๗๕ อยู่เกณฑ์ดี ๔.UN Women ได้เคยตั้งเป้าหมายหรือนิยามของบทบาทผู้หญิงในอนาคตไว้หรือไม่: ตัวอย่างผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บทบาทของผู้หญิงยังมีน้อยอยู่ ซึ่งต่อมาผู้หญิงได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ผู้ชายเริ่มมีความตระหนักและยอมรับมากขึ้น และให้สิทธิหรือให้โอกาสผู้หญิงมาทำงานมากขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้หญิงชนบทมีสิทธิมีเสียงกลับขึ้นมา และชุมชนยอมรับ ตลอดจนสร้างความตระหนักให้กับผู้ชายด้วย ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้จะต้องเพิ่มศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงเพื่อให้ผู้หญิงสะท้อนปัญหาขึ้นมา ตลอดจนให้สังคมยอมรับและผลักดันต่อไป
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6 แฟกซ์ 02-831-9226
ขอบคุณ: http://www.naewna.com/lady/columnist/35117