องค์กรด้านผู้หญิงของฝรั่งเศส เร่งแก้ปัญหาหลังพบ 80% ของหญิงพิการเผชิญความรุนแรงหลายด้าน

ปัจจุบันประชากรโลกให้ความสำคัญกับเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมมากขึ้น โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชาย-หญิง ที่กลายเป็นหัวข้อสำคัญในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมในสังคมของโลกยุกโลกาภิวัตน์ แต่กระนั้นเองก็ยังมีความไม่เท่าเทียมที่ถูกกดทับยิ่งกว่าคือความเป็นหญิงและความพิการ

วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีคือวันสตรีสากล เป็นวันที่ทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิสตรีและความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่ผู้หญิงถูกกระทำ ในประเทศฝรั่งเศสมีองค์กรจำนวนมากที่ออกมารวมตัว เดินขบวน และถกเถียงในพื้นที่สาธารณะถึงสิ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญ รวมถึงทัศนะเกี่ยวกับผู้หญิงพิการที่อยู่ในภาวะถูกกดทับ ‘ซ้ำซ้อน’ จากความไม่สมบูรณ์ทางกายภาพ

ข้อมูลจากมูลนิธิให้คำปรึกษาคนพิการแห่งฝรั่งเศส (Conseil français des personnes handicapées. Pourtant) กล่าวว่า ในประเทศฝรั่งเศสร้อยละ 80 ของผู้หญิงพิการในประเทศนี้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง โดยร้อยละ 35 เกิดขึ้นในบ้านของหญิง พิการเอง โดยสมาชิกในครอบครัวที่ไม่พิการ

องค์กรสตรีในฝรั่งเศสกล่าวว่า ไม่มีการแบ่งแยกการเรียกร้องเกี่ยวกับผู้หญิง ‘ทั่วไป’ กับผู้หญิง ‘พิการ’ เพราะผู้หญิงคือผู้หญิง อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ความพิการเป็นจุดอ่อนหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะแวดล้อมภายนอกหรือสภาวะส่วนบุคคล เช่น การรับรู้ กายภาพ จิตใจ ซึ่งในบางครั้ง สิ่งเหล่านี้ถูกอ้างว่าเป็นความอ่อนแอ จนทำให้คนที่มีภาวะเช่นนี้ขาดอิสรภาพ เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ และไม่สามารถนำตัวเองออกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้

หลายๆ สมาคมในฝรั่งเศษพยายามแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในหญิงพิการ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในวงการถกเถียงนั้นยังไม่มีผู้หญิงพิการมากพอที่จะขับเคลื่อนปัญหาของผู้หญิงพิการโดยตรง จากการเพิกเฉยปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดองค์กรสตรีที่มีชื่อว่า Femmes pour le Dire, Femmes pour Agir ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเพื่อผู้หญิงพิการในฝรั่งเศส ที่เน้นให้สังคมเข้าใจและตระหนักถึงการกีดกั้นที่ผู้หญิงพิการเผชิญมากเป็นสองเท่า

Femmes pour le Dire, Femmes pour Agir (FDFA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 โดยโมดี ปีโยต์ (Maudy Piot) FDFA เป็นสมาคมเฉพาะกิจด้านผู้หญิงพิการของฝรั่งเศส ในปี 2558 สมาคมได้เปิดบริการสายด่วนหมายเลข 01 40 47 06 06 เพื่อรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมของผู้หญิงพิการทั่วทั้งฝรั่งเศส และอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Violences du silence ภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงพิการ 8 คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

อย่างไรก็ดี FDFA ไม่ได้มีเพียงกิจกรรมและการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผู้หญิงพิการเท่านั้น แต่ยังสร้างความร่วมมือกับศูนย์ Centre Hubertine Auclert ซึ่งทำงานด้านสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับผู้หญิงพิการ ทั้งยังสนับสนุนให้ผู้หญิงพิการออกมามีส่วนร่วมและเคลื่อนไหวในสมาคมสตรีมากขึ้น

ไม่ใช่แค่ในฝรั่งเศส ทว่าประเทศอื่นๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกับหญิงพิการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และมีการเคลื่อนไหวด้านผู้หญิงพิการที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน เช่น ในประเทศสเปน มีองค์กรที่ชื่อว่า Dones no estàndards  ก่อตั้งในปี 2538 โดยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ โดยได้รับการสนับสนุนจากศาลากลางเมืองบาเซโลนา หรือในประเทศออสเตรเลีย มีสมาคมส่งเสริมสิทธิและผู้หญิงพิการที่ชื่อว่า WWDA (Women with disabilities Australia) ซึ่งส่งเสริมให้ผู้หญิงพิการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคม แม้แต่ในประเทศอินเดีย องค์กรเอ็นจีโออย่าง Rising Flame ก็พยายามขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในเด็กผู้หญิงและผู้หญิงพิการ เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร ที่มีองค์กรชื่อว่า Sisters of Frida โดยมีเป้าหมายหลักในการให้ความสำคัญและเสรีภาพของผู้หญิงพิการ

จาก 8 มีนาคม สู่แรงบันดาลใจเพื่อหญิงพิการ 8 พฤศจิกายนของฝรั่งเศส

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ประเทศฝรั่งเศสจะจัดงาน Femme et handicap : pour en finir avec cette double peine dans le travail หรือผู้หญิงและความพิการ : การกดขี่ที่เพิ่มเป็นเท่าตัวในโลกของการทำงาน ประเด็นที่น่าสนใจนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักโดย LADAPT (Association pour l’insertion sociale et professionnelle des personnes handicapées)  สมาคมที่มุ่งเน้นให้บริการแก่คนพิการในด้านสุขอนามัย สาธารณสุขชุมชน และการทำงาน พวกขำงานเพื่อลดการถูกแบ่งแยกและถูกกีดกันในสังคมการทำงาน มีการเก็บข้อมูลตัวเลขอย่างเป็นทางการเพื่อยืนยัน เพื่อให้สาธารณชน สถาบันต่างๆ หน่วยงานภาคเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงพิการอย่างจริงจัง และในสัปดาห์แรงงานคนพิการแห่งชาติยุโรป (la (Semaine européenne pour l’emploi des personnes handicapées : SEEPH) ครั้งที่ 22 ที่ผ่านมา องค์กรทั้งสองได้ประกาศเจตจำนงและความมุ่งหมายของงานวันที่ 8 พฤศจิกายน นี้ ให้กับสาธารณชนได้ร่วมรับรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งอีกด้วย

 

ขอบคุณ: https://thisable.me/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *