ส่องถนนชนบทสร้างใหม่ รับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

 

อัพเดตถนนชนบทสร้างใหม่ รองรับการกลับมาของเศรษฐกิจไทย

 

ในอดีตมีคนชอบพูดว่าที่ไหนถนนหนทางดี ที่นั่นย่อมเป็นที่ที่เจริญแล้ว ครั้งนี้ “มติชนออนไลน์” จะมารีวิวพร้อมอัพเดตโครงการพัฒนาถนนของ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่าจะมีโครงการใดที่น่าสนใจบ้าง

 

เริ่มกันที่ การก่อสร้างถนนสาย ง, ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม (ถนนพนมนาคราช) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดแม่น้ำโขง และมีเขตชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศลาวอีกด้วย ทช.จึงได้ใชงบประมาณในการก่อสร้างรวม 256 ล้านบาท ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวระหว่างไทยและลาว รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต แก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตเมือง เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางในพื้นที่ในจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว

 

มาต่อกันที่ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1019 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4-บ้านปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การก่อสร้างในครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยในการสัญจรอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 113 ล้านบาท ซึ่งไฮต์ไลท์สำคัญคือการสร้างสะพานลอยให้คนเดินข้ามทางรถไฟ พร้อมทางลาดสำหรับคนพิการ 1 แห่ง กว้าง 2.50 เมตร โดยคาดว่าจะก่อสร้าง และเปิดให้ประชาชนใช้งานได้ภายเดือนพฤษภาคมนี้

 

ปิดท้ายด้วย การก่อสร้างถนนเชื่อมเข้าทางเข้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอและอำนวยความสะดวกปลอดภัยในทุกฤดูกาลให้แก่ชาวไทยภูเขา ปัจจุบันแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน ดังนี้

 

ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นบ้านป่าไร่ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก สิ้นสุดโครงการที่บ้านเลอตอ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ตื่น ระยะทาง 44 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 246 ล้านบาท หากแล้วเสร็จจะช่วยร่นเวลา​เดินทางจากเดิม 5 ชั่วโมง​ เหลือเพียง 3 ชั่วโมง

 

ตอนที่ 2 จุดเริ่มต้น กม.ที่ 44+602 ที่บ้านเลอตอ หมู่ที่ 13 บ้านแม่ตื่นน้อย ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สิ้นสุดโครงการ กม.ที่ 74+032 ระยะทาง 29 กม. คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 244 ล้านบาท หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยร่นเวลา​การเดินทางจาก 3 ชั่วโมง​ เหลือเพียง 2 ชั่วโมง และช่วยให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย

 

เห็นได้ว่าการพัฒนา ก่อสร้างถนน และโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ส่วนใหญ่วางแผนให้มีการเชื่อมต่อทางการค้า การท่องเที่ยว และเป็นการสร้างประโยชน์แก่คนในพื้นที่ให้ได้มีการสัญจรที่ดีขึ้น แม้ตอนนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดลง แต่ถือว่ารัฐปูทางไว้ได้ดี เชื่อว่าเมื่อถนนดี การเดินทางสะดวก ไทยก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกหลักที่ต่างประเทศจะเข้ามาท่องเที่ยวและทำการค้าด้วยอย่างแน่นอน

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.matichon.co.th/economy/news_2596058

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *