กคช.ผนึกรัฐวิสาหกิจ-แบงก์ตั้งบริษัทลูก ‘เคหะเอสเตท’ เข็น 5 โครงการ สร้างบ้านดูแลผู้มีรายได้น้อย

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์

 

เปิดพันธกิจเร่งด่วน ผู้ว่าฯ การเคหะฯ “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์” เดินหน้าจัดประโยชน์สินทรัพย์ให้ดีขึ้น กคช.ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ พร้อมผนึกบริษัทลูก รสก. แบงก์ออมสิน บริษัทประกัน ตั้งบริษัทลูก “บมจ.เคหะสุขประชา” ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ นำร่อง 5 โครงการสำคัญ บรรเทาความเดือนร้อนจากโควิด-19 ดึงกลับโมเดลพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส ทั้งโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เฟส 3 และ 4 มูลค่า 30,000 ล้านบาท ร่มเกล้า และแปลงหนองหอย จ.เชียงใหม่ หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากไวรัสระบาด เข็นแพกเกจช่วยเหลือลูกค้า เผยออกบอนด์ 6,800 ล้านบาท รีไฟแนนซ์หนี้เก่า ลดภาระดอกเบี้ย เสริมศักยภาพออกโปรโมชันช่วยลูกค้า

 

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2564 ว่า จะให้ความสำคัญกับ 5 โครงการที่จะส่งเสริมและดูแลผู้มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศได้มีที่อยู่อาศัย โดยจะมีการปรับรูปแบบโครงการ (Re-Business) เน้นบ้านเช่าราคาถูกช่วยเหลือสังคม ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชา และเศรษฐกิจสุขประชา จำนวน 20,000 หน่วย (แผน 1 แสนหน่วย) โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เกษียณอายุ “บ้านเกษียณสุข” โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) โครงการที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงข่ายคมนาคม (TOD) และโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐให้เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมึคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” (Housing For All)

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ กคช.สามารถขับเคลื่อนภารกิจให้สำเร็จและเกิดความคล่องตัวมากที่สุด จึงได้มีการเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการจัดตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ “บมจ.เคหะสุขประชา” (Keha Estate Development Public Company Limites) ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ในการเข้ามาดูแลโครงการต่าง ๆ รวมถึง 5 โครงการที่จะต้องดำเนินการในปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2566 โดยโครงสร้างจะมีความคล่องตัวในการทำงาน และต้องสนับสนุนพันธกิจในการดูแลผู้อยู่อาศัยและชุมชน รวมถึงต่อยอดการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัย และดูแลโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีอยู่ ซึ่ง กคช.จะถือหุ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 49% และมีบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และบริษัทประกัน เป็นต้น

 

“เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ปีนี้จะมีการปรับปรุงจัดประโยชน์แอสเสทให้มากขึ้น ในส่วนของบริษัทลูกก็จะมาเสริมให้ กคช. คล่องตัวขึ้น โดยที่ธนาคารออมสินมีความสนใจที่จะเข้าร่วม ซึ่ง กคช.คงต้องถอยการถือหุ้นมาอยู่ระดับ 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ บริษัทลูก สามารถต่อยอดธุรกรรมเพิ่มเติม เช่น จัดตั้งบริษัทลูกแห่งใหม่ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ เพื่อร่วมกันบริหารสินทรัพย์ให้มีคุณภาพมากขึ้น”

 

 

สำหรับในปี 2564 การเกิดระบาดระลอกใหม่ ทาง กคช.ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าใหม่ผ่าน 3 รูปแบบโปรโมชัน ไปสิ้นสุด 31 มิถุนายน 2564 ได้แก่ โปรโมชันดอกเบี้ยเช่าซื้อ 0% เป็นเวลา 1 ปี โปรโมชันลดราคา โครงการบ้านเอื้ออาทร 56 โครงการ กำหนดราคาขายเงินสดหน่วยละ 250,000-520,000 บาท และเช่าราคาพิเศษ 999-1,200 บาทต่อเดือนในปีแรก จำนวน 84 โครงการ เป็นต้น

 

“เราไปเห็นบริษัทอสังหาฯ แห่งหนึ่งจัดโปรอยู่ฟรี 3 ปี ซึ่ง เป็นแนวทางที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยของ กคช. ได้ เช่น การผ่อนแบบบอลลูน หรือ Balloon Payment คือ แบ่งเบาภาระผู้ซื้อในระยะแรก หรือในช่วงท้าย ๆ ของการผ่อนอาจจะมีเงินงวดก้อนใหญ่ เป็นต้น”

 

 

ทั้งนี้ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 จะครบรอบ 48 ปี ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 จนถึงเดือนธันวาคม 2563 ได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 742,975 หน่วย โดยผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา จากที่ประเทศไทยได้เผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกันทั่วโลก ทาง กคช.ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเดิม ทั้งในด้านการเงิน เช่น พักชำระค่าเช่าซื้อ 3 เดือน ปลอดค่าเช่า 3 เดือน ลดค่าเช่า 50% และพักชำระเงินมัดจำ/เงินจอง รวมถึงด้านสังคม ได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองให้แก่ผู้อยู่อาศัย

 

ในส่วนความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ นั้น ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ กคช.ต้องนำโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้กลับมาทบทวนใหม่ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เฟส 3 และ 4 มูลค่า 30,000 ล้านบาท ที่จะมีทั้งโครงการอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และชอปปิ้งมอลล์ โครงการร่มเกล้าคอนเน็กชั่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ และโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

 

โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง

โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง

 

ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินว่า ผลจากการที่ระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) จำนวน 6,800 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับโครงสร้างนี้เงินกู้ (รีไฟแนนซ์) จากการพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงการแฟลตดินแดง (แปลง G) ตัวเลขหนี้จากที่มีอยู่ 35,000 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 29,000 ล้านบาท ช่วยลดภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยแต่ละปีที่ 4-5% ลงได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวเลขหนี้สินต่อทุนที่ลดลง แม้จะไม่ได้อยู่ระดับ 1 เท่า แต่ก็ปรับลงมาอยู่ที่ 2.6 เท่า ซึ่งในแผนต้องบริหารให้ได้อยู่ระดับ 2 เท่า แต่ทั้งนี้ในโครงสร้างหนี้ 29,000 ล้านบาท มีส่วนที่เป็นเงินกู้เดิมที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ (กว่า 33,000 ราย) ให้แก่ลูกค้าเป็นเงินต้นกว่า 10,000 ล้านบาท

 

“การจะให้หนี้สินต่อทุนอยู่ระดับ 1 เท่านั้น คงจะยาก เพราะเรามีการปล่อยสินเชื่อ แต่เราแก้ไขโดยกระจายหนี้ไม่ให้กระจุกตัว เพื่อไม่ให้กระทบต่อฟันดิ้ง แต่เรามีแอสเสทที่ Cover หนี้มากกว่านั้น ซึ่งการบริหารต้นทุนทำให้เราสามารถที่จะออกแพกเกจหรือสนับสนุนลูกค้าเราได้”

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000012758

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *