ThisAble.Me ‘มองคนเป็นออทิสติกอย่างเป็นมนุษย์ เหมือนที่คุณมองคนอื่นในสังคม’ : นิโคลีน-พิชาภา ลิมศนุกาญจน์

ภาพจากเฟซบุ๊ก Nicolene Pichapa Limsnukan

 

ท่ามกลางช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างออกมาต่อต้านการบูลลี่กันและกัน ไม่ว่าจะเพราะเพศ รูปร่าง หน้าตา สีผิวหรือแม้แต่ความพิการ เช่นเดียวกับในประเทศไทย กระแสของการใช้รูปลักษณ์และความพิการมาโจมตีก็ถูกต่อต้าน คนในสังคมมีความตระหนักและเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด Thisable.me  ชวนคุยกับนิโคลีน-พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2018 นางงามที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อคนที่มีภาวะออทิสติก หลังน้องชายของเธอเกิดมาพร้อมกับอาการนี้ว่า ความเข้าใจที่มีต่อคนเป็นออทิสติกนั้นเป็นอย่างไร และความรู้สึกในฐานะพี่สาวนั้นเป็นอย่างไร

 

ออทิสติกคือแรงบันดาลใจ

 

นิโคลีนเล่าว่า เธอมีน้องชายเป็นเด็กออทิสติก จึงทำให้เธอได้รับแรงบันดาลใจในการทำโครงการ ‘Love for all’ เพื่อสนับสนุนให้เด็กออทิสติกและเด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาสทางสังคม เพราะที่ผ่านมาคนพิการหรือคนที่เป็นออทิสติกไม่ได้รับโอกาสทางสังคมมากเท่ากับคนอื่น การทำโครงการนี้จะช่วยเติมช่องว่างระหว่างคนพิการและคนไม่พิการที่จะช่วยสร้างโอกาสในชีวิตให้กับคนพิการมากขึ้น ยิ่งนิโคลีนมีประสบการณ์ใกล้ตัวจากน้องชายของเธอเอง ก็ยิ่งเห็นปัญหาทั้งในเรื่องการศึกษาและความเข้าใจของสังคม ในโครงการ Love for all จึงประกอบไปด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนพิการและไม่พิการได้ทำร่วมกัน  เช่น การสอนภาษาอังกฤษ การอ่านหนังสือการฝึกอาชีพและสุดท้ายคือการส่งเสริมให้คนที่เป็นออทิสติกได้ก้าวเข้าสู่อาชีพร่วมกับคนอื่นในสังคมได้

 

“ที่อเมริกาน้องชายนิโคลสามารถเรียนไปพร้อมไปกับเพื่อนที่เป็นเด็กปกติได้ หากคลาสไหนที่เขาอาจเรียนรู้ช้าไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษหรือประวัติศาสตร์ โรงเรียนก็จะให้เรียนเสริมเพิ่มเติม”

 

นิโคลีนเล่าให้ฟังว่า วิชาพละเป็นวิชาที่น้องทำได้ดี น้องก็สามารถเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ได้ และที่สำคัญการสนับสนุนที่ถูกจุดทำให้น้องชายสามารถเรียนจบไฮสคูลได้พร้อมกับเพื่อน ๆ อีกด้วย แถมการเรียนร่วมกับเพื่อนคนอื่น ช่วยส่งเสริมให้ทักษะทางสังคมมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เนื่องจากคนที่มีภาวะออทิสติกหลายคนจะเผชิญกับปัญหาการขาดทักษะทางสังคม แต่ตั้งแต่น้องชายได้เรียนร่วมกับเพื่อนเขาก็กล้าคุย มีความคิดเห็นของตัวเอง ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้สังคมยอมรับคนที่เป็นออทิสติกมากขึ้นด้วย

 

การบูลลี่ที่เลี่ยงไม่ได้

 

เช่นเดียวกับที่คนเป็นออทิสติกหลายคนเจอ การบูลลี่และความไม่เข้าใจก็เกิดขึ้นกับน้องชายของนิโคลีน เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งขณะไปรับน้องที่โรงเรียน เธอหาน้องไม่เจอก่อนจะพบว่า น้องชายกำลังถูกเด็กอีกคนผลักให้ล้มอยู่ตรงพุ่มกุหลาบซึ่งมีหนาม เธอตกใจมากและรีบลงจากรถเพื่อช่วยน้อง ก่อนจะเข้าใจว่า เด็กอีกคนคิดว่าน้องชายของเธอต้องการจะแย่งลูกฟุตบอล เธอจึงอธิบายเรื่องลักษณะของภาวะออทิสติกให้เด็กคนนั้นฟัง โดยชี้ให้เห็นว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และเราควรปฏิบัติกับทุกคนอย่างให้เกียรติเพราะในอนาคตเราไม่รู้หรอกว่าจะต้องเจอใครอีกบ้างและเขามีภาวะออทิสติกหรือไม่ ฉะนั้นการเคารพและมองเห็นถึงความหลากหลายเป็นสิ่งที่ควรทำกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์นี้ไม่ใช่น้องชายของเธอที่รู้สึกเสียใจ แต่กลับเป็นเธอเองที่รู้สึกถึงความไม่เข้าใจของสังคมและมองว่าอยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่น้องชายของธอค่อนข้างเป็นคนไม่ค่อยแคร์ แต่ก็ยังแอบซึมหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น

 

เมื่อเราถามว่า แล้วระหว่างนิโคลีนซึ่งไม่มีภาวะออทิสติกกับน้องชายที่เป็นออทิสติก ครอบครัวดูแลแตกต่างกันหรือไม่ เธอตอบอย่างรวดเร็วถึงสิ่งที่ต่างกันว่า ตอนที่เธอเด็ก ๆ ครอบครัวจะพูดคุยกันทั้ง 2 ภาษาคือไทยและอังกฤษ แต่เมื่อมีน้องหมอแนะนำว่าให้ใช้เพียงภาษาเดียวเพื่อให้น้องไม่สับสน นอกจากนี้เธอยังสังเกตได้ว่า ครอบครัวให้ความสนใจที่น้องมากกว่า จึงทำให้เธอซึ่งเป็นพี่มีอิสระมากขึ้นด้วย

 

“นิโคลรู้สึกมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าน้องเป็นเด็กออทิสติก ก็เลยไม่รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนอะไร”

 

ด้วยระยะเวลาที่ทั้งสองพี่น้องได้อยู่ร่วมกัน ทำให้ไม่มีอะไรที่นิโคลีนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเธอ ภาวะออทิสติกที่น้องเป็นกลายเป็นเรื่องปกติ เธอเข้าใจข้อจำกัด การแสดงออกและความต้องการของน้องเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีเธอยังพบว่าสังคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติกไม่มากนักและเมื่อครอบครัวใดมีลูกเป็นออทิสติกก็มักจะเกิดความกังวลอย่างมาก เธอจึงต้องการอธิบายว่าออทิสติกเปรียบเสมือนสเปกตรัมที่กว้าง มีตั้งแต่ออทิตติกแบบ High function ไปจนถึง Low Function และแน่นอนว่าการเป็นออทิสติกมาพร้อมกับข้อจำกัดบางอย่าง ที่จำกัดให้ไม่สามารถทำบางอย่างได้ พวกเขาอาจะเผชิญความยากลำบากอยู่บ้างในการเข้ามหาวิทยาลัย หรืออาจติดระเบียบข้อบังคับเรื่องการขับรถในอเมริกา

 

“น้องชายนิโคลใช้ชีวิตได้สบายมาก เขาค่อนข้างฉลาด เรียนได้เกรด A เป็นคนชอบเล่นเกม ในขณะที่นิโคลก็เป็นคนช่วยแนะนำ เชฟรูปร่างของสิ่งที่เขาชอบทำไปสู่สิ่งที่อยากจะเป็น ช่วยค้นหาว่าเขาอยากทำอะไร อยากจะเป็นเกมดีไซเนอร์ไหม แต่เราก็ไม่ได้ซีเรียสว่าเขาต้องทำอะไร โชคดีที่ครอบครัวของนิโคลมองว่าทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข “

 

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิด

 

“คนเป็นออทิสติกนั้นก้าวร้าว”

 

ทัศนคติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นสังคม เช่นเดียวกับที่นิโคลีนเล่าให้ฟังว่า ความเข้าใจว่าคนเป็นออทิสติกจะต้องก้าวร้าวรุนแรงนั้นยังมีอยู่ในสังคม ที่ผ่านมาคนในสังคมยังมองว่า คนที่เป็นออทิสติกค่อนข้างก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรง อย่างไรเธอกล่าวว่าไม่ใช่ทุกเคสที่จะมีภาวะก้าวร้าว คนในสังคมจึงไม่ควรเหมารวมภาพจำเหล่านั้นและแสดงออกด้วยการกระทำที่ทำให้คนเป็นออทิสติกหรือครอบครัวรู้สึกแย่ เช่น เมื่อพ่อแม่เห็นเด็กออทิสติกก็กลัวและดึงลูกตัวเองออกห่าง ไม่อยากให้ไปเจอกับเด็กออทิสติกหรือกลัวลูกตัวเองถูกทำร้าย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นิโคลีนอยากจะสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจว่า ความกลัวสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องรู้จักที่จะก้าวข้ามความกลัวด้วยการศึกษาให้รู้จักเพราะหากเข้าใจว่าออทิสติกคืออะไร ความกลัวแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

หลังจากนิโคลีนเข้าร่วมประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2018 เธอได้เข้าสู่แวดวงของกลุ่มออทิสติกในประเทศไทย ได้เห็นการทำงานศิลปะโดยคนที่เป็นออทิสติก ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เธอย่างมาก

 

“เขามีอะไรที่คนอื่นไม่มี อย่างความครีเอทีฟ พวกเขาเปลี่ยนสิ่งที่มองเห็นเป็นงานศิลปะในแบบฉบับของตัวเอง จุดนี้เป็นจุดเรามองว่าเป็นแรงบันดาลใจได้และน่าจะเป็นจุดขายของการทำงานในอนาคตได้”

 

อย่างไรก็ดี นิโคลีนมองว่าสิ่งที่ยังขาดสำหรับเด็กออทิสติกคือเรื่องการศึกษาและการยอมรับจากคนในครอบครัว ทุกวันนี้เธอยังเห็นว่าครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติกยังไม่ยอมรับภาวะที่ลูกตัวเองมี การไม่ยอมรับนี้ทำให้แก้ปัญหาต่าง ๆ  ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น เด็กบางคนควรได้รับการฝึกพูดให้ชัดหรือการสบตาคนเมื่อพูดคุย แต่เมื่อครอบครัวไม่ยอมรับในปัญหาพวกเขาก็ไม่ส่งเด็กเข้าฝึก จนอาจทำให้เวลาล่วงเลยไปจนฝึกไม่ได้หรืออาจไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ นอกจากนี้ในเรื่องการศึกษาเธอคิดว่าในสังคมยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย แต่ก็เห็นการพัฒนามากขึ้นกว่า 5-6 ปีที่แล้ว สังคมเริ่มเปิดและยอมรับคนพิการไม่ว่าจะเป็นเด็กออทิสติก คนตาบอด คนหูหนวกหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถยอมรับได้ทั้ง 100% แต่ตัวเธอก็มองว่าต้องค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ ถ้าเราให้เขาถูกยอมรับในห้องเรียนได้จะเปรียบเสมือนกระดุมเม็ดแรกที่กลัดให้เขาเข้ามาอยู่ในสังคมที่ไม่ใช่สังคมครอบครัว ไม่แบ่งแยกคนออกจากกัน แม้จะมีบางมุมที่เขาไม่ปกติแต่ว่าไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของเขาที่ไม่ปกติ จึงไม่ควรเอาคำว่าออทิสติกมาแปะในทุก ๆ ด้านของชีวิต และที่สำคัญนิโคลีนย้ำว่า อยากให้มองคนที่เป็นออทิสติกอย่างเป็นมนุษย์ ที่เป็นใครสักคนในสังคมเช่นเดียวกัน

 

ท้ายที่สุด สิ่งที่สำคัญที่นิโคลีนพูดถึงคือความคาดหวังที่ครอบครัวมีเพราะเมื่อแต่ละครอบครัวมีลูก พวกเขาก็ย่อมหวังให้สมาชิกครอบครัวสมบูรณ์แข็งแรง แต่พอลูกมีความพิการความตึงเครียดก็เกิดขึ้นเพราะเราไม่เพียงหวังกับลูกในวันนี้ แต่เราคาดหวังว่าอนาคตเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเมื่อมีความพิการแล้วครอบครัวไม่สามารถคาดหวังถึงอนาคตได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก แต่การมีน้องชายกลับไม่ใช่เรื่องที่นิโคลีนผิดหวังเลยเพราะสำหรับเธอแล้ว น้องชายเปรียบเสมือนส่วนที่ช่วยเติมเต็มชีวิตของเธอตั้งแต่เขาเกิดมาเลยทีเดียว

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2021/01/683

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *