อัลไซเมอร์: เสียงเพลงช่วยกระตุ้นความทรงจำของนักบัลเลต์สมองเสื่อมขึ้นมาอีกครั้ง

อัลไซเมอร์:  เสียงเพลงช่วยกระตุ้นความทรงจำของนักบัลเลต์สมองเสื่อมขึ้นมาอีกครั้ง - BBC  News ไทย

 

องค์กรการกุศลในประเทศสเปนที่ใช้เสียงดนตรีในการบำบัดและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งเสียงดนตรีที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคนี้ได้ฟื้นคืนความทรงจำขึ้นมาอีกครั้ง

รับชมคลิปวิดีโอ คลิ๊กที่นี่   https://www.bbc.com/thai/features-54919431

คลิปวิดีโอนี้เผยให้เห็น มาร์ตา กอนซาเลซ อดีตนักเต้นบัลเลต์ กำลังฟังเพลง “สวอนเลก” (Swan Lake) ของ ปิออตร์ อิลิช ไชคอฟสกี คีตกวีชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นบทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงบัลเลต์ชื่อดังเรื่องสวอนเลก

ทันทีที่ได้ยินเสียงเพลงดังกล่าว หญิงชราที่สูญเสียความทรงจำจากโรคอัลไซเมอร์ผู้นี้ ก็เริ่มจำท่าเต้นประกอบเพลงนี้ขึ้นมาได้ แล้วทำท่าร่ายรำไปตามเสียงเพลงอย่างน่าทึ่งราวกับเสียงดนตรีได้ปลุกวิญญาณนักเต้นระบำปลายเท้าที่เธอเคยเป็นเมื่อในอดีตกลับขึ้นมาอีกครั้ง

คลิปวิดีโอนี้ได้กลายเป็นกระแสโด่งดังในโลกออนไลน์ โดยในตอนแรกมูลนิธิ Asociacion Musica para Despertar เจ้าของคลิปเชื่อว่า มาร์ตา เคยเป็น “ดารานำของคณะนิวยอร์กบัลเลต์” แต่ปรากฏว่าเป็นการเข้าใจผิด ล่าสุดมูลนิธิได้ระบุว่า มาร์ตา เป็นนักบัลเลต์ที่เคยไปศึกษาที่ประเทศคิวบา และได้แสดงในนครนิวยอร์กกับคณะบัลเลต์ของเธอเอง ในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยเธอเป็นที่รู้จักในนาม “มาร์ตา ซินตา”

มาร์ตา กอนซาเลซ ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่ที่บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในแคว้นบาเลนเซียของสเปน เธอเสียชีวิตในปี 2019 หลังจากถ่ายคลิปนี้ไปได้เพียงไม่นาน

รู้จักโรคอัลไซเมอร์

 

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความเสื่อมถอยในเรื่องของความทรงจำ การรับรู้ ความคิด จินตนาการ และการตัดสินใจ โดยอาการของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป และทวีความรุนแรงขึ้นจนช่วยหลือตัวเองไม่ได้และเสียชีวิตลงในที่สุด

แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น พันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้ หรือการได้รับอุบัติเหตุทางสมองจนทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 1 และ วิตามินบี 12 เป็นต้น

โรคอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทางการแพทย์จะมียาที่ช่วยควบคุมอาการป่วยไม่ให้ทรุดลง นอกจากนี้คนรอบข้างหรือคนในครอบครัวคือส่วนสำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยให้การดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ

ดนตรีกับผู้ป่วยสมองเสื่อม

 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังกล่าวถึงการใช้เสียงดนตรีกับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเอาไว้ว่า ดนตรีช่วยกระตุ้นอารมณ์ ซึ่งเชื่อมไปสู่ความจำ ทำให้ชะลอการถดถอยของความจำได้ โดยผู้ป่วยสมองเสื่อมยังมีความสามารถในการรับรู้ดนตรี ถึงแม้ว่าจะสูญเสียความสามารถหลายด้านของสมองไปแล้วก็ตาม การฟังและร้องเพลง เป็นการกระตุ้นสมองทั้งสองด้าน ผู้ป่วยสมองเสื่อมถึงแม้จะมีอาการในระยะปานกลางหรือระยะรุนแรง จนไม่สามารถพูดสื่อสารได้แล้ว แต่ก็ยังมีการตอบสนองต่อเสียงดนตรี และสื่อสารกับผู้ดูแลได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ดนตรียังช่วยให้ความสามารถของสมองในบางด้านดีขึ้น เช่น มีสมาธิจดจ่อดีขึ้น มีความจำเกี่ยวกับภาพที่เห็นดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้พฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วยดีขึ้น เช่น ช่วยลดอาการพลุ่งพล่านกระวนกระวาย ลดอารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลและความเครียด และเมื่อประสานดนตรีไปกับกิจวัตรประจำวัน จังหวะของดนตรีอาจกระตุ้นให้เกิดความจำในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้นด้วย

ขอขอบคุณ  https://www.bbc.com/thai/features-54919431

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *