ผู้ว่าฯ กทม. นำทีมแถลงแผนพัฒนากรุงเทพฯ ปี 63 ลั่นพัฒนาเมืองครบทุกด้าน

 

เมื่อวันที่ (3 ธ.ค.) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2563 โดยมี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ นายศักดิ์ชัย บุญมา นายสกลธี ภัททิยกุล นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลง ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า)

 

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้พัฒนาและแก้ไขปัญหาเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยพัฒนาครอบคลุมครบทุกด้าน อาทิ การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานครได้กำหนดมาตรการที่ควบคุมที่เข้มข้น จนสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้กว่า 90% โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำระบบตรวจคัดกรองผ่านระบบ BKK-Covid-19 ซึ่งเป็นการคัดกรองเบื้องต้นและสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งลดภาระของการตรวจคัดกรองของเจ้าหน้าที่ กทม. ได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นผลอย่างที่ปรกฎ นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 100,000 ครัวเรือน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร

 

ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงภูมิทัศน์ ประกอบด้วย การเพิ่มจำนวนสถานีรถไฟฟ้า BTS 2 เส้นทาง โดยในปี 63 เปิดบริการเพิ่มเติมแล้ว จำนวน 18 สถานี และจะเปิดเพิ่มอีก 10 สถานีภายในสิ้นปี 2563 นี้ ได้แก่ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ เปิดครบ 9 สถานี สำหรับส่วนต่อขยายหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เปิดแล้ว 11 สถานี และกำลังจะเปิดอีก 7 สถานี ในวันที่ 16 ธ.ค. 63 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง (เจริญนคร – กรุงธนบุรี – คลองสาน) จะเปิดครบ 3 สถานี ในวันที่ 16 ธ.ค.63 เช่นกัน รวมจำนวนสถานีรถไฟฟ้า BTS ทั้งสองเส้นทาง เปิดให้บริการทั้งสิ้น 62 สถานี การให้บริการ BMA Feeder เดินทางแบบไร้รอยต่อ ด้วยการบริการเดินรถ Shutter Bus รับ-ส่งผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS, Airport Rail link จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง ดินแดง – BTS สนามเป้า และเส้นทางชุมชนเคหะร่มเกล้า – Airport Rail link ลาดกระบัง บริการ Smart Bus Shelter ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ เปิดให้บริการทั้งสิ้น 350 แห่ง ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้โดยสารรถประจำทาง สามารถตรวจสอบเวลารถเข้า-ออกป้ายฯ ได้อย่างสะดวก พร้อมเพิ่มความปลอดภัยด้วยมีไฟส่องสว่างและกล้อง CCTV ให้บริการเรือโดยสาร โดนพัฒนาเส้นทางทางเดินเรือโดยสารเพิ่มขึ้นอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เรือโดยสารไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม ระยะทาง 5 กม. จำนวน 11 ท่าเรื่อ เรือโดยสารคลองภาษีเจริญ ระยะทาง 11.5 กม. จำนวน 15 ท่าเรือ

 

การพัฒนาโครงข่ายถนน ได้แก่ 1.พัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักตามแนวตะวันตก – ตะวันออก ที่สามารถรองรับการจราจรได้ถึง 200,000 คันต่อวัน ช่วยลดปัญหารถติดช่วงทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีทา ช่วงหัวหมาก – ลำสาลี และช่วงถนนร่มเกล้า – ถนนเจ้าคุณทหาร 2.ก่อสร้างทางลอดเพื่อลดปัญหารถติดบริเวณทางแยก รองรับปริมาณรถรวมมากกว่า 100,000 คันต่อวัน ประกอบด้วย ทางลอดถนนพัฒนาการ – รามคำแหง – ถาวรธวัช และทางลอดแยกมไหสวรรย์ 3.ก่อสร้างทางเชื่อมต่อศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กับถนนกำแพงเพชร 6 เพื่อลดปัญหารถติดบนถนนแจ้งวัฒนะ จากเดิมที่มีปริมาณรถสะสมบนถนนแจ้งวัฒนะ 50,000 คันต่อวัน ปัจจุบันคงเหลือ 40,000 คันต่อวัน 4.นำสายสื่อสารลงดิน ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ถนนราชดำริ-สถานีย่อยคลองเตย 2.ถนนจรัญสนิทวงศ์-แยกท่าพระ และ3.ถนนพระราม 3 – ถนนนราธิวาสราชนครินทร์

 

ด้านการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ประกอบด้วย 1.ก่อสร้าง Water Bank หรือธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ จุดแรกบริเวณวงเวียนบางเขน จุดที่สองบริเวณปากชอยสุทธิพร 2 ดินแดง ทำให้วงเวียนบางเขน และปากชอยสุทธิพร 2 ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง 2.ก่อสร้างท่อเร่งระบายน้ำ Pipe jacking ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี จุดที่ 2. ระบบระบายน้ำ ถนนสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา จุดที่ 3. บริเวณถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง และจุดที่ 4. บริเวณถนนพหลโยธิน ทำให้ ถ.เยาวราช ถ.เจริญกรุง และแยกอโศก – ถ.สุขุมวิท 71 หมดปัญหาน้ำท่วมขัง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 8 แห่ง 3.การจัดทำแก้มลิง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 แห่ง ได้แก่ 1. ประชานิเวศน์ 2. บึงรางเข้ 3. บึงเสือดำ 4. หมู่บ้านสัมมากร 5. หมู่บ้านเฟรนชิพ ทำให้น้ำท่วมขังลดลง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 แห่ง

 

ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 632 ไร่ 3 งาน 31.85 ตารางวา อัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร คิดเป็น 7.08 ตร.ม. ต่อคน (ปี 62 อัตราพื้นที่สีเขียวฯ 6.91 ตร.ม.ต่อคน) เปิดให้บริการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา จุดชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย พร้อมทั้ง ติดตั้งลิฟต์ สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งเปิดสวนสาธารณะเพิ่ม 4 สวน ตามโครงการ Green Bangkok 2030 ที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรเป็น 10 ตร.ม.ต่อคน ได้แก่ สวนสาธารณะบริเวณห้าแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร พื้นที่ 30 ไร่ สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ สวนสันติพร พื้นที่ 2.5 ไร่ และพื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช ชอยปรีดีพนมยงค์ 2 ระยะที่ 1 พื้นที่ 2,520 ตารางเมตร แจกต้นกล้าที่ออกดอกสีเหลือง เช่น ปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1,000,000 ต้น ตามโครงการ “มอบล้านกล้า สู่ล้านต้น จากล้านคน สู่สังคมเมือง” ปลูกต้นโกงกาง 169,789 ตัน ในพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียน จำนวน 220 ไร่ ทำให้ที่ดินเพิ่มขึ้น 20-85 เชนติเมตรและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ พัฒนาถนนสายอัตลักษณ์ 9 สายหลัก โดยปลูกต้นไม้ตลอดเส้นทาง รวมยะยะทาง 79.66 กม. ได้แก่ 1. ถนนร่มเกล้า – ศรีนครินทร์ 2. ถนนวิภาวดีรังสิต 3. ถนนสุขุมวิท 4. ถนนเรียบคลองมดตะนอย 5. ถนนบรมราชชนนี 6. ถนนศรีอยุธยา 7. ถนนรัชดาภิเษก 8.ถนนมิตรไมตรี 9. ถนนหทัยราษฎร์

 

ด้านการพัฒนาเมือง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ได้พัฒนาคลองโอ่งอ่าง ให้เป็น Land mark แห่งใหม่ด้วยการจัดให้เป็นถนนคนเดินที่ประกอบด้วย ตลาดนัดชุมชน ถนนสายศิปะ สตรีทอาร์ท และมีกิจกรรมทางน้ำ พายเรือคายัด และเล่นซับบอร์ด รวมทั้งพัฒนาถนนข้าวสาร ปรับปรุงทางเท้าและถนน จัดระเบียบแผงค้า ให้เป็นถนนคนเดินสตรีทฟู้ด และเพิ่มเส้นทางการท่องเที่ยวจากฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรี ตั้งแต่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง -สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา – ชุมชนกุฎีจีน (กะดีจีน) ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 25 ในพื้นที่ 50 เขต ครบทุกจุดทั้ง 50 เขต รวมทั้งได้ติดตั้งเพิ่มเติมในสวนสาธารณะ 20 แห่ง จัดทำแอปพลิเคชัน Air BKK ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศของ กทม.

 

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข ได้เพิ่มโรงพยาบาลแห่งใหม่ 2 โรงพยาบาล เพื่อให้ครบทุกมุมมือง ได้แก่ โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนา รวมทั้งขยายการบริการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ให้เป็นโรงพยาบาลรัฐสำหรับบริการประชาชนย่านบางขุนเทียนและ ย่านชานเมืองด้านกรุงธนใต้ ให้บริการ Mobile Lab ซึ่งเป็นระบบบริการเจาะเลือดถึงบ้าน นำร่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันสูง และผู้ป่วยติดเตียง เริ่มนำร่องโดย รพ.ราชพิพัฒน์ ปัจจุบันขยายการบริการครบทุกโรงพยาบาล ให้บริการทางการแพทย์ด้วยระบบการรักษาพยาบาลทางไกล Telemedicine โดยแพทย์ตรวจรักษาด้วยวิธีการ Call หาผู้ป่วยผ่านระบบ ePhis ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์จัดทำขึ้นสำหรับการให้บริการผู้ป่วย และมีบริการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน โครงการคืนรอยยิ้มให้ผู้สูงอายุ ด้วยการจัดรถทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้สูงอายุ ครบทั้ง 50 เขต ให้บริการในปี 2563 จำนวน 31,550 คน รวมจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับบริการทั้งหมดแล้วจำนวน 156,103 คน ผลิตอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ (Care Giver) อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจำนวน 3,607 คน สามารถดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่บ้านได้ครอบคลุมทั้ง 50 เขต ให้บริการรถตู้บริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น จำนวน 30 คัน โดยนัดหมายสถานที่และเวลา รับ-ส่ง ได้อย่างสะดวก 3 ศูนย์บริการ ได้แก่ ศูนย์หนองแขม ศูนย์รามคำแหง 40 และศูนย์พระราม 3

 

ด้านความปลอดภัย เพิ่มสถานีดับเพลิงย่อยอีก 4 สถานี เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ทันเวลาตามมาตรฐาน พร้อมทั้งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ในสวนสาธารณะ 57 สวน สะพานลอย 657 สะพาน และถนน 694 ถนน ติดตั้งกล้อง CCTV ติดตั้งแบบเชื่อมต่อศูนย์ควบคุม เพิ่มอีกจำนวน 4,834 ตัว และเชื่อมโยงกล้องที่ Stand alone ให้เป็นกล้องแบบเชื่อมต่อเครือข่ายทั้งหมด 42,000 ตัว รวมทั้งหมด 46,834 ตัว ด้านการศึกษา โรงเรียนกทม. มีห้องเรียน 2 ภาษา ใน 73 โรงเรียน กระจายอยู่ในหลายสำนักงานเขตเพื่อให้ครอบคลุมผู้เรียนในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ภาษาไทย – อังกฤษ 59 โรงเรียน ภาษาไทย – จีน 14 โรงเรียน และมีเปิดสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆ อีก ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น 12 โรงเรียน ภาษาอาหรับ 71 โรงเรียน และภาษามาลายู 7 โรงเรียน รวมทั้งจัดการศึกษาให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ถึง 147 โรงเรียน เพื่อสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมี 9 ประเภท ได้แก่ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน สติปัญญา ร่างกายหรือสุขภาพ ภาษาและการพูด อารมณ์และพฤติกรรม การเรียนรู้ ออทิสติก และพิการซ้อน นอกจากนี้ โรงเรียน กทม. มีหลักสูตรฝึกอาชีพให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพิ่มอีก 9 โรงเรียน จากเดิม 14 โรงเรียน รวมเป็น 23 โรงเรียน

 

สำหรับการใช้เทคโนโลยีในการให้บริการประชาชนของ กทม. ได้จัดตั้งศูนย์ Bangkok Fast & Clear : BFC การให้บริการงานของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต ครบทั้ง 50 สำนักงานเขต ระบบจองคิวออนไลน์ BMA Q ที่สามารถนัดหมายการบริการของศูนย์ BFC และจุดบริการด่วนมหานคร 12 แห่ง รวมทั้งจัดทำระบบ DATA Center ซึ่งในอนาคต หน่วยงานของกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตจะสามารถเข้าถึงและสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ และจะทำให้การบริการกรุงเทพมหานครเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

แนวทางการทำงานในปี 64 “ทำจริงเห็นผลจริงยกกำลัง 2”

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปี 2564 กรุงเทพมหานคร จะเดินหน้าพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการดูแลช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาทิ เงินสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในการรักษาพยาบาล และส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) สู่ Online Market Place รวมทั้งจัดตลาดนัดถนนคนเดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยนำร่องในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก และมีแผนขยายการดำเนินการทั่วพื้นที่ กทม.

 

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข จะก่อสร้างบ้านพักคนชรา เพิ่มเติม 1 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจและคัดเลือกที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานครที่มีความเหมาะสม เพิ่มเติมบริการ Health Service Delivery ให้บริการเจาะเลือด/เก็บปัสสาวะที่บ้านพร้อมนำส่งตรวจ รวมทั้งจัดยาไปมอบให้ที่บ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จำนวน 14,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนรักษาของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยและญาติ และลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจะจัดหารถและบริหารจัดการเดินรถสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพิ่มเติมอีกจำนวน 30 คัน เพื่อให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของคนทุกกลุ่มทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจะเปิดพื้นที่กิจกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่ อาทิ ลานกีฬา Extreme ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นสเก็ตบอร์ด ลองบอร์ด หรือบอร์ดอื่น ๆ ให้สามารถเล่นได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้จะพัฒนาต่อยอดคลองโอ่งอ่างให้เป็นสตรีทอาร์ทเต็มรูปแบบ

 

ด้านการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่สีเขียว กทม. มีเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม 4 จุด รวม 62.5 ไร่ คิดเป็น 7.21 ตร.ม./คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 9.89 % (จากปี 2563) ประกอบด้วย 1. สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียนชายทะเล) พื้นที่ประมาณ 37 ไร่ 2. สวนชุมชนเขตบางรัก พื้นที่ประมาณ 0.5 ไร่ 3. สวนป่านิเวศอ่อนนุช ระยะที่ 1 พื้นที่ประมาณ 18 ไร่ และ4. พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ระยะที่ 1 พื้นที่ประมาณ 7 ไร่ และมีแผนการปรับปรุงสวนลุมพินี อาทิ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค จัดสร้างระบบระบายน้ำใต้ดิน ปรับปรุงเส้นทางเดิน – วิ่ง และทางจักรยาน และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนทั้งหมด

 

ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงภูมิทัศน์ กทม. มีโครงการพัฒนา/เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มเติม อาทิ การเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย จากท่าวัดศรีบุญเรืองถึงสำนักงานเขตมีนบุรี ระยะทาง 10.5 กม. จัดซื้อเรือไฟฟ้าเพิ่มเติม 12 ลำ และก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 8 ท่า (อยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง) โครงการ Cover Walk Way พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ระหว่าง BTS หมอชิต – MRT จตุจักร ระยะทาง 1.2 กม. และ Smart Bus Shelter จะดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 โดยจะเปิดให้บริการเพิ่ม 100 แห่งภายในไตรมาสแรกของปี 2564

 

ด้านการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายถนนกทม. มีของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2564 ที่จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการจำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการก่อสร้างปรับปรุงซอยพระรามที่ 2 ซอย 82 และโครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาสและสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ส่วนโครงการที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์จากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงคลองทวีวัฒนา 2.โครงการต่อเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก – ถนนพุทธมณฑลสาย 2 3.โครงการต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช

 

ทั้งนี้มีโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดการจราจรได้บางส่วนภายในปี 2564 ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา – ราชพฤกษ์ 2.โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก 3.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ในส่วนของสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ส่วนงานที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2564 โซนกรุงเทพตะวันออก 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก 2.ก่อสร้างปรับปรุงถนนไมตรีจิต ช่วงจากซอยไมตรี 38 ถึงถนนคลองเก้า 3.ก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ (สะพานลาดพร้าว-เสรีไทย) 4.ก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช – ลาดกระบัง โซนกรุงเทพเหนือ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน 2 ช่วง ช่วงที่ 1 จากถนนวิภาวดีรังสิตถึงสะพานข้ามคลองลาดพร้าว ช่วงที่ 2 สะพานข้ามคลองลาดพร้าวถึงถนนเทพรักษ์ 2.ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10) โซนกรุงธนเหนือ 1 เส้นทาง ได้แก่ โครงการก่อสร้างต่อเชื่อมถนน พุทธมณฑลสาย 2 – ถนนพุทธมณฑลสาย 3

 

ด้านปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง กทม. มีโครงการพัฒนาคลองช่องนนทรี ในรูปแบบสวนริมคลอง (Linear Park) ระยะทาง 4.5 กม. รวมสองฝั่งคลอง 9 กม. จากถนนสุรวงศ์ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้แนวคิด “เขียว // คลอง // คน // ความรู้” สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมือง เชื่อมต่อเขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานนาวา ผ่านถนนสีลม สาทร จันทน์ รัชดาภิเษก และถนนพระราม 3 เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

 

ด้านการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม มีโครงการสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองเปรมประชากร เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่และน้ำหลากจากตอนบนของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ช่วงที่ 2 จากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา ความยาว 5 กม. (จะเริ่มดำเนินการปี 2564 – คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566) ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาว 10 กม. (จะเริ่มดำเนินการปี 2564 – คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565) ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 10.7 กม. (จะเริ่มดำเนินการปี 2564 – คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565) และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติม 3 แห่ง ประกอบด้วย อุโมงค์คลองเปรมประชากร อุโมงค์ส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ และอุโมงค์คลองทวีวัฒนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพโซนเหนือ ใจกลางเมืองย่านลาดพร้าว และพื้นที่ฝั่งธนบุรี (จะเริ่มดำเนินการปี 2564 – คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2569) รวมทั้งโครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำใต้ถนนพระราม 6 จากคลองสามเสนลงสู่อุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ ก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาด 3.00 เมตร ช่วยป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร (จะเริ่มดำเนินการปี 2564 – คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566) รวมถึงโครงการปรับปรุงและพัฒนาคลองยายสุ่น (จากบริเวณซอยชานเมืองถึงถนนรัชดาภิเษก) ระยะทางทั้งสิ้น 1,380 เมตร โดยการปรับปรุง ค.ส.ล. เดิมเป็นแบบท้องคลอง และก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำเสียเพิ่มเติม สำหรับโครงการจิตอาสาเพื่อรักษาสภาพคลองอย่างยั่งยืน กทม.ดำเนินการต่อเนื่อง 2563-2564 รวม 2,068 คลอง แบ่งเป็น สำนักการระบายน้ำดำเนินการ 239 คลองและสำนักงานเขตดำเนินการ 1,829 คลอง

 

ด้านการเพิ่มความปลอดภัย มีโครงการติดตั้งกล้อง CCTV แบบเชื่อมโยงเข้าสู่ศูนย์ CCTV เพิ่ม 3,800 กล้อง เน้นพื้นที่ชุมชนและจุดเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชนในย่านที่พักอาศัยและระหว่างการเดินทาง โดยในปี พ.ศ.2564 จะมีกล้อง CCTV ในพื้นที่ กทม. ทั้งหมด 62,834 ตัว เป็นระบบเชื่อมต่อศูนย์ควบคุมทั้งหมด และจะก่อสร้างสถานีดับเพลิงและกู้ภัยเพิ่ม 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.สถานีดับเพลิงและกู้ภัยราษฎร์บูรณะ 2.สถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก และ3.สถานีดับเพลิงทางน้ำวัดสร้อยทอง

 

ด้านการศึกษา มีโครงการที่จะเปิดโรงเรียนฝึกอาชีพแห่งใหม่ (เขตประเวศ) เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการฝึกอาชีพ คาดว่าการก่อสร้างอาคารจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 และคาดว่าจะเปิดการเรียนการสอนได้ในไตรมาสสองของปี 2564 ด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน โดยมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอินเตอร์เน็ตของศูนย์เยาวชนและศูนย์กีฬา จะติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เพียงพอต่อการใช้งานในศูนย์เยาวชน 35 แห่ง และศูนย์กีฬา 12 แห่ง รวมทั้งโครงการ Smart Bangkok Library Project ที่เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลทั้งหมดของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร 36 แห่ง ให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2564

 

ด้านโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) จะพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับรองรับคำขอใบอนุญาต/บริการของประชาชนที่จะดำเนินการผ่านทางสำนักงานเขต 50 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับศูนย์รับคำขออนุญาตกลางของสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครได้แบบเบ็ดเสร็จ โดยประชาชนสามารถติดตามสถานะการดำเนินการ และรับทราบผลการพิจารณาใบอนุญาต/บริการ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบการทำงาน ช่วยป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในการออกใบอนุญาต สำหรับโครงการพัฒนาระบบบริการภาครัฐ จะเพิ่มช่องทางให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อหรือ การทำธุรกรรมทางด้านการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบหลากหลายช่องทางรวมถึงรองรับการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อขอชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่หน่วยงานหรือสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางมาติดต่อขอรับใบอนุญาตที่ผ่านการอนุมัติแล้ว โดยสามารถรับเอกสารใบสำคัญหรือใบอนุญาตได้จากระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบขนส่งอัจฉริยะของภาคเอกชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบทานตัวเลขค่าธรรมเนียมและค่าภาษีได้สะดวกรวดเร็วและถูกต้องทันการณ์ โดยสามารถสรุปข้อมูลรายรับ พร้อมส่งต่อข้อมูลไปยังทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในด้านการวางแผนงบประมาณรายรับได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ด้านโครงการพัฒนาระบบยืนยันและตรวจสอบตัวบุคคลในระบบดิจิทัล จะพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับรองรับการออกใบอนุญาตในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และการทำธุรกรรมของกรุงเทพมหานครที่มีความน่าเชื่อถือและมีผลถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานครในด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลระหว่างการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือประชาชนที่มาติดต่อขอรับบริการกับกรุงเทพมหานครผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ที่สามารถบ่งบอกและยืนยันตัวบุคคลในโลกดิจิทัล สำหรับรองรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีผลตามกฎหมายการดำเนินงาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/qol/detail/9630000124294

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *