นาฏศิลป์ร่วมสมัย ถอดความหมาย 7 สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน

 

ศิลปินนักเต้นที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง “พิเชษฐ กลั่นชื่น” ทำผลงานชิ้นใหม่ล่าสุด ที่ใช้เวลาศึกษาปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นำสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ มาถอดความหมายถ่ายทอดเป็นการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยในชื่อ “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน” จัดแสดงในงาน “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน” วันที่ 7-8 ธ.ค.2563 ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ซึ่งจัดโดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน 2563  โดยพิเชษฐแสดงร่วมกับนักเต้นจาก Pichet Klunchun Dance Company และนักเต้นอิสระอีก 10 คน ร่วมกันสื่อสารหัวใจสำคัญให้เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

การแสดงร่วมสมัยครั้งนี้ แบ่งเรื่องราวออกเป็น 7 ซีน เริ่มจาก

 

ซีนที่ 1 สิทธิที่จะหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ เสนอเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ซีนที่ 2 สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรม

ซีนที่ 3 สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ซีนที่ 4 สิทธิของคนพิการ

ซีนที่ 5 สิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองร่างกาย ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพ

ซีนที่ 6 สิทธิของสตรีที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันไม่ว่ารูปแบบใด ปิดท้ายด้วย

ซีนที่ 7 สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือตกเป็นเหยื่อของการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

 

โดยพิเชษฐร่วมแสดงในซีนที่ 3 สวมบทบาทเป็นคนไร้บ้านในเมืองใหญ่

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินผู้สร้างผลงาน ร่วมแสดงซีนที่ 3 สิทธิคนไร้บ้าน

 

“ผมนำเรื่องราวสิทธิมนุษยชนมาตีความเป็นท่าเต้น อุปกรณ์ และใช้ศิลปะจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมขึ้นมา สร้างจินตนาการ และการตระหนักรู้สิทธิมนุษยชนแก่ผู้ชม ซึ่งยากมากกับการพูดถึงหัวข้อหนักๆ ถึง 7 สนธิสัญญาให้คนรับรู้ นำมาสู่การสร้าง นกเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพ อย่างซีนแรก เสนอเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แทนค่าผ่านสีของนกที่มีสีต่างกัน ผมมองชาติพันธุ์คือ มนุษย์ทั้งโลก มีอิสระในทุกภาคส่วน ยกเป็นเรื่องเปิด ซึ่งทุกซีนมีนกเข้ามาเกี่ยวข้อง เล่าเรื่องที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในสนธิสัญญานั้นๆ รวมถึงจับประเด็นใหญ่ในสนธิสัญญามาเล่าเรื่อง ซีนสุดท้ายเสนอการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซีนนี้ออกแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐแปลงร่างเป็นนกยักษ์ อยู่เหนือกฎเสียเอง ในฉากมีตัวละครที่ถูกกระทำ ท้ายสุดถูกอุ้มหายไป” พิเชษฐ กล่าว

 

ซีนที่ 1 สิทธิหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ  เสนอความหลากหลายทางชาติพันธุ์

 

ส่วนการแสดงถึงสิทธิสตรี พิเชษฐเล่าว่า หยิบยกวรรณกรรมรามเกียรติ์ นำตัวนางมาสื่อสาร อย่างนางสีดาถือป้ายเขียนว่า “ฉันถูกคนเป็นพ่อสั่งให้ฆ่าในวันที่ฉันเกิด ฉันถูกพ่อบุญธรรมขังในดิน 16 ปี ฉันถูกผู้ชายที่บอกว่ารักขังไว้ในสวนขวัญอีก 14 ปี และฉันถูกผู้ชายที่แต่งงานด้วย ขังไว้อีก 285 ปี” จากนั้นนางเบญจกายชูป้าย “ฉันถูกข่มขืนในสงคราม” และนางสำมนักขาชูป้าย “ฉันหลงรักผู้ชาย แต่สองคนพี่น้องมองว่าฉันผิด ตัดจมูก หู และขาฉัน” ทั้ง 3 ตัวละครจะชูป้ายพร้อมกัน “เราขอเรียกร้องสิทธิ อยากให้ถอดถอนเราออกจากวรรณกรรมรามเกียรติ์” ตนเสนอมุมมองในฐานะอยู่ในแวดวงโขนละคร และชวนถกเถียงวัฒนธรรมมีส่วนกดทับคนในสังคม

 

ส่วนสิทธิคนพิการ ศิลปินนักเต้นบอกว่า เก็บรายละเอียดของคนพิการที่มีชุดภาษาการใช้ร่างกายอีกแบบหนึ่ง มาสร้างศิลปะการเต้นรำ สะท้อนแม้นักแสดงร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็สามารถทำการแสดงบนเวทีได้ ซึ่งโลกตะวันตกปัจจุบันมีโรงละครสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ ศิลปินนักแสดงมีร่างกายเพียงท่อนบน แต่สร้างศิลปะได้

 

ถอดความหมายสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนสู่การแสดงนาฎศิลป์ร่วมสมัย

 

สำหรับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซีนที่ 3 แสดงออกด้วยเรื่องราวคนไร้บ้าน นอกจากศิลปินทำการแสดงแล้ว ยังมีคลิปเสียงของคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานศึกษาข้อมูล มาประกอบ เพิ่มพลังการสื่อสารให้งานศิลปะชุดนี้

 

“ผมพบคนไร้บ้านคนหนึ่ง ได้พูดคุยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่มีบัตรประชาชน สมัครงานไม่ได้ ทำธุรกรรมไม่ได้ ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยพระสงฆ์ เขารู้สึกไม่มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ เขาอธิบายเหตุที่นอนกลางวัน เพราะกลางคืนอันตราย ต้องตื่นตลอดเวลา คนกลับมองว่าขี้เกียจ ส่วนที่ไม่อาบน้ำ เพื่อใช้ความสกปรกเป็นเกราะป้องกันตัวเอง ทำให้คนถอยห่าง แล้วยังมีระบบเศรษฐกิจของคนไร้บ้านน่าสนใจ ใช้ชีวิตอยู่ได้จากเทศกาลเทกระจาด เงินโปรยทานจากงานบวช ไปตรอกเล้าหมูทำงานหาเงิน  การผลิตผลงานครั้งนี้ท้าทายรวม 7 ประเด็นบนเวทีให้ได้ ทำให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในแต่ละสนธิสัญญา”  พิเชษฐกล่าว

 

ซีนที่ 7 ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารการย่ำยีศักดิ์ความเป็นมนุษย์ 

 

การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยในชื่อ “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน” ครั้งนี้ มีการรวมศิลปะการเต้นรำทั้งแบบประเพณี โมเดิร์นแดนซ์ และนาฏศิลป์ร่วมสมัย แตกต่างกันไปตามเรื่องราวแต่ละซีน อีกทั้งรังสรรค์เครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ บอกเล่าคาแรคเตอร์ตัวละครในฉากนั้นๆ นี่คือการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

 

สำหรับรอบแรกวันที่ 7 ธ.ค. จะแสดงรอบนักการทูต ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ผู้แทนภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมี เปียร์กา ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมทั้งนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมเปิดงานหลังจากการแสดงเสร็จสิ้น

 

ส่วนรอบที่สอง วันที่ 8 ธ.ค. เปิดรอบประชาชน เข้าชมฟรี และผู้ชมจะได้ร่วมสนทนากับพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ผู้สนใจต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซต์ engage.eu

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thaipost.net/main/detail/84329

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *