พรุ่งนี้ที่ (ต้อง) ไม่เหมือนเมื่อวานของ ‘คนพิการไทย’

พรุ่งนี้ที่ (ต้อง) ไม่เหมือนเมื่อวานของ 'คนพิการไทย'

 

“บ้านเราคนพิการที่ได้รับการยอมรับก็มีในระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่สถานภาพทางสังคมน้อยแทบไม่มี”

 

คือคำกล่าวของ นาวาอากาศเอก ภราดร คุ้มทรัพย์ อดีตนักบินที่ปัจจุบันมีโครงการช่วยเหลือคนพิการสามจังหวัดชายแดนใต้มากมาย หลังชีวิตพลิกผันจากการประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อราว 20 ปีก่อน

 

เสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปีนี้ตรงกับ 14 พฤศจิกายน คือ ‘วันคนพิการแห่งชาติ’

 

วันเดียวกับงาน ‘ม็อบเฟสต์’ บนถนนราชดำเนิน ซึ่งมีคนพิการรายหนึ่งขึ้นเวทีใกล้แยกผ่านฟ้า ปราศรัยเรียกร้องสิทธิให้คนพิการในวันที่เบี้ยคนพิการขยับจาก 800 บาทเป็น (เพียง) 1,000 บาทต่อเดือนต่อคน ทั้งยังมีเงื่อนไขเฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัว คนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1,103,065 ราย เด็กพิการทั่วประเทศที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกจำนวน 126,032 ราย รวมจำนวน 1,229,097 ราย เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

หันมองไปรอบตัว แน่นอนว่า คนพิการไม่อาจนั่งเฉยๆ รอเบี้ยยังชีพ หากแต่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่เท่าเทียม ซึ่งทางเลือกของชีวิตไม่ควรมีแค่การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล

 

100 ต่อ 1 คืออัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการ แต่ภาคธุรกิจยังส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการปีละ 2,000 ล้าน เพราะไม่สามารถจ้างคนพิการได้ครบ วันนี้คนพิการกว่า 350,000 คน ยังไม่มีงานทำ

 

ไหนจะปัญหาคุณภาพชีวิตที่แก้เท่าไหร่ ก็ไม่ค่อยตก แม้พัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง

 

เหล่านี้คือปมปัญหาที่หลายภาคส่วนพยายามร่วมกันแก้ไข แต่จะเห็นผลอย่างไรก็ยังต้องติดตาม

 

ท.74 ที่ลืมไม่ได้ และความท้าทายใหม่

 

เมื่อคนพิการทำ ‘เกษตร’

 

เริ่มต้นด้วยเรื่องอาชีพ ขวัญฤทัย สว่างศรี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการ มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ เล่าตอนหนึ่งระหว่างเฟซบุ๊กไลฟ์ ‘สิงห์เหนือ เสือใต้ จับเข่าคุยเรื่องคนพิการ’ ผ่านเพจ ‘คนพิการต้องมีงานทำ-มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม’ เมื่อ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงการผลักดันให้คนพิการทำอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งทั้งท้าทายและแปลกใหม่ โดยยอมรับว่าผ่านการ ‘ล้มลุกคลุกคลาน’ มาพอตัว

 

“ใหม่ๆ ปวดหัวมาก คนพิการทำเกษตรก็ลำบากแล้ว แล้วต้องทำเกษตรที่มีราคาสูง คือปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ผักผลไม้ปลอดสารพิษ ต้องมองกลุ่มคนซื้อ ถ้าขายในราคาที่วางไว้ คือกิโลกรัมละ 250 บาท คุณภาพต้องตามมา จึงหาเครือข่ายภาคธุรกิจมาสนับสนุน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี บริษัทต่างๆ ให้โอกาสจัดจำหน่าย ปีใหม่คาดว่าจะเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่ ช่วงปีใหม่นี้ก็มีคนจองเมล่อนรายละ 100-200 ลูก เราไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านเฟซบุ๊ก ใจดีฟาร์ม จังหวัดชัยนาท” ขวัญฤทัยกล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

ส่วนประเด็นด้านสุขภาพ ยุทธพล ดำรงชื่นสกุล คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ผู้พิการจากอุบัติเหตุไฟไหม้ตั้งแต่ยังเป็นทารก อัพเดตประเด็นสิทธิประโยชน์ โดยระบุว่าปัจจุบันได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็น นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่นที่สามารถตรวจสอบสิทธิต่างๆ ด้วยตนเองได้เลย หนึ่งในสิทธิสำคัญ คือ สิทธิหลักประกันสุขภาพสำหรับคนพิการ ที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ท.74’ โดยสามารถใช้บริการได้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด สปสช. แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ภายใต้โครงการบัตรทอง ต่างจากยุคก่อนที่ต้องขอใบส่งตัว ซึ่งยุ่งยากมาก

 

ทวงคืน ‘พื้นผิวต่างสัมผัส’

 

ก้าวแรกของความเท่าเทียม

 

จากนั้นมาถึงประเด็นด้านการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ซึ่งโครงงานกฎหมาย วิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย น.461 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ธรรมศาสตร์ + เบรลบล็อก = จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม” เนื่องในวันคนพิการแห่งชาติ

 

ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ รั้วแม่โดม ผู้พิการทางสายตา เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการจำนวนมากแต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าสิทธิของคนพิการไม่ค่อยเกิดขึ้น การออกแบบต่างๆ จึงไม่ได้คำนึงถึงคนพิการ โดยเฉพาะทางเท้าที่แม้จะมีการทำพื้นผิวต่างสัมผัส (Braille Block) แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ มากไปกว่านั้นคือให้โทษแก่คนพิการเพราะไม่เคยมีการทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย

 

จากหลักการ Inclusive Society หรือ Society for All หรือการสร้างสังคมที่เอื้อสำหรับทุกคนที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ โดยมีหัวใจอยู่ที่การเข้าถึง (access) มีโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้โดยสะดวก ซึ่งแน่นอนว่าผู้พิการถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญ เพราะเมื่อใดแล้วที่คนพิการสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ได้ นั่นเท่ากับว่าเกิด access for all ขึ้นจริง

 

“ในต่างประเทศนั้นหลายผลิตภัณฑ์มักมีการนำหลักการ for all มาเป็นจุดขาย เช่น ไอโฟน ที่ออกแบบให้คนพิการสามารถใช้งานได้ หรือโรงแรม ที่มีอารยสถาปัตย์เอื้อให้ทุกคนใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงสนับสนุนนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เตรียมจะจัดทำพื้นผิวต่างสัมผัสอย่างครอบคลุมเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกคน ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นจุดขายได้ด้วย” ศาสตราจารย์วิริยะกล่าว

 

ข้อมูลข้างต้น ถูกสนับสนุนอีกครั้งโดย กิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ที่ยืนยันอีกเสียงหนึ่งว่า การทำพื้นผิวต่างสัมผัสพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้พิการทางสายตาได้ แต่ประเทศไทยกลับไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ เราจึงพบพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงขายของทับเส้นทาง รวมถึงพื้นผิวทางเท้าที่ชำรุด ไม่มีการซ่อมแซม จนทำให้ผู้พิการแยกไม่ออกว่าอะไรคือพื้นผิวต่างสัมผัส อะไรคือพื้นผิวทางเท้าที่ไม่สมบูรณ์

 

“หากมีการจัดการพื้นผิวต่างสัมผัสที่ดี ควบคุมดูแลให้ใช้งานได้จริง คุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาก็จะดีขึ้นมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปอย่างตรงข้าม นั่นทำให้เราถึงกับต้องออกมาคัดค้านการติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสในช่วงหนึ่ง เพราะจะนำมาสู่อันตรายมากกว่าความปลอดภัย” กิติพงศ์เล่า

 

เมื่อวาน ‘สอบตก’ พรุ่งนี้ต้องไม่เสียโอกาส

 

ส่วนในมุมมองของนักออกแบบ รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และอาจารย์สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า ธรรมศาสตร์จะเริ่มทำพื้นผิวต่างสัมผัสที่ศูนย์รังสิตก่อน ซึ่งจะเป็นการทดสอบและเรียนรู้ในลักษณะของ Guiding Block ว่าจะได้ผลดีหรือไม่ ขณะที่ท่าพระจันทร์จะทำแบบ Warning Block พร้อมกับที่ได้มีการตั้งศูนย์ศึกษาและออกแบบด้าน Universal Design เพื่อค้นคว้าและนำเสียงสะท้อนของนักศึกษามาปรับปรุง ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของทุกคน

 

นอกจากเรื่องโครงสร้างและการออกแบบแล้ว ประเด็นการศึกษาก็สัมพันธ์โดยตรงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยประเทศไทยมีผู้พิการอยู่ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้เข้าถึงการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถม 1.2 ล้านคน เข้าถึงชั้นมัธยม 1.6 แสนคน และมีเพียง 2.1 หมื่นคนเท่านั้นที่สำเร็จชั้นอุดมศึกษา นั่นสะท้อนอย่างชัดเจนว่าการศึกษาของผู้พิการในประเทศไทยยังไม่ดี จึงมีผู้พิการจำนวนมากที่เสียโอกาสที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ

 

“สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของผู้พิการไม่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงการศึกษา เช่น การไม่มีทางเท้า การไม่มีทางลาด การไม่มีลิฟต์ โดย ในอดีตธรรมศาสตร์ได้ประเมินอาคารว่าเป็นมิตรกับผู้พิการหรือไม่ ผลคือทุกอาคารสอบตกหมด จากนั้นจึงมีการจัดงบประมาณเพื่อปรับปรุงสถานที่ในทุกปี เมื่อสถานที่เป็นมิตรในทุกมิตินักศึกษาพิการก็เข้าถึงการศึกษาได้ดีขึ้น สุดท้ายผลการเรียนก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้นคิดว่าสถานศึกษาทุกระดับจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย” รศ.ดร.ชุมเขตกล่าว

 

ปิดท้ายที่ ศุภณัฐ ลี้ภัยสมบูรณ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้พิการทางการมองเห็น เปิดใจว่า อยากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งปรับปรุงอาคารและโครงสร้างต่างๆ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้พิการ เช่น เลือกใช้ลิฟต์ที่มีอักษรเบรล จัดทำทางต่างสัมผัส ปรับสภาพห้องเรียนให้มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ ปรับสภาพหอพัก รวมถึงมีไฟล์สื่อการเรียนการสอนที่สามารถใช้โปรแกรมช่วยอ่านได้

 

“ผู้พิการมีความไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง การสัญจร บางคนจำเป็นต้องมาอยู่หอพักใกล้สถานศึกษาแต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าเช่าราคาแพง ฉะนั้นจึงอยากเสนอให้มหาวิทยาลัย ภาครัฐ หรือภาคเอกชน ให้ความสำคัญกับสวัสดิการเรื่องนี้ เช่น การช่วยสนับสนุนค่าเช่าหอพัก ลดราคาหอพักสำหรับผู้พิการ ลดราคาค่ารถไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก” ศุภณัฐกล่าว

 

เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวประเด็นคนพิการไทยในวันนี้ซึ่งต้องมีพรุ่งนี้ที่ไม่เหมือนเมื่อวาน

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.matichon.co.th/columnists/news_2443148

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *