สภาพัฒน์ แจงตลอด 20 ปี คนไทยหายจนจริง! แค่ 20 ล้าน แต่เหลื่อมล้ำ ยังเพียบ!

 

สภาพัฒน์ เปิดตัวเลข “คนจนลดลง” ต่อเนื่องจริง! ตลอด 20 ปี จาก 25.8 ล้านคน ในปี 2541 ลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน ในปี 2562 ส่วน “คนปัตตานี” มีสัดส่วนคนจนหนาแน่นสูงที่สุด แต่ตลอด 5 ปี รัฐบาล คสช. สัดส่วนคนจนระดับต่ำ ไม่เกินร้อยละ 10 แต่ตัวเลขฟ้อง! ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สิน ทำคนจนมีความเสี่ยงต่อภาระ ต้นทุน ในการชำระหนี้ที่มากกว่าคนมีรายได้ ด้าน “บิ๊กสภาพัฒน์” ย้ำ ตัวเลขยึดหลักวิชาการ ความถูกต้อง สะท้อนผลการพัฒนาที่แท้จริงสู่ประชาชน

 

วันนี้ (3 ต.ค.) นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อนำเสนอสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งการวิเคราะห์ลักษณะของปัญหา และนโยบายหรือโครงการสำคัญของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

โดยมีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของ สศช. http://social.nesdc.go.th/social/Default.aspx?tabid=40 เพื่อให้สาธารณชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

 

รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของ สศช. พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจน ในระหว่างปี 2541-ถึงปัจจุบัน สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.63 ในปี 2541 ลดลงเหลือ11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.88 ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือร้อยละ 6.24 ในปี 2562

 

สถานการณ์ความยากจนในระยะ 5 ปี หลัง (ปี 2558 – 2562) พบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วน ไม่เกินร้อยละ 10 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง

 

ขณะที่ในปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ซึ่งส่งผลสืบเนื่อง ต่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก (World Bank, 2019. “Taking The Pulse of Poverty and Inequality in Thailand”) ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจนในระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก ระบุว่า อาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมากจากอดีตที่ผ่านมา จนทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนอยู่ในปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนในระยะหลัง พบว่า ครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ (Economically Inactive Household) มีการพึ่งพิงสูงโดยมีเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมาก ในครัวเรือน และจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า (คนจนร้อยละ 79.18 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า) อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตรซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจ ที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย

 

“การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง”

 

โดยในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (ในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2561) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ในรอบก่อนหน้า

 

โดยผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200 – 300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้ง คนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

 

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน เป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง

 

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเรียนว่าการนำเสนอสถานการณ์ และการวิเคราะห์ข้อมูล สำนักงานฯ ยึดหลักวิชาการ และความถูกต้องเป็นหลัก เพื่อสะท้อนผลการพัฒนาที่แท้จริงสู่ประชาชน และใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

 

รายงานของสภาพัฒน์ฯ ฉบับนี้เผยแพร่เว็บไซต์ของ สศช. (http://social.nesdc.go.th/social/Default.aspx?tabid=40) พบว่า สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (ร้อยละ 0.24) รองลงมาคือ ปทุมธานี (ร้อยละ 0.24) ภูเก็ต (ร้อยละ 0.40) สมุทรปราการ (ร้อยละ 0.56) และ กทม. (ร้อยละ 0.59)

 

“ในปี 2562 ปัตตานี เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดหรือมีความยากจนหนาแน่นสูง ที่ (29.72) ขณะที่ อีก 9 จังหวัด เรียงลงมาประกอบด้วย นราธิวาส (25.53) แม่ฮ่องสอน (25.26) ตาก (21.13) กาฬสินธ์ (20.21) สระแก้ว (18.74) พัทลุง (18.67) ชัยนาท (17.89) อ่างทอง (17.32) ระนอง (16.43)”

 

อย่างไรก็ตาม ด้านความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินสุทธิลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับสูง มูลค่าทรัพย์สินรวมสุทธิเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมดหักด้วยมูลค่ำหนี้สินทั้งหมด (ในระบบและนอกระบบ) โดยในปี 2562 มีค่าเท่ากับ 0.6442 ปรับตัวลดลงจาก 0.6453 และ 0.6651 ในปี 2560 และปี 2558 ตามลำดับ เป็นผลจากการที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงเพียงแหล่งเงินทุนนอกระบบ ซึ่งมีความเสี่ยง ภาระและต้นทุนการชำระหนี้ที่มากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง”

 

เช่นเดียวกับ ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนี หลังปรับปรุงตั้งแต่ ปี 2552 – 2560 เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน โดยในปี 2560 ค่าสัมประสิทธิ์ฯ หลังปรับปรุงอยู่ที่ 0.5221 สูงกว่าค่าเดิมที่ได้จากข้อมูลสำรวจที่ 0.4528 สะท้อนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง

 

โดยข้อมูลภาษีมาใช้ในการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างภาษี พบว่า มาตรการการหักค่าใช้จ่ายและการหักค่าลดหย่อน/บริจาคส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของผู้ยื่นแบบภาษีฯ ในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2560 – 2561 ที่ค่ำลดหย่อนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากปี 2559 (การปรับโครงสร้างภาษี) ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า กลไกหรือมาตรการรายจ่ายภาษียังคงไม่สามารถทำหน้าที่ในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ได้อย่างที่ควรจะเป็น”

 

เมื่อสุดสัปดาห์ ทีมโฆษกรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ข้อของสภาพัฒน์ฯ และอ้างว่า “นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงสาเหตุของความยากจนที่มาจากหลายปัจจัย ทำให้โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการมีอย่างจำกัด โดยมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยให้คนยากจนมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่คนจนยังคงเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐได้น้อย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจนไม่สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น”

 

ด้านพรรคฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานการวิเคราะห์ที่รัฐบาลกล่าวอ้างนั้นเป็น ภาพลวงตา เพราะมาตรการที่รัฐดำเนินการ เหตุใดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จึงระบุว่าจีดีพีประเทศไทยในปีนี้จะติดลบ -6.5% ต่ำที่สุดและต่ำกว่าประเทศลาว เมียนมา เขมร และประเทศน้องใหม่อย่าง อีสต์ ติมอร์ รวมถึงระยะหลังการจ้างงานแบบรายเดือนไม่เพิ่มขึ้น แต่มีการจ้างงานแบบลูกจ้างรายวันเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ้างงานรายเดือนขณะที่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เป็นต้น

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/politics/detail/9630000113827

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *