ยกของดีวิถีถิ่นชุมชนช่วยสร้างอาชีพ – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการบทเรียนการพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชน เป็นฐาน พร้อมฟังเรื่องราวจริงจากกลุ่ม เป้าหมายที่ใช้ชุมชนเป็นฐานขับเคลื่อนจนเกิดอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านและชุมชน ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อเร็วๆ นี้
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. กล่าวว่า คนชายขอบ คนในชุมชนถือเป็น กลุ่มคนสำคัญของประเทศที่จะมาร่วมคลายล็อก คลายปัญหาของประเทศ โดยพัฒนาวัตถุดิบที่มีในชุมชนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หลากหลาย
เรามีความเชื่ออยู่ 3 สิ่ง คือ 1.เชื่อว่าชุมชนเป็นฐานสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้หล่อหลอม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเชื่อมโยง ส่งต่อคนจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่ กสศ.เข้าไปสนับสนุนงบประมาณแม้จะไม่มาก แต่ก็เป็นการให้โอกาสกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ต้องขัง ที่สำคัญการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ 2.เชื่อว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสัมมาอาชีวะ ที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดผสมผสานให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ และ 3.เป็นการคืนศักดิ์ศรีของคนในชุมชนที่สามารถสร้างองค์ความรู้ กำหนดชะตาชีวิตตนเองและชุมชนได้เองจากทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่แล้ว
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า ปี 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐานมากว่า 700 โครงการ ผ่านการคัดเลือกจริง 130 กว่าโครงการ ซึ่งหลังจากการดำเนินการแล้วจะมีการถอดบทเรียนองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับการคัดเลือกนั้นต่างล้วนมีข้อดีทั้งนั้น ขออย่าเพิ่งถอดใจเพราะการให้ทุนสนับสนุน โครงการเหล่านี้นับเป็นหัวใจของ กสศ. ดังนั้นเราจะดำเนินโครงการต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปพร้อมหางบประมาณมาสนับสนุนมากขึ้น
ด้านนางทิพวดี ยศโสทร สตรีชาวม้งบ้านคอดยาว อ.ภูซาง จ.พะเยา ตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย กศน. ภูซาง จ.พะเยา (ภาคเหนือ) กล่าวว่า บ้านคอดยาว จัดเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้ภาพลักษณ์ไม่ค่อยดี และไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ สิ่งที่ชุมชนมีคือ “ผ้าเขียนเทียน” ซึ่งเดิมเขียนด้วยมือ แต่ปัจจุบันใช้แม่พิมพ์ทำให้เอกลักษณ์เดิมหายไป จึงอยากอนุรักษ์ไว้เป็นจุดขายของชุมชน เมื่อ กสศ. เปิดโครงการนี้พอดีจึงได้ทำโครงการอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ อาทิ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง
ขณะที่ นายธีระธาดา รสเจริญ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายของสถานพินิจนครศรีธรรมราช (ภาคใต้) กล่าวว่า ตนเคยเป็นเด็กที่เรียนดี แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง ก็เริ่มเกเร หนีพ่อแม่ไปเที่ยว โดดเรียน และติดยาเสพติดอย่างหนักจนถูกให้ออกจากโรงเรียน และพอเรียนจบม.3 ก็บอกพ่อว่าไม่ขอเรียนต่อ และขอบคุณสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอบคุณโอกาสจาก กสศ. ที่ทำให้ได้เรียนในโครงการนี้ และนำมาต่อยอด
ด้าน น.ส.ส่งศรี ต๊ะปัญญา ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายวิทยาลัยชุมชนตาก (ภาคกลาง) กล่าวว่า เนื่องจากตนมีปัญหาเรื่องการพูด จึงกังวลมากในเรื่องต่างๆ แต่ก็อยากมีงานทำ โดยตนสนใจเรื่องการนวด และได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพนวด โดยมีครูและเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ ตอนนี้สามารถเป็นผู้ประกอบอาชีพนวดได้ พอช่วงโควิด-19 ก็กลับมารับนวดที่บ้าน มีรายได้วันละ 100-200 บาท ตอนนี้อยากอบรมการนวดเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาอาชีพ ทั้งนี้ขอขอบคุณ กสศ. ที่สนับสนุนโครงการ และขอบคุณเพื่อนๆ และอาจารย์ที่ช่วยเหลือ
ส่วนนางสาวสาย คัดชาญ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย (ภาคเหนือ) กล่าวว่า อำเภอลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะปี 2561-2562 ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน และกระทั่งมีกลุ่มธนาคารหมู่บ้านเข้ามาชวนอบรมร่วมกับกลุ่มอีโต้น้อย และชาวบ้านอีก 5-6 หมู่บ้าน ทำการอบรม และศึกษาดูงาน จุดประกายแนวคิด มีงานทำ ปลูกพืชหลายชนิด เลี้ยงชีพและคนในชุมชนได้
ขอขอบคุณ https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_4904363