คนทั่วไปในสังคมมักจะเข้าใจว่าผู้พิการนั้นต้องการการดูแลเป็นพิเศษและมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆ นั่นเป็นเพียงเพราะการตัดสินจากภายนอก หากได้ใช้ชีวิต “ด้วยกัน” จะทำให้รู้ว่าผู้พิการนั้นต้องการเพียงโอกาสและพื้นที่ในสังคม หน่วยงานภาครัฐอย่างกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ริเริ่มกิจกรรม “วิ่งด้วยกัน” มาตั้งแต่ปี 2558 โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การเริ่มฝึกซ้อมจนถึงการลงสนามแข่งด้วยกัน และสร้างมิตรภาพในการอยู่ร่วมกันในชีวิตประจำวัน โดยมีภาคเอกชน หน่วยงานภาคีต่างๆ และประชาชนทั่วไปให้ความร่วมมืออย่างดี จนทำให้งาน “วิ่งด้วยกัน 1 2 3 กรุงเทพมหานคร” ประจำปี 2561 เป็นที่จับตามองในเวทีสากล
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว ในพิธีเปิดงานวิ่งที่จัดขึ้นเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ ณ สนามกีฬาแห่งชาติ สนามศุภชลาศัยว่า “ด้วยพันธกิจการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. คือ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพดี กิจกรรมวันนี้นอกเหนือจากสร้างเสริมสุขภาพให้ดีแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติที่มีต่อคนพิการและได้เห็นศักยภาพในการก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกายด้วย”
“วันนี้ผมได้มีโอกาสวิ่งเป็นไกด์รันเนอร์กับเด็กพิการทางการมองเห็น อายุ 14 ปี ระหว่างการวิ่งระยะทางสั้นๆ 2 กิโลเมตรนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทั้งผมและน้องได้แลกเปลี่ยนความสุขกัน ที่สำคัญได้สร้างประสบการณ์ใหม่ ผมเชื่อว่าทุกคนที่มาร่วมงานวันนี้ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม” พลเอกฉัตรชัย เล่าถึงความรู้สึกหลังการวิ่งเป็นไกด์รันเนอร์ในวันนี้
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า “งานวิ่งด้วยกันเป็นรากฐานแห่งการสร้างความเข้าใจในการอยู่ด้วยกันในสังคมของผู้พิการและคนทั่วไป ซึ่งงานวิ่งด้วยกันประจำปีนี้เป็นที่จับตามองจากต่างประเทศด้วย เพราะได้รับการแจ้งมาว่ามาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กรอชมภาพไลฟ์ที่จะถ่ายทอดสดในวันนี้ด้วย เท่ากับว่าประเทศไทยได้ประกาศให้ต่างประเทศได้เห็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมด้านกีฬาให้แก่ผู้พิการ และมุ่งสร้างสุขภาวะดีที่ในสังคมอย่างยั่งยืน”
“วิ่งด้วยกัน” เริ่มต้นจากการจัดทดลองวิ่งภายในสวนสาธารณะเมื่อปี 2558 มีผู้พิการทางการมองเห็นเข้าร่วมเพียงแค่ 12 คน ต่อมาได้พัฒนารูปแบบเป็นงานวิ่งครั้งใหญ่เมื่อปี 2559 และกิจกรรมวิ่งด้วยกันรายเดือน นอกจากนี้ได้ขยายผลต่อไปอีก 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ไม่เพียงแต่การจัดการแข่งขันในสนามเท่านั้น สสส.ได้จัดกิจกรรมนัดซ้อมระหว่างผู้พิการและไกด์รันเนอร์ เพื่อให้คนทั้งสองได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่ ในวันนี้ถือเป็นความภูมิใจที่มีผู้พิการมาเข้าร่วมกว่า 500 คน และมีผู้ไม่พิการมาร่วมกว่า 1,300 คน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะประจำสสส. ได้เล่าถึงความเป็นมาของกิจกรรม “วิ่งด้วยกัน”
บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยรอยยิ้มของนักวิ่งผู้พิการและเหล่าไกด์รันเนอร์ที่อาสามาช่วยเหลือในการบอกเส้นทาง คอยพยุง ช่วยระวังทาง ป้องกันอุบัติเหตุ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเป็นเพื่อนวิ่งส่งกำลังใจให้กันและกันตลอดเส้นทางจนถึงเส้นชัยแบบเคียงบ่าเคียงไหล่
คู่บัดดี้ต่างวัยกับมิตรภาพยาวนาน 3 ปี “รู้จักไกด์รันเนอร์จากการวิ่งด้วยกันเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเป็นคู่ซ้อมกันมาหลายปี พี่เขาจะคอยช่วยเหลือเราตลอด ไม่น่าเชื่อว่าการวิ่งทำให้เราได้มิตรภาพที่ยาวนาน” – สรตนัย หมวกแก้ว ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวไม่ใช้วีลแชร์
“คนทั่วไปมักส่งสายตามองมาที่ผู้พิการที่วิ่ง ถ้าเขามีคู่วิ่ง มันสามารถช่วยลดความกดดันตรงนั้นไปได้มาก ซึ่งทำให้การวิ่งดีขึ้นไปด้วย นอกจากสนามนี้พวกผมยังลงแข่งในการแข่งขันวิ่งทั่วไปด้วย” – ชูชัย สบายทรง ไกด์รันเนอร์
ดร.ผู้พิการทางหูกับไกด์รันเนอร์นักธนาคาร “ดีใจที่สังคมหันมามองเรื่องความเท่าเทียมกัน ความพิการนั้นเป็นแค่เรื่องของทางร่างกาย กิจกรรมวันนี้จะช่วยยกคุณภาพจิตใจ เป็นการมอบความสุขและกำลังใจให้กัน” – ดร.ประกาย กิจธิคุณ ผู้บกพร่องทางการได้ยินที่คว้าดีกรีปริญญาเอกเป็นคนแรกของประเทศไทยมาร่วมงานในครั้งนี้ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2
“ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคนในสังคมสนับสนุนและให้โอกาสซึ่งกันและกัน” – ฐานิชย์ นนทสุวรรณ ไกด์รันเนอร์จากธนาคารกรุงเทพ
เมื่อบอสใหญ่และพนักงานจับคู่กันมาวิ่งสองปีติดต่อกัน “อยากจะบอกทุกคนว่า เราสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องดูแลยุ่งยาก เราอยู่ร่วมกันได้” – อัมพร ศรีเมือง พนักงานสาวจากกรุงไทยแอกซ่า “เชื่อไหมว่าตอนวิ่งปีที่แล้ว เขาบอกเราว่าให้วิ่งเร็วๆ หน่อย กลายเป็นว่าเขาคือคนที่ผลักดันเรา ผมเชื่อว่าผู้พิการทำได้ทุกอย่างเท่าๆ กับคนทั่วไป” – มร.เดวิด โครูนิช บอสใหญ่แห่งกรุงไทยแอกซ่าหนึ่งในภาคเอกชนที่สนับสนุนโครงการนี้
ครูและเด็กพิเศษบนสนามวิ่งธรรมดา “ครูเชื่อว่าเด็กพิเศษทุกคนมีความสามารถและทำได้เหมือนกับเด็กคนอื่น อยากให้สังคมเปิดใจให้กับความพิเศษของเด็กๆ ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการพิเศษแต่เด็กก็สามารถอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้” – แพรว อมรรังสฤษดิ์ คุณครูผู้ก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการมาโฮมเพลย์พาเด็กพิเศษและอาสาสมัครร่วมสามสิบคนมาวิ่งด้วยกัน
การแข่งขันวันนี้ไม่มีผลแพ้ชนะเหมือนสนามอื่นๆ เพราะทุกคนที่ก้าวเข้าสู่งานนี้ถือว่าได้ข้ามผ่านอุปสรรคแห่งความบกพร่องทางร่างกายไปแล้วพร้อมทั้งยังได้รางวัลแห่งการชนะใจตัวเองและวิ่งสู่เส้นชัยด้วยความเสมอภาค!
“งานวิ่งด้วยกัน” จัดขึ้นเพื่อทุกคน โดยจับคู่คนพิการและไม่พิการวิ่งด้วยกัน ประกอบด้วย 3 ระยะทาง คือ เดินวิ่ง 2 กิโลเมตร 6 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร ผู้พิการที่มาเข้าร่วมแบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ พิการทางการเห็น พิการทางการได้ยิน พิการทางการเคลื่อนไหว ไม่ใช้รถวีลแชร์ พิการทางการเคลื่อนไหว ใช้รถวีลแชร์-กล้ามเนื้อปรกติ พิการทางการเคลื่อนไหว ใช้รถวีลแชร์ ช-กล้ามเนื้อหรือกระดูกไม่แข็งแรง พิการทางการเรียนรู้สติปัญญา และบุคคลที่มีภาวะออทิซึม
ขอบคุณ… https://www.thairath.co.th/content/1217015