สัญญาณ “ออทิสติก” ในวัยรุ่น ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

สัญญาณ "ออทิสติก" ในวัยรุ่น ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

 

โรคออทิซึม (Autism) หรือออทิสติก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติใน 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านภาษา ด้านสังคม ด้านพฤติกรรม คือแสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสังเกตสัญญาณและอาการเบื้องต้นเองได้ แต่สัญญาณและอาการของโรคออทิสติกนั้นมักจะหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัยด้วย แม้สัญญาณออทิสติกในเด็ก อาจนำไปใช้สังเกตวัยรุ่นบางคนไม่ได้ แต่เหล่านี้เป็น สัญญาณออทิสติกในวัยรุ่น ที่พบได้บ่อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรรู้ไว้ เพราะโรคออทิสติกนั้น แม้จะรักษาไม่หาย แต่หากสังเกตอาการได้เร็ว ก็จะช่วยให้จัดการกับอาการของโรคได้ดีขึ้น

 

สัญญาณออทิสติกในวัยรุ่นที่ควรรู้

 

สำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคออทิสติกในระดับเบา อาจมีอาการดังต่อไปนี้

 

  • มีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการเข้าสังคม เช่น คุยกับผู้อื่นไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจท่าทาง หรือภาษากายที่ใช้กันทั่วไป บางคนอาจชอบหาเพื่อนทางออนไลน์มากกว่า
  • ไม่สบตาผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกาย เช่น การกอด การจับมือ
  • ไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น หรือแม้กระทั่งความรู้สึกของตัวเองด้วย
  • ชอบอยู่คนเดียว และอยากปลีกตัวจากโลกภายนอก
  • ไม่อยากไปโรงเรียน
  • มีปัญหาทางอารมณ์หรือสุขภาพจิต เช่น ความนับถือตัวเองต่ำ วิตกกังวลง่าย อารมณ์เสียบ่อย เป็นโรคซึมเศร้า
  • มีปัญหาในการนอน เช่น นอนหลับยาก ชอบตื่นในเวลาที่วัยรุ่นไม่ค่อยตื่นกัน อย่างตื่นตีสี่ทุกวัน เป็นต้น
  • ชอบใช้ภาษาทางการมากกว่าใช้คำแสลง ศัพท์วัยรุ่น หรือภาษาวิบัติแบบที่วัยเดียวกันชอบใช้
  • ชอบแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น เช่น ชอบปรบมือซ้ำๆ ยึดติดกับกิจวัตรประจำวันแบบเดิมๆ ที่เคยทำ หรือจะรู้สึกเป็นทุกข์ เครียด หรือวิตกกังวล หากรูปแบบกิจกรรมที่คุ้นเคยถูกรบกวน หรือต้องทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม
  • มีความสนใจ หรือโฟกัสแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหมกหมุ่นกับบางสิ่งบางอย่าง เช่น ชอบอาหารอะไรก็กินแต่อาหารนั้น ชอบใส่เสื้อผ้าตัวไหนก็จะใส่แต่ตัวนั้น

 

สำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคออทิสติกในระดับรุนแรง อาจมีอาการที่นอกเหนือไปจากที่กล่าวข้างต้น หรือมีสัญญาณและอาการบางอย่างในระดับรุนแรงขึ้น เช่น

 

  • ไม่พูดเลย
  • หากกิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไป จะรู้สึกเครียด ไม่มีความสุข หรือวิตกกังวลอย่างหนัก
  • มักแสดงพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว หรือทำร้ายตัวเอง เช่น เอาศีรษะกระแทกกำแพงซ้ำแล้วซ้ำอีก
  • แม้แต่การประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ก็ต้องมีคนคอยช่วยเหลือตลอด
  • มีพฤติกรรมซ้ำๆ และมักแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นบ่อยๆ เช่น โยกตัวไปมา
  • ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือกิจวัตรประจำวันแบบเดิมเป๊ะๆ ไม่ยอมยืดหยุ่นเด็ดขาด
  • สนใจแค่บางเรื่อง หรือมีความชอบแค่บางสิ่งบางอย่างอย่างชัดเชน เช่น เสื้อผ้า อาหาร และหากไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบ จะไม่แตะต้องหรือไม่สนใจเด็ดขาด
  • มีปัญหาในการกินอาหาร จนต้องดูแลด้านอาหารการกินเป็นพิเศษ

 

ลูกวัยรุ่นเป็นออทิสติก พ่อแม่ทำอย่างไร?

 

เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกของคุณมีสัญญาณออทิสติกในวัยรุ่นตามที่กล่าวไปข้างต้น ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยโรค ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีที่สามารถรักษาโรคออทิสติกให้หายขาดได้ แต่การพาลูกไปพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ารับการบำบัดที่เหมาะสม เช่น อรรถบำบัด (Speech Therapy) หรือการบำบัดความผิดปกติทางภาษาและการพูด พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) การฝึกทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต (เช่น ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการประกอบกิจวัตรประจำวัน) ร่วมกับการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ ก็จะช่วยให้คุณดูแลลูกรักของคุณได้ดีขึ้น

 

  1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคออทิสติกให้ดี โดยคุณสามารถหาข้อมูลได้ทั้งจากในหนังสือ ในเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ หรือจะปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญก็ได้ เมื่อคุณเข้าใจโรคนี้ได้ดีขึ้น ก็จะช่วยให้คุณเข้าใจลูกของคุณ และใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข
  2. ทำความเข้าใจลูกของคุณให้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกของคุณบ่อยๆ เพื่อจะได้รู้ว่าเขาคิดอะไร และจดความคิดของเขาเอาไว้ เพื่ออ่านทบทวนให้เข้าใจ หรือใช้เป็นเครื่องมือให้คุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญใช้ในการดูแลลูกของคุณให้ดีขึ้น
  3. เรียนรู้พฤติกรรมของลูก และควบคุมสิ่งเร้าที่จะทำให้พฤติกรรมหรืออารมณ์ของเขารุนแรงขึ้น เช่น หากลูกของคุณไม่ชอบแสงไฟจ้าๆ ก็ควรปรับไฟในบ้านให้สลัว หากลูกไม่ชอบเสียงดัง หรือไม่ชอบให้มีเสียงรบกวนเวลาทำกิจกรรม ก็ให้เขาใส่หูฟัง หรือใส่ที่อุดหูป้องกันเสียง หากลูกระเบิดอารมณ์ ให้เข้าใจว่าเป็นเพราะความบกพร่องของการแสดงอารมณ์ อย่าตะคอก หรือทำให้ลูกรู้สึกอับอาย แต่ควรให้เวลาเขาได้สงบสติอารมณ์ ในพื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่ที่ทำให้เขารู้สึกสงบ
  4. ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ข้อนี้ถือว่าสำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับในตัวลูกของคุณให้ได้ เพราะสิ่งที่เขาเป็นนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด การให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว และคนในครอบครัวก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมโปรดของพวกเขา โดยยังเคารพในพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน จะช่วยให้เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับและความรักจากคนในครอบครัว และสามารถใช้ชีวิตได้เป็นสุขขึ้น

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.sanook.com/health/23065/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *