เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับคนพิการและคนชรา ฉบับที่ .. พ.ศ. …. (อ่านที่นี่) ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการ ทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ.2548 ที่กำหนดให้อาคารดังต่อไปนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามกำหนดในกฎกระทรวง ได้แก่ อาคารที่ให้บริการสาธารณะ เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา หอสมุด อาคารประกอบของสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬาในร่ม, สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธาณสุขและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและอาคารที่ทำการราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจและองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยสามารถเปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างได้ดังนี้
นิยามพื้นที่หลบภัยที่เป็นไปตามมาตรฐาน
กฎกระทรวงฉบับปี พ.ศ.2548 ไม่มีการระบุถึงพื้นที่หลบภัย ขณะที่ร่างแก้ไขกฎกระทรวงล่าสุดระบุถึงพื้นที่หลบภัยภายในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษเท่านั้น จึงทำให้อาคารที่ครอบคลุมอยู่ตามกฎกระทรวงต้องมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นใดชั้นหนึ่งตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป หรืออาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร และมีพื้นที่รวมกันทุกหรือชั้นใดชั้นหนึ่ง เกิน 1,000 ตร.ม. ที่ต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัย (Area of Refuge) ระบบการเตือนภัย และการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเป็นไปตามมาตรฐาน
อย่างไรก็ดี อาคารอื่นที่แม้จะมีหลายชั้นกลับไม่อยู่ในข้อบังคับของกฎกระทรวงนี้ ซึ่งอาจทำให้คนพิการที่อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ในอาคารขนาดเล็กหรือกลางได้รับอันตรายหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยอันตรายต่างๆ เช่น ไฟไหม้จนทำให้ไม่สามารถใช้งานลิฟต์โดยสารได้ รวมทั้งข้อกำหนดนี้ไม่รวมถึงพื้นที่นอกอาคาร และสถานีรถไฟต่างๆ
ข้อกำหนดของอาคาร
กฎกระทรวงกำหนดให้อาคารตามกรอบข้างต้น ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก
โดยในกฎกระทรวงปี 2548 มีการระบุถึงอาคารประเภทสำนักงาน ซึ่งสามารถตีความครอบคลุมถึงสำนักงานบริษัทเอกชน
ขณะที่ร่างกฎกระทรวงล่าสุดนั้นไม่มีอาคารประเภทสำนักงานปรากฎอยู่ จึงอาจทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อเนื่องในเรื่องการรับคนพิการเข้าทำงาน หากบริษัทนั้นๆ ไม่ได้ตั้งอยู่ในระเบียบข้อบังคับขออาคารสามอย่างข้างต้น และเป็นบริษัทเอกชน จนอาจใช้ช่องว่างนี้ในการปฏิเสธการจ้างงานคนพิการได้
ที่จอดรถ
ร่างกฎกระทรวงล่าสุดได้เพิ่มจำนวนรถยนต์ของคนพิการและผู้สูงอายุ โดยระบุให้มีที่จอดรถคนพิการไม่น้อยกว่า 1 คันต่อที่จอดรถทั้งหมด1- 25 คัน, ไม่น้อยกว่า 2 คันสำหรับที่จอดรถทั้งหมดตั้งแต่ 26 – 50 คัน,ไม่น้อยกว่า 3 คัน สำหรับที่จอดรถทั้งหมดตั้งแต่ 51 – 75 คัน, ไม่น้อยกว่า 4 คันสำหรับที่จอดรถทั้งหมดตั้งแต่ 76 – 100 คัน, ไม่น้อยกว่า 5 คันสำหรับที่จอดรถทั้งหมดตั้งแต่ 101-150 คัน และไม่น้อยกว่า 6 คันสำหรับที่จอดรถทั้งหมดตั้งแต่ 151-200 คัน และเพิ่มขึ้นอีก 1 คันต่อรถที่เพิ่มขึ้นทุก 100 คัน ถ้าเกินกว่า 50 คัน ให้คิดเป็น 100 คัน
ต่างจากกฎกระทรวงปี 2548 ที่มีที่จอดรถคนพิการอย่างน้อย 1 คันต่อที่จอดรถทั้งหมด 10 – 50 คัน และอย่างน้อย 2 คันต่อที่่จอดรถทั้งหมด 51-100 คัน และเพิ่มขึ้นทีละ 1 คัน ทุก 100 คัน โดยเศษของรถหากมากกว่า 50 คัน ให้ปัดเป็น 100 คัน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบว่าสถานที่แห่งหนึ่งมีที่จอดรถทั้งหมด 170 คัน หากทำตามกฎกระทรวงปี 2548 จะต้องมีที่จอดรถคนพิการไม่น้อยกว่า 3 คันในขณะที่กฎกระทรวงล่าสุดแก้ไขให้มีที่จอดรถไม่น้อยกว่า 6 คัน
ในร่างแก้ไขกฎกระทรวงน่าสนใจตรงที่หากมีที่จอดรถทั้งหมดเพียง 1 คัน ที่จอดนั้นก็จะต้องถูกจัดเป็นที่จอดรถคนพิการ ต่างจากกฎกระทรวงปี 2548 ที่จะต้องมีที่จอดรถทั้งหมด 10 คัน จึงจะต้องมีที่จอดรถคนพิการคันแรก
นอกจากนี้กฎกระทรวงแก้ไขล่าสุดยังกำหนดให้ ที่จอดรถคนพิการและผู้สูงอายุต้องอยู่ใกล้ทางเข้า-ออกอาคารมากที่สุด มีพื้นผิวเรียบ ระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปคนพิการนั่งวีลแชร์อยู่บนพื้นที่จอดรถ หากมีธรณีประตู ความสูงและความกว้างของธรณีประตูให้เป็นไปตามที่กำหนด
ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก
จากเดิมกฎกระทรวงปี 2548 กำหนดให้อาคารต้องมีป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร โดยต้องมีรายละเอียดได้แก่ สัญลักษณ์คนพิการสีขาวโดยพื้นป้ายเป็นสีน้ำเงิน หรือเป็นสีน้ำเงินโดยพื้นป้ายเป็นสีขาว, เครื่องหมายแสดงทางไปสู่สิ่งอำนวยความสะดวกและสัญลักษณ์ หรือตัวอักษรแสดงประเภทของสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งหมดต้องมีความชัดเจน มองเห็นได้ง่าย ติดอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทำให้สับสน และจัดให้มีแสงส่องสว่างเป็นพิเศษทั้งกลางวันและกลางคืน
โดยร่างแก้ไขล่าสุดกำหนดเพิ่มคุณลักษณะของป้าย ทั้งป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องหมายแสดงทิศทางไปสู่สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะต้องสามารถมองเห็น สัมผัสได้ รับรู้ มีความชัดเจนและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทำให้สับสน
อย่างไรก็ดี การระบุว่าการติดตั้งป้ายสามารถทำได้ตามสมควร อาจเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้สถานที่ต่างๆ ใช้เป็นข้ออ้างในการยกเว้น หรือไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ จนอาจทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากป้ายได้เท่าที่ควร
ลักษณะทางลาด
สิ่งที่แก้ไขในเรื่องทางลาดจากกฎกระทรวงปี 2548 อย่างแรกคือการเปลี่ยนหน่วยเรียกจากมิลลิเมตร เป็นเซนติเมตร โดยเดิมความกว้างของทางลาดคือ 900 มิลลิเมตร (90 เซนติเมตร) หากยาวรวมกัน 6,000 มิลลิเมตร (6 เมตร) ขึ้นไปจะต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร (1.5 เมตร) ในขณะที่กฎกระทรวงล่าสุดกำหนดให้ทางลาดมีความกว้างรวมไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ในกรณีเป็นทางลาดแบบ 2 ทางสวนกันให้มีความกว้างรวมไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร
เดิมทางลาดต้องมีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และมีความยาวช่วงละไม่เกิน 6 เมตร ในกรณีที่ทเกิน 6 เมตร ต้องจัดให้มีชานพักยาวไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วงของทางลาด ขณะที่ร่างกฎกระทรวงล่าสุดกำหนดให้มีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และมีความยาวช่วงละไม่เกิน 9 เมตร ในกรณีที่เกิน 9 เมตร ต้องจัดให้มีชานพักยาวไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วงของทางลาด
ในกฎกระทรวงปี 2548 กำหนดให้ทางลาดด้านที่ไม่มีผนังกั้น ต้องยกขอบสูงจากพื้นผิวของทางลาดไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตรและมีราวกันตก แตกต่างจากร่างแก้ไขล่าสุดที่่กำหนดให้ยกขอบสูงจากพื้นผิวของทางลาดไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และต้องมีราวมือจับและราวกันตกตามมาตรฐาน
อีกอย่างที่เปลี่ยนไปคือ เดิมทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 2.5 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับทั้งสองด้าน โดยราวจับต้องทำด้วยวัสดุเรียบ มั่นคงแข็งแรง ไม่เป็นอันตรายในการจับและไม่ลื่น มีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตรไม่เกิน 4 เซนติเมตร และสูงจากพื้น 80 – 90 เซนติเมตร ติดผนังเรียบโดยมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตรและสูงจากจุดยึดไม่น้อยกว่า 12 เซนติเมตร ทั้งนี้ราวจับต้องยาวต่อเนื่อง ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ของคนพิการทางการมองเห็น และปลายของราวจับต้องยื่นเลยจากจากทางลาดไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ขณะที่ร่างแก้ไขกฎกระทรวงล่าสุดกำหนดให้ทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 1.8 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวมือจับทั้งสองด้าน หากกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับมือห่างกันไม่เกิน 1.5 เมตร ทำด้วยวัสดุเรียบ มั่นคงแข็งแรง ไม่เป็นอันตรายในการจับ มีลักษณะกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 – 4 เซนติเมตร หรือมีลักษณะอื่นตามมาตรฐาน สูงจากพื้น 75 – 90 เซนติเมตร ติดผนังเรียบให้มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร และมีความสูงจากจุดยึดไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ราวมือจับต้องยาวต่อเนื่องกันหรือมีระยะห่างไม่เกิน 5 เซนติเมตร และส่วนที่ยึดผนังจะต้องไม่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ของคนพิการทางการเห็น
ห้องลิฟต์
กฎกระทรวงปี 2548 ได้ระบุสัดส่วนต่างๆ ภายในลิฟต์แล้วอย่างชัดเจน ทั้งความกว้าง ยาว ราวจับ ประตู ปุ่มกด อย่างไรก็ดี ร่างกฎกระทรวงล่าสุดได้แก้ไขรายละเอียดดังกล่าวในบางส่วน โดยกำหนดให้ลิฟต์มีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.35 เมตรและยาวไม่น้อยกว่า 1.4 เมตร และสูงไม่น้อยกว่า 2.3 เมตร และเพิ่มเติมระบบชุดไฟฟ้าสำรองเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าดับ และระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน พัดลมระบายอากาศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงหากเกิดเหตุไฟฟ้าดับ
ปั๊มน้ำมัน
ในร่างกฎกระทรวงล่าสุดมีการเพิ่มเติมเรื่องของสถานให้บริการเชื้อเพลิงหรือปั๊มน้ำมัน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงต้องว่า ต้องจัดให้มีห้องน้ำสำหรับคนพิการที่ สามารถเข้าใช้ได้ตลอดเวลาทำการอย่างน้อย 1 ห้อง มีชักโครกชนิดนั่งราบสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และที่กดน้ำเป็นชนิดคันโยก ปุ่มกดขนาดใหญ่หรือชนิดอื่นที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกตามระเบียบว่าด้วยเรื่องห้องน้ำคนพิการ
โรงมหรสพและห้องประชุม
เดิมที่ที่นั่งสำหรับผู้ใช้วิลแชร์มีสัดส่วนเป็น 1:100 ขณะที่ร่างกฎกระทรวงล่าสุดเพิ่มที่นั่งของผู้ใช้วีลแชร์ เป็น 2:100 และเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่งต่อจำนวน 50 ที่นั่ง โดยจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เป็นพื้นที่ราบ เข้าออกได้สะดวก
ทั้งนี้ โรงมหรสพมีความหมายรวมถึงสถานที่ฉายภาพยนตร์ โรงละคร และหอแสดงดนตรีหรือการแสดงรื่นเริงอื่นใดที่เปิดให้สาธารณะชนเข้าชม ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
โรงแรม
ในกฎกระทรวงปี 2548 กำหนดสัดส่วนจำนวนห้องพักสำหรับคนพิการในสัดส่วน 1:100 ห้อง ในขณะที่ ร่างกฎกระทรวงล่าสุดอัตราส่วนของห้องพักคนพิการนั้นเยอะขึ้น โดยกำหนดให้มีห้องพักสำหรับคนพิการชั้นละ 1 ห้อง หากมีชั้นเดียว จะต้องมีห้องพักสำหรับคนพิการในสัดส่วน 1:10 ห้อง ต้องอยู่ใกล้บันได หรือบันไดหนีไฟ หรือลิฟต์ดับเพลิง และต้องจัดให้มีสัญญาณบอกเหตุ หรือเตือนภัยทั้งสัญญาณที่เป็นเสียงและ แสงและระบบสั่นสะเทือน
ที่พักอาศัยรวม หอพัก อาคารชุด
ในร่างแก้ไขกฎกระทรวงล่าสุด มีการระบุเพิ่มเติมในเรื่องที่พักอาศัยรวมด้วย โดยระบุว่า หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก หรืออาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง ตลอดจนพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ศาสนสถานหรือฌาปนสถาน ต้องมีทางลาดหรือลิฟต์ หรืออุปกรณ์ขึ้นลงทางดิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้
อย่างไรก็ดียังไม่มีการพูดถึงจำนวนอัตราส่วนของห้องพักและมาตรฐานของห้องพักที่เหมาะสมสำหรับคนพิการในการอยู่อาศับแบบที่พักอาศัยรวม
ทั้งนี้การแก้ไขร่างกฎกระทรวงจะบังคับใช้กับอาคารสร้างใหม่ หลังจากที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้เท่านั้น ไม่นับรวมถึงอาคารเก่า หรือยื่นขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิแล้ว ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ