“อัศวิน” พร้อมรับมือหากมีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ย้ำอย่าการ์ดตก สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

 

กทม.เตรียมพร้อมหากมีการระบาดระลอกใหม่ ตรวจโควิด-19 เชิงรุกแล้วกว่า 67% หลายภาคส่วนชื่นชม กทม. เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ย้ำอย่าการ์ดตก โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น

 

วานนี้ (12 มิ.ย.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) โดย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 58/2563 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

 

 

ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์หากมีการระบาดโรคโควิด-19 รอบใหม่ นอกจากนี้ยังได้ประสานโรงพยาบาบาลเครือข่ายที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน คาดว่าจะสามารถรองรับสถานการณ์ได้ในระดับที่พร้อมพอสมควร สำหรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง สำนักงานการแพทย์ได้ประสานโรงพยาบาลเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการรูปแบบใหม่ที่เหมาะสม โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การตรวจรักษาทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต Tele Medicine การขอรับคำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร การชำระค่ายา ค่าตรวจรักษาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต Banking เป็นต้น

 

สำหรับผลการดำเนินงานการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประชากรกลุ่มเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง ด้วยการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก (Sentinel Surveillance) ซึ่งได้รับการสนับสนุนชุดทดสอบจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 15,210 ชุด กรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 63 สรุปผลการตรวจถึงปัจจุบัน (11 มิ.ย. 63) ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้วทั้งสิ้น 10,276 ราย การสุ่มตรวจคิดเป็นร้อยละ 67.56 จากยอดชุดตรวจที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ตรวจไม่พบเชื้อ 7,929 ราย อยู่ระหว่างรอผล 2,347 ราย โดยกรุงเทพมหานครจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจครบถ้วนแล้วเสร็จภายในเดือนนี้

 

ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานครมอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต สำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ สตรี คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง ที่อยู่ในภาวะยากลำบากและยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นใด โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพของกรุงเทพมหานครพร้อมทั้งมอบแอลกอฮอล์ล้างมือให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว สำหรับสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค และของใช้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมาบรรจุถุงยังชีพรวมทั้งแอลกอฮอล์ล้างมือ กรุงเทพมหานครได้ประสานขอรับการสนับสนุนมาจากหน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาชนผู้มีจิตอันเป็นกุศล โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อมอบถุงยังชีพของภาคเอกชนอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังได้ให้การช่วยเหลือตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ 2557 อาทิ การช่วยเหลือทุนฝึกอาชีพ ทุนประกอบอาชีพ มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาของบุตร ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบที่เจ็บป่วย เป็นต้น รวมทั้งได้แจกกล้าผักและชุดปลูกผัก DIY พืชผักสวนครัว เพื่อให้ปลูกกินเองในครัวเรือนหรือปลูกขายเสริมสร้างรายได้ในครัวเรือนในอนาคต ทั้งนี้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ได้รับความชื่นชมจากรัฐบาลและหน่วยงานหลายภาคส่วน

 

นอกจากนี้ที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของสำนัก สำนักงานเขต รณรงค์ประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนให้ประชาชน ระมัดระวังดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งขอให้สถานประกอบการและประชาชนที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำและข้อกำหนดของมาตรการป้องกันและควบคุมคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ภาครัฐรวมทั้งกรุงเทพมหานครกำหนด เช่น การใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามบุคคลกรณีพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในวงกว้างต่อไป

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/qol/detail/9630000061093

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *