พลังจิตอาสา “นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” บ้านน้ำริน “ค้นหา-สนับสนุน-ช่วยเหลือ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

พลังจิตอาสา “นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” บ้านน้ำริน “ค้นหา-สนับสนุน-ช่วยเหลือ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

 

บ้านน้ำริน ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่อ่องสอน เป็นชุมชนขนาดเล็กเพียง 183 ครัวเรือน อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 12 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชาติพันธ์ลีซู และมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่รวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง

 

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในชุมชนแห่งนี้มีผู้พิการจำนวน 12 คน โดยส่วนใหญ่ทางครอบครัวของผู้พิการยังขาดความรู้ในเรื่องของสิทธิ์ต่างๆ ของผู้พิการและครอบครัวที่ควรจะได้รับ รวมไปถึงแนวทางการดูแลผู้พิการอย่างถูกต้อง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ให้กับผู้พิการ

 

แต่ภายหลังจากที่ “นางสาวมณีรัตน์ หลีจา” และ “นายพายัพ มังกรชัยศิลป์” สองอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านน้ำริน (อสม.บ้านน้ำริน) ที่มีความสนใจในเรื่องของผู้พิการ และได้ไปเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนา “นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” หรือ “นสส.” จาก โครงการพัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการในชุมชนภาคเหนือ

 

พวกเขาจึงกลับมาสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลของผู้พิการในชุมชนหรือ ไอซีเอฟ (ICF) อย่างเป็นระบบ (International Classification of Functioning Disability and Health) พร้อมกับจัดทำ “โครงการพัฒนานักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบมีส่วนร่วมบ้านน้ำริน” ขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับผู้พิการชุมชนของตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

“เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้ว่าคนที่พิการนั้นต้องการอะไรบ้าง เป็น อสม.ก็รู้แค่ว่าบ้านนี้มีคนพิการ แต่ภายหลังจากการไปอบรม นสส. มาแล้วก็ทำให้เปิดมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อผู้พิการ จากเดิมที่ไม่ค่อยได้รู้ว่าความรู้สึกลึกๆ ของคนพิการนั้นเขาต้องการอะไร คิดยังไง แต่พอได้นำเอาเครื่องมือ ICF มาใช้ก็จะทำให้เราสามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของเขาได้ และสามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนในสิ่งที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง” มณีรัตน์ กล่าว

 

เช่นเดียวกันกับ พายัพ มังกรชัยศิลป์ ที่บอกว่าพอทำฐานข้อมูลต่างๆ และพบความต้องการที่แท้จริงก็จะนำไปสู่การหาหนทางในการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสถานที่บ้านเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าห้องน้ำได้อย่างสะดวก หรือวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

“เมื่อค้นพบปัญหาและความต้องการ ก็จะพยายามหาหน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการที่ได้ไปอบรม นสส. ทำให้เราได้พบช่องทางใหม่ๆ ในการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ และแนวทางใหม่ๆ ในการช่วยเหลือผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล พัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาชุมชน หรือแม้แต่หน่วยงานด้านการเกษตร ซึ่งทำให้งานของ นสส. กว้างขึ้น พบปะผู้คนหลากหลายมากขึ้น ก็จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือดูแลคนพิการได้มากขึ้นด้วย” พายัพ กล่าว

 

งานลำดับแรกๆ ที่ นสส.บ้านน้ำรินได้ดำเนินงาน นอกจากการสำรวจความต้องการของผู้พิการ ก็คือการทำให้ผู้พิการเข้าถึง “สิทธิ์” ต่างๆ ที่ควรได้รับ เพื่อให้พวกเขาได้มี “บัตรประจำตัวคนพิการ” ที่จะได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือรายเดือน รวมไปถึงงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ในการเข้ามาฟื้นฟูปรับปรุงดูแลคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้แลให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ผู้พิการในชุมชนบ้านน้ำรินทุกคนได้รับและเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐอย่างครบถ้วน

 

“เรามีเป้าหมายในการสร้าง นสส. ในชุมชนเพิ่มเป็น 10 คน ถามว่าเพราะอะไรในเมืองมีคนพิการไม่กี่คน ตรงนี้ถ้าเรามีคนที่มีความรู้มีความเข้าใจตัวผู้พิการในชุมชนมากขึ้น แน่นอนว่าจะสามารถดูแลคนพิการทุกคนได้อย่างทั่วถึง แต่มีอีกคนหนึ่งที่สำคัญที่เราต้องดูแลก็คือ ผู้ดูแลคนพิการ การมี นสส. ก็จะทำให้เราสามารถไปเยี่ยมเยียนพูดคุยให้กำลังใจผู้พิการ ผู้ดูแล และครอบครัวได้บ่อยมากขึ้น เพราะเรื่องของกำลังใจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบางครั้งคนที่ดูแลก็มีภาวะซึมเศร้า และการที่มีคนทำงานหลายคนก็จะสามารถช่วยทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว” มณีรัตน์ ระบุ “การเป็น นสส. นั้นจะมีความรู้ต่างๆ ที่มากกว่า อสม. ทั้งเรื่องการทำกายภาพบำบัด การนวดแผนโบราณ การรักษาแผล ดูแลแผลกดทับสำหรับผู้พิการ ซึ่งนอกจากเราจะช่วยผู้พิการในชุมชนได้แล้ว ความรู้ที่เรามียังสามารถนำไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ในชุมชนได้” พายัพ กล่าว

 

ปัจจุบันแม้ว่าคนพิการทั้งหมดในชุมชนจะเข้าถึงสิทธิ์และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และดูเหมือนว่างานของ นสส. น่าจะหมดลงไป แต่ทั้ง “มณีรัตน์” และ “พายัพ” ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาอยากเห็นคนพิการและคนในครอบครัวของคนพิการมีความสุข อย่างน้อยสิ่งที่ทั้งคู่ได้ทำอยู่ก็สามารถกระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาใส่ใจ และสนใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเองมากขึ้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะพาตัวเองไปเป็นคนพิการในอนาคต

 

“เป้าหมายจริงๆ ผมอยากเห็นผู้พิการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น จากเดินไม่ได้ก็อยากเห็นเขาเดินได้ อยากให้การทำงานของเราเป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความเสี่ยงในการจะเป็นคนพิการน้อยลง บางคนอาจจะเลือกการไปทำบุญที่วัด แต่ผมเลือกที่จะทำบุญกับคนพิการและผู้ยากไร้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุขได้เช่นกัน” พายัพ ระบุ

 

“อยากให้ทุกคนหายกลับมาเป็นปกติ อยากเห็นทุกคนมีรอยยิ้ม บางครั้งการที่เขามีความสุขไม่ได้เกิดจากการมีเงินไปมอบให้ แค่การไปเยี่ยมเยียนพูดคุยให้กำลังใจ เขาก็มีความสุขแล้ว ซึ่งรอยยิ้มของคนพิการและครอบครัวก็คือความสุขของเราด้วยเช่นกัน” มณีรัตน์ กล่าวสรุป

 

การที่ “นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” นำองค์ความรู้ต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการอย่างมีส่วนร่วมกับสมาชิกในครอบครัวและคนในชุมชนบ้านน้ำรินแห่งนี้ นอกจากจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการในชุมชนดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ครอบครัวของผู้พิการและสมาชิกในชุมชน มีความรู้และเกิดความตระหนักในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนบ้านน้ำรินสามารถยกระดับและพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนที่มีสุขภาวะอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.ryt9.com/s/prg/3130305

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *