ความเท่าเทียมทางการศึกษาเป็นวาระที่สังคมต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกับเด็กที่บกพร่องจากร่างกายไม่พร้อมยิ่งต้องไม่ละทิ้ง จึงเกิดเป็นหลักสูตรเรียนออนไลน์เพื่อเด็กออทิสติกขึ้น
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี กรุงเทพฯ ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จ.ขอนแก่น ให้ความสำคัญมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงได้พัฒนารูปแบบการให้ความรู้และฝึกทักษะชีวิตของเด็กออทิสติก เรียนรู้ได้จากที่บ้าน โดยให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลมีส่วนร่วมได้ ตามแนวคิด ‘ปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นครู’ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
ปัจจุบันผู้ที่มีความพิการออทิสติกมีจำนวน 14,563 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) โดย พก. มีหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลบุคคลออทิสติก 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จ.นนทบุรี และศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จ. ขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาคมผู้ปกครองออทิซึม (ไทย)
ทั้งนี้ ได้จัดทำหลักสูตรออนไลน์ขึ้น โดยเนื้อหาเน้นการใช้ชีวิตประจำวัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.เสริมทักษะพัฒนาการการใช้ชีวิตและทักษะการสื่อสาร
2. กิจกรรมผ่อนคลายสำหรับผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อบุตรหลาน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนพิการทางออทิสติก ที่ไม่สะดวกเดินทางและที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกลุ่มที่ขอรับคำปรึกษาผ่าน 1300 และช่องทางอื่นๆ โดยจัดห้องเรียน 2 รอบคือ เวลา 10.30 น. และ 15.00 น. ผ่านแอพพลิเคชั่น zoom ใช้เวลา 45 นาทีต่อครั้ง
ธนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครูฝึกสอนจะประเมินให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็กและครอบครัว เน้นให้ผู้ปกครองและเด็กได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊คของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือโทร.0 2354 3388
ขอขอบคุณ https://bit.ly/3gAUO2j