คืบหน้าจ้างงานคนพิการทั่วไทย ก.แรงงาน

คืบหน้าจ้างงานคนพิการทั่วไทย ก.แรงงาน ผนึก Workability Thailand ส่งนัก Job Coach เป็นกลไกความร่วมมือ

กระทรวงแรงงาน จับมือ Workability Thailand แถลงผลสำรวจสถานการณ์การมีงานทำคนพิการในประเทศ ซึ่งสะท้อนเสียงนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนในการบูรณาการความร่วมมือยกระดับมาตรฐานแรงงานคนพิการไทย

โครงการสำรวจสถานการณ์และทิศทางการปรับกลยุทธ์การจ้างงานคนพิการปี 2561 (Workability Thailand Survey 2018) เป็นปีแรกที่ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ Workability Thailand ในฐานะองค์กรระดับประเทศที่ทำการเชื่อมโยงบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและเอเชีย

ด้วยเล็งเห็นความสำคัญถึงการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ/ภาคเอกชนในฐานะนายจ้าง จึงได้ดำเนินการสำรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และเข้าถึงความต้องการที่แท้จริง ปัญหาอุปสรรค และทิศทางการปรับตัว ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญแก่ภาครัฐในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม การได้ข้อมูลเชิงลึก ทิศทางแนวปฏิบัติและสถานการณ์จริง ที่ทุกหน่วยงานสามารถนำมาทบทวนสู่การปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับความต้องการตามบริบทองค์กรและความเหมาะสมในปัจจุบัน

แม้ว่าประเทศไทยขับเคลื่อนกฎหมายกำหนดอัตราขั้นต่ำในการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการในอัตราร้อยละ 1 (PWDs Employment Quota System) มาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งห้วงเวลากว่า 6 ปีนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบาย ระบบโครงสร้าง หน่วยงาน โมเดลความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน คนพิการ ขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างแรงงานเข้าระบบตามโควต้ากว่า 70,000 อัตรา ทั้งรูปแบบการจ้างงานในสถานประกอบการ สนับสนุนการทำงานในชุมชน สัมปทาน และการช่วยเหลืออื่นๆ โครงการความร่วมมือรัฐ-เอกชน-สังคมหลากหลายได้เกิดขึ้น อาทิ “สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา” ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล “ประชารัฐ” ที่เน้นบูรณาการพลังร่วมจากทุกภาคส่วนและสนับสนุนการจ้างงานและการส่งเสริมอาชีพคนพิการมิติใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาช่องว่างระหว่างอุปสงค์-อุปทานของตลาดแรงงานคนพิการ

ศักสกล จินดาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน และ สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ เลขาธิการ Workability Thailand ร่วมแถลงผลสำรวจนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ระบุว่าโดยภาพรวมมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยมิติตัวเลขการจ้างงานพบว่าเกิดการจ้างงานในทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยรูปแบบการจ่ายเงินเข้ากองทุน (ม.34) ลดลงถึง 13% และมีการขยายผลสู่การจ้างงานตามม.33 เพิ่มขึ้นถึง 17% โดยพบว่าปัจจัยทางกฏหมาย/นโยบายมีระดับความพร้อมที่ดีขึ้นมาก แต่สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนของการเข้าถึงและการรายงานผลการใช้งบประมาณกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ในมิติความพร้อมของสถานประกอบการ พบว่าความพร้อมการเปิดรับในระดับนโยบายองค์กรในระดับสูง ยังขาดความชัดเจนในรูปแบบ/ทิศทางที่เหมาะสมตามบริบทขององค์กร ส่วนมิติความพร้อมของคนพิการ เอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าคนพิการมีความสามารถในการดำรงชีวิตและมีความพร้อมในการทำงานในระดับที่ดีขึ้น ในมิติปัญหาอุปสรรค พบเสียงสะท้อนจากการขาดศูนย์ประสานให้ข้อมูลการเชื่อมโยง และข้อท้าทายจากการสร้างความร่วมมือภาคส่วนคนพิการ ซึ่งสอดคล้องกับการสะท้อนถึงมุมมองระดับความเชื่อมั่นต่อความโปร่งใสของหน่วยงานสนับสนุน (สมาคม องค์กรคนพิการ) และปัญหาการเข้าถึงข้อมูลคนพิการเป็นสาเหตุสำคัญ

ขณะที่ทิศทางโมเดลของนายจ้าง พบมีความต้องการรูปแบบการจ้างงาน (75%) และการซื้อสินค้า (15%) ตามลำดับ โดยตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการมากคือ งานธุรการ/สนับสนุนทั่วไป โดยต้องการความพิการประเภทเคลื่อนไหว (56%) เป็นอันดับแรก ทางการได้ยิน/สื่อความ (35%) และทางการมองเห็น (16%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ นายจ้างยังมีข้อเสนอต่อกลยุทธ์ในระดับนโยบายที่มุ่งเน้นการสื่อสาร จัดตั้งศูนย์ประสานเชื่อมโยง ตลอดจนการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานคนพิการ และมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสมในระดับประเทศ ส่วนกลยุทธ์ภายในองค์กร พบว่า นายจ้างมุ่งทิศทางในการบูรณาการเรื่องคนพิการเข้าสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจ (Value Chain) เป็นอันดับแรก โดยพบรูปแบบการส่งเสริมการมีงานทำคนพิการหลากหลายตามโมเดลธุรกิจ เช่น การจัดตั้งโมเดลธุรกิจแฟรนส์ไชส์ ร้านกาแฟ TRUE แก่กลุ่มเด็กออทิสติก การจ้างผลิตของขวัญลูกค้าประกันภัยของบริษัทอลิอันซ์ อยุธยา การบริจาคขยะคอมพิวเตอร์ของบริษัท SMC แก่คนพิการเพื่อนำไปทำธุรกิจคัดแยกรีไซเคิล เป็นต้น ถัดไปนายจ้างเห็นว่าควรกำหนดเป็น KPI ในระดับองค์กรเพื่อส่งเสริมการบูรณาการ ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือรายกลุ่ม

จากทิศทางดังกล่าว กระทรวงแรงงานเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพแรงงานคนพิการ ควบคู่กับการส่งเสริมยกระดับงานที่มีคุณค่า (High Value Job) โดยกระทรวงได้ดำเนินโครงการศึกษาและเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งกลไกการแนะแนวและพัฒนาศักยภาพการทำงานของคนพิการในประเทศไทย (Job Coach Thailand Center) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการระบบสนับสนุนการมีงานทำของคนพิการของประเทศ ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และการส่งเสริมความร่วมมือกับนายจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติโดยริเริ่มส่งเสริมนัก Job Coach ขึ้นในปีนี้ พร้อมทั้งการสร้างชุดองค์ความรู้ดังกล่าวแก่นายจ้าง ภาคส่วนองค์กรคนพิการทั่วประเทศให้สามารถวิเคราะห์ สร้างสรรค์และออกแบบงานที่เหมาะสมแก่นายจ้างและคนพิการ โดยคาดหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญในการแนะแนวและสอนงานคนพิการ (Job Coach Practitioner) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนายจ้างและคนพิการต่อไป

ขอบคุณ… https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000010920

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *