เศรษฐีในโลกมืด “พอลร์ ผู้พิชิตไพร”

https://www.facebook.com/ThaiChamber/videos/2329252794033923/

 

หนุ่มปกาเกอะญอ ผู้พิการทางสายตา วัย 40 ปี ยึดมั่นเศรษฐกิจพอเพียง ต่อสู้อุปสรรคมากมาย จนสามารถตั้งโรงงานผลิตเนยถั่ว ส่งผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างโมเดิร์นเทรด ติดตามการต่อสู้ชีวิต ปลุกปั้นโรงงานเนยถั่ว เพื่อเด็กด้อยโอกาส ของหนุ่มชาวเขาคนนี้ “พอลร์ ผู้พิชิตไพร”

 

พอลร์ เล่าว่าเมื่อปี 2544 เริ่มป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ดวงตาบอดสนิท จึงตัดสินใจลาออกจากการเรียน กลับมาอยู่บ้านที่ตำบลสบเปิง จังหวัดเชียงใหม่ และเก็บตัวอยู่แต่ในห้องนานกว่า 2 ปี เพราะทำใจไม่ได้ แต่พ่อได้เตือนสติว่า “คนเราถ้าจะอยู่ ก็ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์” ทำให้มีสติและคิดได้ว่าความมืดบอดไม่ใช่อุปสรรคที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าอีกต่อไป

 

• ชีวิตใหม่ท่ามกลางโลกมืด

พอลร์ หันมาดูแลช่วยเหลือตัวเองและเรียนจนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และเกิดความคิดว่า เด็กชาวเขาในมูลนิธิฯ ยังต้องการโอกาสในสังคม ยังรอคอยทุนการศึกษาเพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น จึงได้เริ่มอาชีพจากการผลิตเนยถั่ว โดยเรียนรู้ด้วยตัวเอง เริ่มคิดค้นสูตรและวิธีการทำ ลองผิดลองถูก และให้เพื่อนต่างชาติ ช่วยชิมช่วยติ ปรับปรุงจนได้รสชาติลงตัว พร้อมสร้างโรงงานขนาดเล็กภายในบ้าน มีผู้ช่วยหนึ่งคนเป็นเสมือนดวงตาให้ยามที่เครื่องจักรเสีย พอลร์ต้องใช้มือคลำนอตทีละตัว เรียนรู้ว่าอยู่ตำแหน่งไหนอย่างไร

การผลิตเนยถั่ว ใช้ถั่วลิสงเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งรับซื้อจากชุมชน โดยรวบรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 45 ราย และช่วยผลิตสินค้า จนก้าวสู่ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน ต่อมา ได้พัฒนาโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิต จนกลายเป็นโรงงานที่ทันสมัย ลงทุนหลักล้าน มีพนักงานประจำ 40 คน สินค้าภายใต้แบรนด์ “Paul Food” วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต จับตลาดกลุ่มผู้รักสุขภาพ ผลิตและจำหน่าย เนยถั่ว น้ำมันงาดำสกัดเย็น และอื่น ๆ อีกมากมาย สร้างยอดขายหลักล้านต่อปี
กระทั่งปี 2562 ได้มีโอกาสร่วมงานกับ เทสโก้ โลตัส เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีมาตรฐานตามที่เทสโก้ โลตัส กำหนด เจ้าตัวบอกว่า แม้จะยากแต่มองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะพัฒนาธุรกิจเล็กให้เติบโต จนวันนี้โรงงานสามารถผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ เทสโก้ โลตัส ประมาณ 30,000 ขวดต่อปี

 

• แนวคิด 1 ชุมชน 1 โรงงาน

คุณพอลร์ กล่าวว่า “ผมไม่คิดเลยว่าจะมาไกลขนาดนี้ ไกลกว่าที่คิดไว้มาก ยอมรับว่าตอนเข้ามาทำธุรกิจใหม่ ๆ ท้อมาก บางเดือนเงินติดลบ โรงงานเริ่มจากคนเพียง 1 คน จนมาเป็นกลุ่มแม่บ้านอายุ 50-60 ปีที่มาทำงานหลังช่วงทำนา ล้มลุกคลุกคลาน จนวันนี้เราได้ผลิตสินค้าไปวางขายในห้างใหญ่ มีสาขาทั่วประเทศผมจึงเสนอแนวคิด 1 ชุมชน 1 โรงงาน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน”

นอกจากช่วยสร้างอาชีพให้คนในชุมชนแล้ว รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย พอลร์ได้มอบให้มูลนิธิการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและฝึกอาชีพให้เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาตามความถนัดของตนเอง เป็นการคืนกำไรกลับสู่ชุมชนนั่นเอง

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.facebook.com/pg/ThaiChamber/posts/?ref=page_internal

และ  https://www.sentangsedtee.com/food-recipes-for-job/article_103385

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *