คุณยายใจสู้ ดูแลหลานสาวพิการ หวังขอดูแลจนตายจาก

กัดฟันสู้ดูแล'หลานสาวพิการ' วิบากกรรม'ยาย'ใจทรหด

 

วิบากกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของ “ยายลัดดา” ที่ต้องกัดฟันสู้ดูแล “หลานสาวพิการ” แม้นเคยคิดจะส่งให้สถานสงเคราะห์ แต่พอเห็นหน้าหลานแล้วน้ำตาไหล เปลี่ยนใจขอดูแลจนตายจาก

 

อัลแบร์ กามูส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยให้ปรัชญาชีวิตไว้ว่า “ไม่ว่าปัญหาในอดีตจะแก้ไขได้หรือไม่ เราต้องดำรงชีวิตอย่างมีความหมายต่อไป” จึงอยากให้คุณทุกคนมองตัวเราเองที่อยู่ในปัจจุบันแล้วดำรงชีวิตให้มีอนาคตต่อไป

 

ไม่ต่างจาก 2 ชีวิต ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 67/1 หมู่ 2 ต.บางมัญ อ.เมืองสิงห์บุรี ชีวิตหนึ่งคือเด็กสาววัยรุ่นอายุ 19 ปี ที่ควรจะได้โลดแล่นตามหาความฝันกับโลกกว้าง ส่วนอีกชีวิตคือคุณยายวัย 63 ปี ที่ก็ควรจะได้พักผ่อนหย่อนใจตามประสาคนชรา แต่พวกเขาทั้งคู่กลับต้องมาผจญวิบากกรรมชีวิตด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ทุกๆวัน คุณยายลัดดา เพ็ชวัฒน์ ต้องคอยป้อนข้าว ป้อนน้ำ ป้อนยา อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ผลัดผ้าอ้อมสำเร็จรูปและหากับข้าวกับปลา เฝ้าดูแล น้องน้ำผึ้ง กลิ่นประยงค์ หลานสาวที่พิการหลายอย่าง พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย พิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางสติปัญญา เดินไม่ได้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ท่ามกลางหยดน้ำตาที่หลั่งรินจากเบ้าตาคุณยาย ทุกครั้งเมื่อมองหน้าหลานสาว

 

ความพิการของ น้องน้ำผึ้ง นั้นไม่ใช่เพิ่งมาเป็นแต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์ตอนวัยเพียง 2 ขวบเท่านั้น น้องเล่นซุกซนจนพลัดตกบันไดบ้านลงมาจนถึงพื้นล่าง แม้ความสูงจะไม่มากเพราะเป็นบ้านสองชั้นมีความสูงประมาณ 2 เมตร แต่ด้วยความเป็นเด็กน้อยทำให้ความสูงแค่นี้ก็ทำให้บาดเจ็บหนักได้แล้ว ผลพวงคือเกิดอาการชักเกร็ง กระทั่งกลายเป็นความพิการตั้งแต่นั้นมา

 

ขณะที่ความรันทดก็เหมือนกลั่นแกล้งกัน เนื่องจากยังคืบคลานเข้ามาหาไม่หยุด พ่อน้องน้ำผึ้งเสียไปตั้งแต่น้องยังเล็ก ส่วนแม่นั้นก็ต้องไปรับโทษอยู่ในทันฑสถานนานหลายปี ทำให้หน้าที่ดูแลน้องน้ำผึ้งต้องจบลงเพียงเท่านั้น

 

ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับคุณยายลัดดา ผู้ซึ่งเป็นเสมือนหัวหน้าครอบครัวไปโดยปริยาย นอกจากต้องคอยดูแลน้องน้ำผึ้งแล้ว ยังต้องดูแลหลานเล็กๆอีก 2 คน ที่ลูกสาวอีกคนเอามาให้เลี้ยง ไม่นับรวมถึงสามีของคุณยายที่แก่ชรากว่าจนทำอะไรแทบไม่ไหวแล้ว

 

คุณยายลัดดา เล่าด้วยแววตาที่เหม่อลอยว่า “ทุกๆเช้ายายต้องไปส่งหลาน 2 คน ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน พอกลับมาก็รีบหาข้าวหาปลามาให้สามี ก่อนจะไปป้อนข้าวป้อนน้ำและอาบน้ำให้น้องน้ำผึ้ง ยายแก่มากแล้วทำงานหนักมาทั้งชีวิตจะขึ้นลงบันไดแต่ละครั้งแสนจะทรมาน มันปวดเมื่อยไปทั้งตัว ไม่ต้องถามว่าท้อหรือไม่ เพราะมันท้อแท้ตลอด เคยคิดว่าจะส่งหลานไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์เพื่อให้เจ้าหน้าที่เขาดูแล เพราะเขาต้องดูแลดีกว่าเราแน่ แต่พอมองหน้าหลานสาวก็รู้สึกสงสาร น้ำตามันไหลมาเอง เราเลี้ยงดูแลมาขนาดนี้แล้ว ขอสู้เลี้ยงดูจนกว่าจะตายจากกันไปเลยดีกว่า”

 

ยังมีคำยืนยันเรื่องความรักยายหลานคู่นี้จากปากของ คุณครูระพีพร บุญรอด วัย 31 ปี ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง เล่าว่า ตอนที่แม่น้องน้ำผึ้งยังไม่ต้องรับโทษ แม่เขาดูแลลูกดีมาก แต่พอไม่อยู่ก็เป็นหน้าที่ยายที่ต้องดูแลแทนและแกก็ดูแลได้ดีมากๆ ยังคิดว่าถ้าเป็นเราคงทำไม่ได้ขนาดนี้ ไปรับไปส่งหลาน 2 คน ที่โรงเรียน ดูแลหลานสาวพิการ และยังมีสามีที่ทำอะไรไม่ได้อีก ชีวิตคุณยายยากลำบากเหลือเกิน แต่แกไม่ยอมแพ้และไม่เคยบ่นให้ฟังเลยแม้แต่ครั้งเดียว เราช่วยได้แต่เอาข้าวกับอาหารไปแบ่งปัน

 

คุณยายเลือดนักสู้ ทิ้งท้ายด้วยความหวังว่า ยายไม่มีงานทำเนื่องจากต้องดูแลครอบครัว มีเพียงเบี้ยยังชีพของน้องน้ำผึ้งและสวัสดิการบัตรประชารัฐเท่านั้น ได้มาก็เอาไปซื้อของใช้ดำรงชีวิต รวมถึงผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่จำเป็นที่สุดสำหรับหลานสาว เพราะต้องใช้วันละ 2 แผ่น จึงอยากวิงวอนขอร้องผู้ที่มีจิตศรัทธาและจิตกุศล ไม่ต้องถึงขนาดเอาเงินเอาทองมาให้หรอก ขอแค่ช่วยบริจาคผ้าอ้อมสำเร็จรูปมาให้ก็พอ อย่างน้อยยังสร้างความหวังให้กับยายเพื่อสู้ชีวิตและเผชิญความยากลำบากนี้ต่อไปได้ ขอบคุณนะลูกหลานเอ้ย

 

หากผู้ใจบุญท่านใดอ่านคอลัมน์แล้วต้องการจะช่วยเหลือแบ่งปันน้ำใจให้คนที่สู้ชีวิตอย่างคุณยายลัดดา สามารถสอบถามการบริจาคผ้าอ้อมสำเร็จรูปได้ที่ คุณครูระพีพร โทร.093-046-4906 หรือจะโทรฯสายตรงได้ที่เบอร์คุณยาย 096-750-6590

 

 

ขอขอบคุณ DailyNews

และ  http://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0066&postid=0020798&currentpage=1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *