เรื่องเล่าดีดี…จากแดนไกล 🛫🗽

ในภาพอาจจะมี สุนัข

 

ความน่ารักของคุณแม่และเด็กน้อยกับความสนใจที่มีให้แด่พี่ทรายและลูเต้อร์ (สุนัขนำทาง)🐶 การเพียรพยายามตอบคำถามให้แก่เด็กโดยไม่แสดงออกถึงความเบื่อหน่าย การมุ่งปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกที่พึงมีต่อคนที่มีความแตกต่างและความหลากหลายทางกายภาพ เป็นสิ่งสำคัญมากในสังคมปัจจุบัน 💖💖

 

อาทิตย์ที่แล้ว ทรายเดินทางไปเมืองบัลติมอร์เพื่อไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เช้าวันสัมภาษณ์ ทรายนั่งกินข้าวเช้าอยู่ที่ห้องอาหารของโรงแรม โดยมีลูเต้อร์นั่งอยู่บนพื้นข้างๆ ที่โต๊ะใกล้ๆ มีแม่กับเด็กน้อยคนหนึ่งนั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน
พอเด็กน้อยเห็นลูเตอร์ เขาก็ร้องเสียงดังด้วยความตื่นเต้น

 

เด็ก: แม่ หมา!
แม่ :ใช่จ้ะลูก นั่นเขาเป็นหมานำทาง
เด็ก: หมานำทางคืออะไร?
แม่: เขาช่วยพี่ผู้หญิงคนนั้นเดินทางไงจ้ะ
เด็ก: เขาช่วยยังไง?
แม่: พี่เขาสายตาไม่ดี เจ้าหมาเขาก็เลยทำหน้าที่เหมือนเป็นดวงตาให้พี่เขาไงจ้ะ
เด็ก: ทำไมพี่เขาสายตาไม่ดี?
แม่: แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันจ้ะ แต่คนบางคนก็ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนเรา อาจจะเพราะดวงตาเขาไม่ทำงาน
เด็ก: หมาเขาเลยช่วยพี่เขาใช่ไหม?
แม่: ใช่จ้ะ
เด็ก: เขาช่วยยังไง?
แม่: (อธิบายอีกรอบ)
เด็ก: อย่างนั้นเจ้าลูซี่ของเราจะเป็นหมานำทางได้ไหม?
แม่: (หัวเราะ) คงไม่ได้หรอกจ้ะ
เด็ก: ทำไมล่ะ?
แม่: หมานำทางต้องมีคุณสมบัติที่พิเศษมากๆ เช่นต้องมีระเบียบวินัยสูง เจ้าลูซี่ยังนั่งนิ่งๆไม่ได้เลย
เด็ก: แสดงว่าเจ้าหมาตัวนี้ต้องเป็นหมาที่พิเศษมากๆเลยใช่ไหม?
แม่: ใช่จ้ะ

 

เด็กน้อยมีความสนใจลูเต้อร์มากและยังถามคำถามแม่เขาต่อไปอีกพักใหญ่ จนถึงจุดหนึ่งคุณแม่คนนั้นยังหันมากล่าวขอโทษทรายด้วยความเกรงใจ แต่ทรายก็บอกเขาว่าไม่เป็นไร และทรายดีใจที่เขาพยายามอธิบายให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับสุนัขนำทาง

.
เรื่องนี้ที่นำมาเล่า เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องราวที่ทรายคิดว่าน่ารักแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทรายอยากเห็นเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้พิการในสังคม

โดยปรกติ เมื่อเด็กเห็นคนพิการที่ดูแตกต่างจากคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดที่ใช้ไม้เท้า หรือผู้พิการที่ใช้รถเข็น เขาก็มักมีข้อสงสัยและหันไปถามคำถามกับผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่เขาอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในประสบการณ์ของทราย หลายๆครั้ง ผู้ใหญ่มักทำท่าทีอึดอัด และพยายามให้เด็กหยุดถามคำถามเหล่านั้น เพราะอาจจะกลัวว่าเป็นการเสียมารยาทหรือดูไม่เหมาะสม
ความจริงก็คือ ทรายคิดว่าโอกาสเหล่านั้นเป็นโอกาสดีเยี่ยมที่จะอธิบายให้เด็กๆได้เข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับคนพิการ หากไม่มีผู้ใหญ่คนไหนที่จะยอมอธิบายให้เด็กฟังเกี่ยวกับความพิการและความหลากหลายทางกายภาพ เด็กเหล่านั้นก็จะเติบโตขึ้นโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้เลย

.
นอกจากนั้น เมื่อผู้ใหญ่มีปฏิกิริยาทางลบต่อหัวข้อและคำถามเกี่ยวกับคนพิการ เช่นมีท่าทางอึดอัด หรือบอกให้เด็กหยุดพูด สิ่งที่เขาสื่อต่อเด็กคนนั้นคือความรู้สึกว่าความพิการเป็นสิ่งไม่ดีและน่าอับอาย ซึ่งคือทัศนะคติที่ทรายอยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
หากคุณเป็นผู้ปกครอง คุณอาจจะมีคำถามเช่นว่า แล้วคุณควรจะทำอย่างไรหากคุณเองก็ไม่มีความรู้หรือคำตอบสำหรับคำถามเหล่านั้น? คำตอบก็คือ มีหลายอย่างที่คุณสามารถทำได้

1. ตอบเด็กไปตามตรงว่าคุณไม่รู้ แต่สัญญาว่าจะไปหาคำตอบมาให้ แล้วลองไปถามลุงกูร์ดู
2. ตอบเด็กไปตามตรงว่าคุณไม่รู้ แต่ให้เป็นการบ้านหรือ challenge ให้เขาไปค้นคว้าคำตอบแล้วนำมาแบ่งปันกันกับคุณ
3. แนะให้เด็กลองเข้าไปถามคำถามนั้นกับผู้พิการคนนั้น แล้วเดินเข้าไปหาเขาด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้ว หากเรารู้ว่าคำถามของคุณมาจากความอยากเข้าใจและเรียนรู้ ผู้พิการก็มักยินดีที่จะตอบคำถามและอธิบายข้อสงสัยต่างๆ

.
ทรายหวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากโพสนี้ เพราะถึงแม้คุณอาจจะไม่ใช่พ่อหรือแม่ คุณก็อาจเป็นพี่ ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย ของเด็กคนใดคนหนึ่ง และอาจมีโอกาสในอนาคตที่จะทำให้เด็กคนนั้นเห็นว่าความพิการไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือน่าอับอาย แต่เป็นความแตกต่างและความหลากหลายทางกายภาพเท่านั้น

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.facebook.com/guidedogluther/posts/1070356126672872?__tn__=K-R

และ  กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *