รู้หรือไม่…ในชีวิตประจำวันของคนพิการ ยังมีหลายสิทธิพื้นฐานที่คุณอาจจะไม่รู้

รู้หรือเปล่าว่า ในชีวิตประจำวันของคนพิการ ยังมีหลายสิทธิพื้นฐานที่คุณอาจจะไม่รู้

HIGHLIGHTS

  • คนพิการไม่มีผู้ดูแล สามารถร้องขอ “ผู้ช่วยคนพิการ” ต่อศูนย์บริการคนพิการได้
  • คนพิการที่พบว่าตัวเองไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่งนั้น สามารถร้องเรียนได้
  • คนพิการสามารถจะยืมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถ และศักยภาพที่จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสาร เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องช่วยฟัง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ (เครื่องมือหรืออุปกรณ์) ได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือที่สำนักงานสถิติจังหวัด หรือติดต่อผ่านสมาคมคนพิการ

ที่ผ่านมา คนพิการทราบว่าตนเองมีสิทธิ์จากหลายกองทุน แต่ก่อนที่เราจะไปทราบสิทธิ์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องการมีสิทธิ์ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนด้านอาชีพ ที่จะกล่าวในครั้งต่อไปนั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และซับซ้อน แต่ถ้าหากคนพิการและญาติผู้ดูแลทราบแล้ว ชีวิตครอบครัวอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้

ดังนั้น ในตอนนี้จึงขอเก็บตกสิทธิ์อื่นๆ ที่ควรทราบ โดยขอแนะนำเพิ่มเติมแตกต่างจากที่เคยกล่าวมา ดังนี้

  1. อ้างอิงตามประกาศสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2557 เรื่องอัตราค่าตอบแทนแก่ผู้ช่วยคนพิการ และรายการค่าตอบแทนอื่นที่จัดให้มีบริการผู้ช่วยคนพิการ (ฉบับที่ 2) กรณีการมี “ผู้ช่วยคนพิการ” โดยพิจารณาจากการที่คนพิการไม่มีผู้ดูแล สามารถร้องขอต่อศูนย์บริการคนพิการได้

โดยผู้ช่วยคนพิการจะได้รับค่าตอบแทนจากรัฐ สามารถให้ดูแลคนพิการได้วันละไม่เกิน 6 ชั่วโมง หรือเดือนละไม่เกิน 180 ชั่วโมง ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 50 บาท หรือ 300 บาทต่อวัน สามารถร้องขอได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี

  1. สำหรับคนพิการทางการได้ยิน สามารถขอบริการล่ามภาษามือตามระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ 2552 และแก้ไขเพิ่มวเติม (ฉบับที่ 2) 2554 โดยสามารถขอใช้บริการล่ามภาษามือในเรื่อง การแพทย์และสาธารณสุข การสมัครงานหรือประสานงานด้านอาชีพ การร้องทุกข์กล่าวโทษหรือเป็นพยาน (ชั้นสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น) การร่วมประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม การเป็นผู้บรรยาย โดยเบื้องต้นสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดหรือชมรม-สมาคมของคนพิการทางการได้ยินประจำจังหวัด
  2. หากผู้ดูแลคนพิการมีการยื่นภาษีบุคคลสามารถนำสิทธิ์ในการเป็นผู้ดูแลคนพิการไปหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาทและหากคนพิการ (อายุไม่เกิน 65 ปี) เป็นผู้ยื่นภาษีเงินได้เอง สามารถหักลดหย่อนในส่วนของตนเองไม่เกิน 190,000 บาท
  3. กรณีนายจ้างมีการจ้างคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือไม่ก็ตาม ค่าจ้างหรือเงินเดือนที่มีการยื่นประกันสังคมสามารถนำค่าจ้างหรือเงินเดือนของคนพิการไปหักลดหย่อนภาษีได้อีก 1 เท่าในปีที่ยื่นภาษีนั้น ซึ่งจะทำให้นายจ้างและนายคนพิการได้ประโยชน์ร่วมกันในการได้รับการส่งเสริมอาชีพ
  4. ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมาย และการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ กำหนดให้คนพิการได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายได้แก่ การให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมาย การให้ความรู้ทางกฎหมาย การจัดธรรมนิติกรรมสัญญา การไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความ การจัดหาทนายความ และการให้ความช่วยเหลืออื่นในทางคดีต่างๆได้แก่ คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง คดีแรงงาน และคดีทรัพย์สินทางปัญญา

โดยภาครัฐจะดูแล ค่าธรรมเนียม และค่าฤชาธรรมเนียม ค่าวิชาชีพทนายความ เงินประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าเดินทางของทนาย ค่าถ่ายเอกสารประกอบสำนวนคดี ค่าธรรมเนียมการโอนหรือค่าใช้จ่ายอื่น ค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจอนุมัติพิจารณา

  1. สำหรับในเรื่องของการที่มีกฎหมายกำหนดให้อาคารสถานที่บริการสาธารณะต่างๆ คนพิการต้องเข้าถึงซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกของการเข้าใช้สถานที่ และบริการนั้นตามประกาศกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า อาจจะยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นอีกสิทธิ์พื้นฐานที่ถ้าหากคนพิการพบว่า ไม่สามารถเข้าถึงได้ก็สามารถร้องเรียนได้
  2. สำหรับการเดินทางคมนาคมนอกจากบริการด้านการคมนาคมพื้นฐาน เช่น รถไฟ รถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน คนพิการจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้ว กรณีการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศของการบินไทย จะได้รับส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์แต่จะได้รับบริการพิเศษ การสำรองที่นั่ง การอำนวยความสะดวกผ่านช่องทางพิเศษ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
  3. ทางด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ ตาม พรบ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ 2551 คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี (ตลอดชีวิต) โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในระดับพื้นฐาน มีระบบการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการตามโรงเรียน และยังสามารถร้องขอให้มีการจัดการศึกษาพิเศษที่บ้านของคนพิการได้

สำหรับระดับอุดมศึกษานั้น จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ เช่น ภาควิชาหรือคณะที่ศึกษาต้องสอดคล้องกับลักษณะหรือรูปแบบของความพิการ สามารถสอบถามรายละเอียดก่อนการเข้าศึกษาทุกมหาวิทยาลัยของรัฐ

ทั้งนี้ตามสภาพความเป็นจริงอาจจะต้องขึ้นกับหลักเกณฑ์พื้นฐานของการรับเข้าศึกษาต่อด้วย อีกทั้งในแต่ละคณะที่ศึกษาอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของแต่ละสถานศึกษา (กรณีสถานศึกษาเอกชน คนพิการอาจต้องออกค่าใช้จ่ายเองก่อนแล้วทำเรื่องเบิกเงินคืนตามหลัง) ข่าวดีในส่วนนี้อาจมีการยกระดับ สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ ขึ้นเป็นระดับกรม ในอนาคตตามแผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560-2564

  1. จากนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี จึงประกาศกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและการสื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร สำหรับคนพิการ 2554 ทำให้คนพิการสามารถจะยืมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถ และศักยภาพที่จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสารเช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องช่วยฟัง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ (เครื่องมือหรืออุปกรณ์) ได้โดยติดต่อที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับต่างจังหวัดให้เขียนคำร้องที่สำนักงานสถิติจังหวัด หรือติดต่อผ่านสมาคมคนพิการที่คนพิการสังกัดอยู่

สังเกตได้ว่าสำหรับบทความตอนนี้ ในทางปฏิบัติสำหรับคนพิการอาจจะค่อนข้างยากสักหน่อย เช่น คนพิการอยากศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งสวัสดิการรัฐไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มเดินทางออกจากบ้าน พบว่า จากหน้าบ้านถึงป้ายรถเมล์ จากป้ายรถเมล์ไปขึ้นรถไฟฟ้า เส้นทางคมนาคมกว่าจะถึงบริการขนส่งสาธารณะอาจไม่เอื้ออำนวยเพราะสิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศไทยยังไม่เชื่อมต่อถึงกันได้ในทางปฏิบัติ ยกเวนว่าคนพิการจะใช้บริการพิเศษ เช่น รถแท็กซี่ หรือ บริการเดินรถแท็กซี่สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ

  1. ทางกรุงเทพมหานคร ได้จัดให้มีการเดินรถแท็กซี่สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุบริหารจัดการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (หน่วยงานวิสาหกิจกรุงเทพมหานคร) ให้บริการกลุ่มเป้าหมายหลักไปโรงพยาบาล ไปติดต่อสถานที่ราชการ และไปทำธุระส่วนตัวที่มุ่งหน้าไปใช้บริการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ติดต่อสอบถาม 02-294-6524 ทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. และรถให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. พื้นที่ให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แม้ว่าตลอดการไปเรียนของคนพิการนั้น จะได้รับอุปกรณ์สำหรับการศึกษา ที่สอดคล้องกับความพิการที่เป็นจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้วก็ตาม แต่อุปสรรคสำคัญคือ เจตคติของคนในสังคมต่างหากที่เป็นกำแพงหนาทึบ สูงชันสำหรับคนพิการอยู่

ผู้เขียนขอเล่าประสบการณ์จริงของคนพิการที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งหนึ่งในภาคอีสาน น้องคนพิการไม่สามารถเรียนต่อขึ้นปีที่ 3 ได้ เนื่องจากวิชาเรียนในชั้นปี 3 อยู่ชั้นที่ 2 ขึ้นไปถึงชั้น 4 ของอาคารเรียน ซึ่งไม่มีลิฟต์ คำตอบที่ได้จากมหาวิทยาลัย คือ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงห้องเรียนได้ เมื่อผู้เรียนเป็นเพียงคนพิการเพียง 1 คน เปรียบเทียบกับนักศึกษาทั้งหมดในชั้นเรียน ในที่สุดน้องคนพิการรายนี้จึงต้องหยุดเรียนเพียงปี 2 และออกมาหางานทำ

ผู้เขียนรู้สึกพอใจกับกฎหมาย พระราชบัญญัติ ระเบียบ และประกาศ คำสั่งต่างๆ จากทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ถูกบังคับใช้สำหรับคนพิการ จากคำกล่าวของ อาจารย์มณเฑียร บุญตัน ว่า

“กฎหมายสำหรับคนพิการในประเทศไทยเปรียบดั่งต้นไม้ที่มีผลสุกงอมแล้ว แต่ผลไม้เหล่านั้นกลับร่วงลงพื้นดิน คนพิการไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์ของกฎหมาย คนพิการจึงไม่ได้กินผลไม้ที่สุกงอมเหล่านั้น” 

ผู้เขียนเรียบเรียงเท่าที่พอจำได้ เพราะเคยได้ฟังท่านกล่าวในงานหนึ่งที่สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ทำให้ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้คนพิการรู้กฎหมายฉบับต่างๆ ซึ่งจะส่งผลถึงการเข้าถึงสิทธิต่างๆ สำหรับคนพิการที่มีมากมาย ตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สิทธิคนพิการ กว่าจะได้ ต้องศึกษาเรียนรู้ ต้องเดินทางไปเขียนคำร้อง ต้องใช้ความอดทนพยายาม ต้องใช้ทรัพย์สินส่วนตัว ผู้เขียนขออย่างเดียวนะครับ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ของหน่วยงานราชการต่างๆ เมื่อคนพิการไปติดต่อขอใช้บริการจากท่าน ขอให้นึกว่าเป็นญาติของท่าน อย่าทำอย่างที่ผู้เขียนเคยเห็นมากับตา ท่านเจ้าหน้าที่รัฐไล่คนพิการกลับบ้านไปเอาสำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งๆ ที่ไปติดต่อถึงศาลากลางจังหวัดแล้ว ถ้าท่านอยากได้สำเนาทะเบียนบ้านจริงๆ ท่านไปคัดแทนหรือให้คนพิการไปคัดสำเนาก็ได้ กว่าเขาจะมาหาท่าน ลำบากแสนเข็ญ

อย่าให้คนพิการต้องบ่นในใจว่า “อย่าพิการบ้างก็แล้วกัน” ท่านข้าราชการ

หมายเหตุ : ข้อเขียนชุดนี้ เป็นมุมมองความคิดในเรื่องที่แวดล้อมคนพิการในสังคมไทย จากปลายปากกาของ นักทุพลภาพมืออาชีพตัวจริงอย่าง ปรีดา ลิ้มนนทกุล นักขับเคลื่อนสิทธิเพื่อคนพิการ และความเท่าเทียมกันในสังคม โดยเขาจะมาร่วมแบ่งปันความรู้เรื่องสิทธิ และความเท่าเทียมของผู้พิการ เพื่อสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่การลบความไม่รู้ อคติ ที่มีต่อสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ทุกวันอังคาร กลางเดือน และสิ้นเดือน กับ 12 เรื่องราว 12 มุมมองเกี่ยวกับผู้พิการที่สังคมไทยอาจมองข้าม หรือไม่เคยรู้มาก่อน

 

ขอบคุณ: http://www.judprakai.com/life/553

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *