แนวคิด Universal Design หรือหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์

จะเป็นอย่างไรถ้าเรา ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติอย่างที่เคยเป็น ไม่ว่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างกระทันหันจากที่เคยใช้ขาเดิน จะต้องเปลี่ยนมานั่งรถเข็น จากที่เคยมองเห็นจะต้องใช้ไม้เท้านำทาง กลายเป็นคนทุพลภาพ และเมื่อเราก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด Universal Design หรือหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์

รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เป็นการออกแบบเพื่อคนทุกคน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ ให้สามารถรองรับสำหรับคนทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้เจ็บป่วย หรือผู้ที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันแตกต่างจากบุคคลทั่วไปด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย หัวใจสำคัญของการออกแบบ คือ ความสะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม

อะไรที่ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับ Universal Design?

รศ.ไตรรัตน์ กล่าวว่า มีผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2564 โดยคาดว่าจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศนอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตก หรือหกล้มปีละ 1,000 คน และ 1ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และการสำรวจในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า เพียงร้อยละ 24.6 ของบ้านที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัย โดยมีเพียงร้อยละ 15.2 มีการติดราวในห้องน้ำ และมีราวเกาะในห้องนอนเพียง ร้อยละ 5.8 เท่านั้น และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบพื้นที่เพื่อผู้สูงวัยให้ใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

Universal Design ให้อะไรกับเราบ้าง?  (ข้อมูลจาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร)

1.ประโยชน์สำหรับทุกคนในสังคม

2.การดำเนินชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

3.เสริมสร้างความปลอดภัยและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ

4.ประโยชน์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

5.มีความภาคภูมิใจในความสามารถของตน

6.จิตใจเข้มแข็ง พร้อมเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งปวง

7.จัดระเบียบบ้านเมืองให้มีความเรียบร้อยสวยงาม

8.คนพิการและผู้สูงอายุจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

9.สังคมมีความเสมอภาพเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยก

รศ.ไตรรัตน์ บอกอีกว่า หลักการสร้างเมือง Universal Design ประกอบด้วย 8 ประการ ได้แก่ 1) ที่อยู่อาศัย 2) การเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม 3) การได้รับการยอมรับในสังคม 4) การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและการจ้างงาน 5) การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 6) การสนับสนุนของชุมชนและการบริการด้านสุขภาพ 7) สภาพพื้นที่ภายนอกและตัวอาคาร และ8) ระบบขนส่งมวลชน

จะทำอย่างไร? หากเราอยากออกแบบพื้นที่ชุมชนให้เป็น Universal Design

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) โดยร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ 1.รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมท้องถิ่นและนวัตกรรมใหม่ๆ 2.เป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ ให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ 3.เป็นธนาคารอุปกรณ์ที่รวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและคนทุกคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน

โดยศูนย์จุฬาฯ ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางและศูนย์หลักประจำกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ เบอร์โทร 084-554-9301 หรือ E-mail: chula.udc@gmail.com และ Facebook: ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน Universal Design Center ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก)

เบอร์โทรศัพท์ 084-554-9301 หรือ Email:chula.udc@gmail.com และศูนย์ภูมิภาคอีก 4 แห่ง

– ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาคเหนือ)

เบอร์โทรศัพท์ 087-557-0590 (UD), 081-951-0255 (ทั่วไป) หรือ Email: cmu.udc@gmail.com

– ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน)

เบอร์โทรศัพท์ 098-696-2245 หรือ Email:thammasat.udc@gmail.com

– ศูนย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

เบอร์โทรศัพท์ 098-174- 0078 หรือ Email: msu.udc@gmail.com

-ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ภาคใต้)

เบอร์โทรศัพท์ 075-201-769 หรือ Email: psu.udc@gmail.com​

 

ขอบคุณ:  http://www.thaihealth.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *